GDP ไทยปีนี้แข็งแกร่งจริงไหม? เปิดข้อกังวล 4 ด้านที่ยังกดดันเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ถูกประเมินจากหลายภาคส่วนว่าจะฟื้นตัวแข็งแกร่งจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และอาจจะเป็นการฟื้นตัวที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เกิด COVID-19 แต่ถ้าหากเรามองในภาพรวมแล้ว เราจะเห็นว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยกดดันหลายด้านด้วยกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ตัวเลข GDP ไม่ได้เติบโตแข็งแกร่งอย่างที่คิดแม้การกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบจะทำให้ทุกอุตสาหกรรมกลับมาเติบโตได้ก็ตาม

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นของเศรษฐกิจไทย ‘Business+’ จะพาไปดูข้อมูลในส่วนของตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจของโลกกันก่อน ในปี 2565 เศรษฐกิจโลกยังคงถูกประเมินว่าจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2565 จะขยายตัวที่ 4.9% ซึ่งอาจจะชะลอตัวจากปี 2564 เนื่องจากยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพราะการกระจายวัคซีนในหลายประเทศยังทำได้ไม่ทั่วถึง

นอกจากนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทาง living with COVID ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่การแพร่ระบาดจะกลับมาเช่นกัน ซึ่งในตอนนี้บางประเทศอย่างเช่น จีน เริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกรอบ นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือ ปัญหา Global Supply Disruption ซึ่งมีแนวโน้มยืดเยื้อ (แม้จะดีขึ้น แต่ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังคงทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้) และยังต้องติดตามแนวโน้มราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนและเงินเฟ้อ

จะเห็นว่าปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีปัจจัยลบเช่นเดียวกัน ถึงแม้ ‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องแม้ว่าเศรษฐกิจอื่นในต่างประเทศจะเผชิญกับการชะลอตัว เนื่องจากประเทศไทยยังมีกันชนในส่วนของภาคการเงินต่างประเทศ (External finance) ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง รวมทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

แต่ก็ยังมีปัจจัยกดดันเช่นกัน หลัก ๆ แล้วการเติบโตของเศรษฐกิจอาจจะถูกจำกัดโดยต้นทุนพลังงานที่สูง เพราะไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ได้รับผลกระทบอย่างมากในด้านดุลการค้า รวมทั้งผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังคงอ่อนแอ และส่งผลให้ประเทศไทยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยฟิทช์ประมาณการว่าอัตราการเติบโตของเศษฐกิจ (GDP) ที่ 3.1% ในปี 65 และ 4.2% ในปี 66

อย่างไรก็ตามสำหรับ ‘Business+’ แล้ว มีมุมมองว่า ถึงแม้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และปีหน้าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เพราะภาคอุตสาหกรรมได้กลับมาดำเนินการตามปกติ โดยประเด็นที่สำคัญมีทั้งหมด 4 ข้อด้วยกัน คือ

1. เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง : โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. 65 ยังคงอยู่ที่ระดับ 6.41% จากกรอบเป้าหมาย 1–3% ซึ่งเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะเงินเฟ้อจากราคาพลังงานจะเป็นตัวกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้เงินเฟ้อยังทำให้มูลค่าเงินที่มีอยู่ลดลงจนทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง ก็จะส่งผลให้คนซื้อของน้อยลง เจ้าของธรกิจก็ขายสินค้าได้น้อยลง สุดท้ายก็กระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง

2. เงินบาทอ่อนค่า : เป็นที่รู้กันว่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก เพราะจะทำให้รายได้ของกลุ่มดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทไทย และยังทำให้สินค้าของไทยถูกลงในสายตาของต่างประเทศ (เพราะเงินสกุลดอลลาร์แลกได้เงินบาทเพิ่มขึ้น) แต่การที่เงินบาทอ่อนค่าก็เป็นตัวทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจหรือประชาชนมีภาระที่เพิ่มสูงขึ้น

3. นักท่องเที่ยวจีนยังไม่ฟื้น : เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และรายได้หลัก ๆ มาจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ดังนั้นกรณีที่ประเทศจีนยังเป็นกลุ่มประเทศที่ยังอยู่ในช่วงของการปิดเมืองในบางส่วน ก็ยังทำให้การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวไม่เต็มที่เพราะไทยเราพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก และจีนยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องในปี 2565 จากการที่ประเทศจีนยังใช้นโยบายปิดประเทศตามนโยบายความอดทนต่อ COVID-19 เป็นศูนย์ (Zero tolerance) ทำให้การฟื้นตัวของรายรับจากการท่องเที่ยวของประเทศกลุ่มนี้ยังกลับมาไม่เต็มที่

4. ปัญหาขาดแคลนแรงงานจากสังคมผู้สูงอายุ : เนื่องจากในปี 2565 ไทยกลายเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) จึงทำให้แรงงานในไทยนั้นมีน้อยลง ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย ทั้งในแง่ของการดูแลผู้สูงอายุของครอบครัวที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้สูงอายุจะพึ่งพาตัวเองได้น้อยลง นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงระบบสาธารณะสุขของประเทศ ที่จะต้องมีมาตรการรองรับผู้สูงอายุ ทั้งทางการแพทย์ และสาธารณะสุข และการที่ประเทศมีจำนวนแรงงานลดน้อยลงเท่ากับว่าผลผลิตของประเทศจะน้อยลง (ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ GDP ของประเทศ)

ทั้งหมด 4 ปัจจัยนี้ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตัวเลขเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทบในหลายส่วนด้วยกัน ทั้งตลาดแรงงาน ภาคหนี้สิน ภาคการบริโภค การท่องเที่ยว และภาคการผลิต ซึ่งผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้หากรุนแรงมากอาจทำให้ GDP ไม่สามารถเติบโตตามเป้าได้

เขียนและเรียบเรียบ : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : ฟิทช์ ,BOT

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ตัวเลขเศรษฐกิจ #GDP