Greenovation

‘Greenovation’ คืออะไร? ทำไมหลายองกรค์ถึงให้ความสำคัญ

ปัจจุบันหลายองค์กรชั้นนำมุ่งที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้สอดคล้องไปกับเทรนด์โลกที่ถูกขับเคลื่อนโดยพฤติกรรมของมนุษย์ จากการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม การเห็นถึงผลประโยชน์ส่วนรวมที่มากขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีที่แทบกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต อาทิ ช่วยลดเวลาในการดำเนินงาน อำนวยความสะดวกในด้านการบริการ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้แผนการดำเนินธุรกิจค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยได้มีการนำทุกอย่างเข้ามาผสมผสานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อตัวองค์กร

ทั้งนี้จึงได้ก่อเกิดเป็น ‘นวัตกรรมสีเขียว’ (Greenovation) ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับหลายองค์กร ซึ่ง Greenovation เป็นการนำเทคโนโลยี กลยุทธ์ ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม มาพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ รวมถึงพัฒนาของเดิมให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อจะได้นำไปสู่การลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม ที่หลาย ๆ คนทั่วโลกให้ความสำคัญ ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งให้กับองค์กร

โดยอ้างอิงข้อมูลจาก SDG MOVE ได้แบ่ง Greenovation ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1.นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว (green product innovation) : เกิดจากการรวมแนวคิดการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อปรับปรุงคุณภาพและสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์

2.นวัตกรรมกระบวนการสีเขียว (green process innovation) : มีการมุ่งเน้นไปที่การลดของเสียและการใช้พลังงานในทุกกระบวนการทำงาน ผู้บริโภคจึงอาจไม่ได้รับผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การประหยัดพลังงาน เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทยจะเห็นถึงพลังขับเคลื่อน Greenovation ที่ค่อยเป็นค่อยไปจากองค์กรชั้นนำหลายแห่ง ซึ่งบางองค์กรก็ประกาศออกมาอย่างชัดเจนโดยรวมอยู่ในแผนการดำเนินงาน ซึ่ง ‘Business+’ ได้มีการสำรวจองค์กรที่มีแบบแผนธุรกิจของ Greenovation ดังนี้

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP มีการมุ่งเน้นในเรื่องของ Greenovation ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ โดยเป็นการนำมาผสมผสานในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความแปลกใหม่แต่ยังคงใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม อย่างการนำไบโอฟิล์ม (Biofilm) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตน้ำมันทำให้เกิดการแตกย่อยของผลิตภัณฑ์ เช่น B5 B7 E20 E85 เป็นต้น อีกทั้งยังมีการผลิตน้ำมันเครื่องบินจากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วเพื่อลดการสูญเปล่า นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้ร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้บทบาท Green Development Bank ด้วยกลยุทธ์ ‘Greenovation’ ที่จะสร้าง Green Supply Chain ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Greenomics) โดยจะมีในเรื่องดูแลการปล่อยคาร์บอนขององค์กรและผู้ประกอบการไทย ใน Scope 1-2-3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน และทางอ้อมอื่น ๆ จากการดำเนินงานขององค์กร) เป็นต้น

บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA นับเป็นอีกหนึ่งผู้นำด้าน Greenovation ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออกสู่ตลาด พร้อมสร้าง ความน่าเชื่อถือ และให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลองค์กรอย่างดี ด้วยการบริหารจัดการองค์กรด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ มีการสื่อสาร ระหว่างองค์กร กับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อพิจารณา ความสำคัญและติดตามประเมิณผลในการกำกับดูแลองค์กรอย่างต่อเนื่อง

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) สำหรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่ยืนหยัดด้านสิ่งแวดล้อมของ AIS ถูกวางไว้ใน 2 แกนหลัก คือ 1. ลดผลกระทบผ่านการบริหารจัดการกระบวนการดำเนินธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ 2. ลดและ รีไซเคิลของเสียจากการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมให้คนไทยร่วมกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี จึงได้มีการผสมผสานระหว่าง Green Network & Greenovation สร้างอีโคซิสเตมจัดการ E-Waste ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

จากข้างต้นทั้ง 4 องค์กรที่ถูกยกมาเป็นตัวอย่างนี้ถือเป็นองค์กรชั้นนำระดับประเทศที่มีแบบแผนการดำเนินงานในเรื่องของ Greenovation อย่างชัดเจน โดยพัฒนาทั้งจากภายในองค์กรและภายนอกองค์กร แต่ทั้งนี้ก็ยังมีองค์กรอีกมากที่มีการดำเนินแบบแผนนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งการที่หลายองค์กรมีตื่นตัว หรือ การตระหนักรู้เร็วก็จะยิ่งทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพ ยกระดับธุรกิจ องค์กร ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังถือเป็นคุณลักษณะเด่นที่สามารถดึงดูดการร่วมลงทุนจากนักลงทุนรายอื่น ๆ ได้

.

ที่มา : sdgmov, mgronline, TOA group, gpscgroup, AIS

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/ 

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #Greenovation #นวัตกรรมสีเขียว