รัฐบาลเมียนมากับการบังคับเกณฑ์ทหาร เพิ่มจำนวนแรงงานหรือแย่งงานคนไทย?

ถือเป็นข่าวที่สั่นสะเทือนประชาชนชาวเมียนมาไม่น้อย สำหรับกรณีที่ทางรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศบังคับให้พลเมืองชาวเมียนมาทุกคน ทั้งชาย-หญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (ชาย 18-35, หญิง 18-27 ปี) ต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี และสามารถขยายระยะเวลาประจำการได้สูงสุดถึง 5 ปี ภายใต้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉิน

โดยภายหลังการประกาศข้อบังคับดังกล่าว ส่งผลให้มีชาวเมียนมาที่ไม่อยากเกณฑ์ทหารพยายามที่จะเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งในลักษณะของการดำเนินการตามกระบวนการอย่างถูกต้อง และกลุ่มที่ลักลอบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งเส้นทางหลักที่ชาวเมียนมาเลือกก็ยังคงเป็นประเทศไทย จากประเด็นนี้จึงนำมาซึ่งคำถามว่าหากมีชาวเมียนมาหลั่งไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อตลาดแรงงานในประเทศไทยอย่างไร ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่อาจสร้างคำถามให้กับใครหลาย ๆ คน คือคำถามที่ว่าหากแรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น จะกลายเป็นการแย่งงานของคนในประเทศหรือไม่? ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้ วันนี้ Business+ จะพาทุกท่านลงลึกไปยังข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจำนวนประชากรโดยรวมของประเทศ, จำนวนประชากรที่มีงานทำในประเทศ, จำนวนประชากรที่ยังว่างงาน รวมถึงข้อมูลด้านอาชีพที่แรงงานข้ามชาติสามารถทำได้ ซึ่งจะสามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์เบื้องต้นถึงความเป็นไปได้ว่ากรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาวะการมีงานทำของคนในประเทศได้มากน้อยเพียงใด

ก่อนอื่นไปสำรวจจำนวนประชากรในประเทศไทยกันก่อน โดยข้อมูลจากกรมการปกครอง ระบุข้อมูลจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 66.05 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์แรงงาน ณ ไตรมาส 3/66 จากกระทรวงแรงงาน ระบุ ประเทศไทยมีจำนวนประชากรผู้มีงานทำ 40.09 ล้านคน ขณะที่มีผู้ว่างงาน 4 แสนราย โดยจำแนกการจ้างงานจากกลุ่มประชากรผู้มีงานทำตามกลุ่มอาชีพ ดังนี้

1.กลุ่มอาชีพผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร และการประมง คิดเป็น 31.68% ของผู้มีงานทำทั้งหมด

2.กลุ่มพนักงานบริการและพนักงานในร้านค้าและตลาด คิดเป็น 22.42%

3.กลุ่มอาชีพขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ในด้านการขายและการให้บริการ คิดเป็น 11.51%

4. กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือและธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้อง คิดเป็น 11.30%

5.ผู้ปฏิบัติการโรงงานและเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ คิดเป็น 10.76%

6. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่าง ๆ คิดเป็น 5.82%

7.เสมียน คิดเป็น 5.01%

8. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านเทคนิคสาขาต่าง ๆ และอาชีพที่เกี่ยวข้อง คิดเป็น 4.80%

9. ผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโสและผู้จัดการ คิดเป็น 3.54%

10. คนงานซึ่งมิได้จำแนกไว้ในหมวดอื่น คิดเป็น 0.07%

ขณะที่ข้อกำหนดอาชีพที่ต่างด้าวทำได้ตาม พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ระบุอาชีพที่ให้ต่างด้าวทำได้ 12 อาชีพ 3 แบบ แบ่งเป็น

1. แบบไม่มีเงื่อนไข 1 อาชีพ ได้แก่ กรรมกร

2. แบบมีเงื่อนไข คือ คนต่างด้าวต้องเป็นลูกจ้าง เป็นงานที่ขาดแคลนแรงงาน อนุญาตให้ทำได้เท่าที่จำเป็น โดยไม่กระทบต่อโอกาสการมีงานทำของคนไทย 8 อาชีพ ได้แก่

1.) กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรือประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญงานเฉพาะสาขา ควบคุมดูแลฟาร์ม

2.) ก่ออิฐ ช่างไม้ หรือก่อสร้างอื่น

3.) ทำที่นอน ผ้าห่มนวม

4.) ทำมีด

5.) ทำรองเท้า

6.) ทำหมวก

7.) ประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

8.) ปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

3. แบบมีเงื่อนไข ตามข้อตกลงระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งคนต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายไทยก่อนขอรับใบอนุญาตทำงาน 3 อาชีพ ได้แก่

1.) บัญชี ควบคุม ตรวจสอบ ปฏิบัติงานหรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้นตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว, งานตามข้อตกลง หรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพัน โดยที่สภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้ให้การรับรองคุณสมบัติ

2.) วิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุมการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการวิศวกรรมข้ามแดน หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรรม

3.) งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ประกอบวิชาชีพตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน

ดังนั้น กรณีมีแรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากการเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร เมื่อเทียบอัตราจ้างงานแรงงานต่างชาติในประเทศไทย รวมถึงข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในประเทศไทยของแรงงานกลุ่มนี้ ที่ยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข และหลาย ๆ อาชีพยังคงเป็นอาชีพที่สงวนไว้ให้เพียงประชากรในประเทศเท่านั้นที่ทำได้ จึงอาจสรุปได้คร่าว ๆ กรณีแรงงานเมียนมาที่เดินทางเข้ามาเพื่อหางานทำในประเทศไทยจากกรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นการส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อการจ้างงานคนไทยในประเทศ ในขณะเดียวกัน ทางด้านผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากประเด็นนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากในหลาย ๆ หน่วยงานยังคงขาดแคลนแรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเป็นลักษณะงานที่ประชากรภายในประเทศไม่นิยมทำ ดังนั้น เมื่อมีแรงงานเมียนมาเพิ่มเข้ามาก็อาจเป็นการเติมเต็มให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ได้

ที่มา : thaipbs, กรมการปกครอง, กระทรวงแรงงาน

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #แรงงาน #แรงงานข้ามชาติ #แรงงานเมียนมา #ตลาดแรงงานไทย #แรงงานไทย