GermanyJP

‘เยอรมัน’ จะขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของโลกแทนญี่ปุ่น หลังเงินเยนอ่อนยวบ-เงินเฟ้อพุ่ง!

ในปี 2566 ถึงแม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้มีหลายประเทศที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว แต่กลับมีอยู่ 2 ประเทศที่เผชิญกับวิกฤตเลวร้ายที่สุดในรอบหลาย 10 ปี นั่นคือ ญี่ปุ่น และเยอรมนี ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นประเทศที่มีตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) สูงเป็นอันดับที่ 3 และ 4 ของโลก แต่ความรุนแรงนี้จะเห็นได้ชัดที่สุดกับประเทศญี่ปุ่น จากการที่กำลังจะเสียอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับเยอรมนีที่จะขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของโลกแทน โดยสาเหตุหลักคือ ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อที่รุนแรงว่าเยอรมนี และกลายเป็นสกุลเงินที่มีสถานะแย่ที่สุด

โดย World Economic Outlook (IMF – International Monetary Fund) พบว่า อำนาจทางเศรษฐกิจของเยอรมนีได้ไต่อันดับขึ้นเป็นที่ 3 ของโลก สาเหตุหลักเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นขยายตัวสูงกว่าเยอรมนี ประกอบกับค่าเงินสกุลเยนของญี่ปุ่นได้รับแรงกดดันอย่างหนัก จนทำให้เมื่อนำอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมาคำนวนเป็นเงินเหรียญสหรัฐแล้วต่ำกว่าของเยอรมนี ทั้งนี้ IMF คำนวณค่าอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไว้ที่ 4.23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ของเยอรมนีอยู่ที่ 4.42 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

JPGDP

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปในปี 1990 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่กว่าเยอรมนีเกิน 2 เท่าตัว แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ได้ลดลงประมาณ 50% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรแล้วอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนก็ลดลง 27% ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นได้ใช้นโยบายทางการเงินแบบตรงข้ามกับธนาคารโลก ซึ่งเหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2022 หลังจากที่ธนาคารกลางทั่วโลกปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ แต่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นกลับไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เกิดการไหล่ของเม็ดเงินออกนอกประเทศตามมา

โดยสาเหตุที่ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ขึ้นดอกเบี้ยนั้น เพราะคาดการณ์ว่า การที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากการไหลออกของเม็ดเงินจะเป็นผลดีต่อภาคเอกชนและการส่งออก ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในด้านการส่งออกและเพิ่มปริมาณการส่งออกขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ทำให้บริษัทส่งออกได้รับประโยชน์ อย่างเช่นบริษัทค่ายรถยนต์ต่างๆ แต่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าก็ทำให้การนำเข้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น นำมาสู่ภาวะเงินเฟ้อ และค่าเงินที่เสื่อมค่าลง

ซึ่งการจะแก้ไขการอ่อนค่าของสกุลเงินเยนนั้น ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น แต่ก็จะกระทบต่อหนี้ของรัฐบาล เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นสามารถกู้ยืมเงินแบบปลอดดอกเบี้ยมาอย่างยาวนานจนปัจจุบันญี่ปุ่นมีหนี้มากถึง 250% ของ GDP

นอกจากนี้การจัดอันดับของ Japan Productivity Center ในปี 2021 พบว่ากำลังการผลิตผลิตของญี่ปุ่นได้ลดลงไปอยู่ที่อันดับที่ 24 ในบรรดา 38 ประเทศ ในเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD – Organisation for Economic Co-operation and Development) ด้วยกัน ขณะที่เยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 11

นอกจากปัญหาเหล่านี้แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ยังวิเคราะห์ว่า มีอีกหลายประเด็นที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นพัง อย่างเช่น การยึดติด และพึ่งพาซัพพลายเออร์ที่คุ้นเคยเกินไปจนทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน ซัพพลายเออร์จึงมีอำนาจต่อรองราคาวัตถุดิบ ทำให้ผู้ผลิตต้องมีต้นทุนสูงเกินไป แต่เจ้าของธุรกิจหลายรายยังสามารถอยู่รอดได้จากนโยบายดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ของรัฐบาล

นอกจากนี้บริษัทญี่ปุ่นมีการจ้างพนักงานมากกว่าบริษัทตะวันตก โดยเฉลี่ยแล้วภาคเอกชนมีเครื่องจักรที่เก่าเกินไป และใช้แรงงานจำนวนมากเกินไปในการะบวนการการผลิต และที่สำคัญคือบริษัทญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้ามากเกินไปจึงต้องมีการจ้างพนักงานจำนวนมากตามไปด้วย

ขณะที่แนวโน้มในอนาคตแล้ว ทาง Kamakshya Trivedi นักวางแผนกลยุทธ์ ของ Goldman Sachs ออกมาคาดการณ์ว่า เงินเยนมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่แล้ว หากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย โดยคาดว่า เงินเยนจะอ่อนค่าลงสู่ระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นั่นจึงทำให้อำนาจเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับเยอรมันซึ่งก่อนหน้านี้กลายเป็นผู้ป่วยของยุโรป แต่ขณะนี้ได้เริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการอาศัยนวัตกรรม เห็นได้ชัดจากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum, WEF) ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า เยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 8 ในขณะที่ญี่ปุ่นตามหลังเยอรมนีอยู่ถึง 5 อันดับ ซึ่งการพัฒนาด้านนวัตกรรมจะทำให้วงจรการผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพสูงและทำให้การผลิตเร็วขึ้นนำไปสู่การแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมนีก็ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจให้ตอบสนองกับสิ่งแวดล้อม (สีเขียว) และหาทางเป็นอิสระจากการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น โดยการนำเข้าน้ำมันของเยอรมนีคิดเป็น 0.5% ถึง 0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งญี่ปุ่นมีภาวะผูกพันในการนำเข้าน้ำมันมากกว่าเยอรมนีคิดเป็น GDP ถึง 2 เท่า

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : IMF , Statista , DITP
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS