“ค่าโง่โฮปเวลล์” คืออะไร? ทำไมถึงมีผลต่อคนไทยหากแพ้คดี

เชื่อว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ข่าวที่คนไทยได้ยินบ่อย ๆ อีกหนึ่งข่าวคือกรณีพิพาทระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ‘กระทรวงคมนาคม’ และ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ กับผู้รับสัมปทาน คือ ‘บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด’ เกี่ยวกับโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ที่เกิดการฟ้องร้องจนเป็นคดียืดเยื้อมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ และมีมูลค่าฟ้องร้องที่สูงถึง 24,000 ล้านบาท ทำให้เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีแนวโน้มที่ทางฟากฝั่งของหน่วยงานรัฐดังกล่าวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนไม่น้อย จนกลายเป็นที่มาของวลีที่แสนคุ้นหูว่า “ค่าโง่โฮปเวลล์”

แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ได้รับข่าวดีว่าทางฝั่งของหน่วยงานภาครัฐทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งได้แก่ ‘กระทรวงคมนาคม’ และ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากข้อพิพาทดังกล่าว เนื่องจากขาดอายุความตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดี คาดว่ายังมีผู้คนบางส่วนที่อาจจะยังไม่ทราบว่าทำไมคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ถึงเป็นที่จับตามองจากภาคประชาชนอยู่เสมอ แม้ว่าระยะเวลาจะผ่านมานานกว่า 30 ปี และในวันนี้ Business+ จะพาทุกท่านไปหาคำตอบของเรื่องนี้

ก่อนอื่นต้องขอเท้าความไปถึงที่มาที่ไปของการฟ้องร้องที่กลายเป็นมหากาพย์นี้กันก่อน โดยย้อนไปในปี พ.ศ. 2532 กระทรวงคมนาคม ซึ่งในขณะนั้นมีนายมนตรี พงษ์พานิช นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้คิดโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (ต่อมาเรียกว่า “โครงการโฮปเวลล์”) ขึ้น จึงได้ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ซึ่งขณะนั้นมีเพียง ‘บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด’ ที่ยื่นเอกสารข้อเสนอเข้ามา ด้วยสัญญาก่อสร้างทางรถไฟยกระดับระยะทางรวมทั้งสิ้น 63.3 กิโลเมตร และนำมาซึ่งการลงนามในสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระหว่าง ‘บริษัทโฮปเวลล์’ กับ ‘กระทรวงคมนาคม’ และ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ ในวันที่ 9 พ.ย. 2533

โดยภายใต้สัญญานี้ ‘โฮปเวลล์’ ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายเอกชน ได้รับสัมปทานในการประกอบกิจการเดินรถไฟบนรางยกระดับ ระบบขนส่งทางถนนยกระดับ และเก็บค่าผ่านทาง และสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ จำนวน 630 ไร่ มูลค่ารวมของโครงการ 80,000 ล้านบาท โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี กำหนดการก่อสร้างใน 5 ช่วงของเส้นทาง สิ้นสุดในปี 2542 ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี

อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นเค้าลางความล่าช้าของโครงการผ่านมติคณะรัฐมนตรี อาทิ ในเดือน พ.ย. 2534 ได้มีมติให้ ‘กระทรวงคมนาคม’ และ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ เจรจากับ ‘โฮปเวลล์’ ในการขอขยายเวลาวันที่สัมปทานมีผลบังคับใช้ ออกไปจนปลายเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน นอกจากนี้ ‘โฮปเวลล์’ ยังเสนอขอเลื่อนเวลาการชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนแก่ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ ออกไป โดยไม่เสียดอกเบี้ย

นอกจากนี้ หนังสือ ‘เมนูคอร์รัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์’ โดย ‘มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ’ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค. 2557 ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ดังนั้น การอนุมัติโครงการจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วและรวบรัด ทั้งที่แผนงานไม่มีความชัดเจน

ต่อมาในปี 2540 เมื่อโครงการเดินหน้าไปกว่า 6 ปี กลับพบว่ามีความคืบหน้าเพียง 13.77% จากแผนงานที่กำหนดไว้ว่าจะคืบหน้า 90% โดยสาเหตุความล่าช้าเกิดจากปัญหาเรื่องเงินทุน แหล่งเงินกู้ หลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญา ส่งผลให้ต่อมาคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย จึงมีมติบอกเลิกสัญญาสัมปทาน ในเดือน ม.ค. 2541 ด้วยเหตุนี้จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก ‘โฮปเวลล์’ ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี ภายหลังการบอกเลิกสัญญากับ ‘โฮปเวลล์’ ทางฝั่งของ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ ถือว่าโครงสร้างทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ และมีความพยายามนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต ทำให้ทาง ‘โฮปเวลล์’ มองว่าเป็นการเข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างเดิม ถือเป็นการยึดหรือเวนคืนระบบหรือพื้นที่สัมปทาน จึงเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาจาก ‘กระทรวงคมนาคม’ และ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ เป็นเงิน 59,000 ล้านบาท

โดยการฟ้องร้องค่าเสียหายจาก ‘โฮปเวลล์’ ภายหลังการบอกเลิกสัญญาจากรัฐบาล ถูกมองว่าเป็นเพราะความหละหลวมของข้อสัญญา ตามข้อสังเกตของทีดีอาร์ไอ และนี่จึงเป็นที่มาของวลี “ค่าโง่โฮปเวลล์”

อย่างไรก็ดี หลังจากคดียืดเยื้อมาอย่างยาวนาน ล่าสุด วันที่ 18 กันยายน 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ ‘กระทรวงคมนาคม’ และ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ ชดใช้ “ค่าโง่โฮปเวลล์” จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ ‘บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด’ หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า ‘โฮปเวลล์’ ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ยังอาจมีบางท่านที่ไม่ทราบว่าหากทางฟากฝั่งของหน่วยงานรัฐบาลทั้ง 2 หน่วยงานต้องชำระ “ค่าโง่โฮปเวลล์” จะส่งผลกระทบอย่างไรกับประชาชน ซึ่งในเรื่องนี้ Business+ มีคำตอบมาให้แล้ว นั่นก็คือ หาก ‘กระทรวงคมนาคม’ และ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ แพ้คดีและต้องชำระค่าเสียหายตามมูลค่าฟ้องร้อง จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในแง่ของการนำเงินจากรัฐบาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากภาษีที่ประชาชนได้จ่ายเข้ารัฐบาลไปในการชำระค่าเสียหายนี้ แทนที่รัฐบาลจะได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง แต่ก็นับเป็นผลกระทบทางอ้อมที่ส่งผลต่อประชาชนไม่มากก็น้อย

นอกจากนี้ หากฝั่งรัฐบาลไทยเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ยังส่งผลต่อประเทศในแง่ของความเชื่อมั่นที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจาก ‘โฮปเวลล์’ เป็นบริษัทเอกชนสัญชาติฮ่องกงและได้ทำโครงการใหญ่ ๆ มาแล้วในหลายประเทศ ดังนั้น จึงไม่แปลกหากนักลงทุนต่างชาติจะเกิดความลังเลในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา : bbc, thairath

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #โฮปเวลล์ #ค่าโง่โฮปเวลล์