ทำไมนโยบายการเงิน กับ การคลัง ต้องแยกกันให้ขาด!!

ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมามีข่าวที่เป็นกระแสอย่างมาก นั่นคือ การใช้นโยบายที่สวนทางกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กับ ‘สมาคมธนาคารไทย’ โดยกลุ่มแบงก์รัฐ-เอกชน แห่ลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% ช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าเปราะบางนาน 6 เดือน ตามที่นายกฯได้มีการร้องขอ ซึ่งตอนนี้มีธนาคารทั้งหมด 12 แห่งที่ประกาศลดดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งถือเป็นข่าวดีของคนที่มีหนี้กับธนาคารเพราะเราจะจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง

โดยเฉพาะในช่วงที่เราพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์กันว่าสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 91.4% ต่อ GDP โดยหนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นหนี้ที่เติบโตมากที่สุด ซึ่งหากเรามองถึงสถานะการณ์หนี้ล่าสุดของคนไทยเป็นหนี้เสียบัตรเครดิตไปแล้วกว่า 1 ล้านใบ วงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท จึงทำให้สมาคมธนาคารไทยเลือกที่จะลดดอกเบี้ยตามภาครัฐขอ

แต่การลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้ของสมาคมธนาคารไทยตามที่นายกร้องขอ ดันไปสวนทางกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติที่เพิ่งประกาศคงดอกเบี้ยที่ 2.5% เลยกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากมาย ว่านายกเข้าแทรกแซงนโยบายการเงินหรือเปล่า? เพราะจริงๆแล้ว นโยบายการเงินจะต้องแยกออกชัดเจนกับนโยบายการคลัง

ทีนี้เรามาดูกันว่า ทำไมนโยบายการเงิน กับ การคลัง ต้องแยกกันให้ขาด!!

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่ดูแล และกำหนดนโยบายการเงินคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงิน ตัวอย่าง ของนโยบายการเงิน ก็อย่างเช่น การเพิ่ม-ลดอัตราดอกเบี้ย ควบคุมปริมาณเงิน และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน หากภาวะเศรษฐกิจเติบโตช้า หรือมีหนี้ครัวเรือนสูง กนง.ก็จะลดดอกเบี้ยเพื่อให้คนหันมาใช้เงินมากขึ้น และลดภาระหนี้ให้ประชาชน

ส่วนนโยบายการคลัง เป็นหน่วยงานภาครัฐบาล มีหน้าที่เสนอแนะและออกแบบนโยบาย และมาตรการด้านการคลัง ตัวอย่าง ของนโยบายการคลัง เช่น เพิ่ม-ลดภาษีอากร การใช้จ่ายของภาครัฐ การกู้ยืมและการลงทุนของภาครัฐ

ซึ่ง นโยบายการเงิน และการคลังต้องแยกกันชัดเจน ไม่แทรกแซงกัน เพราะสาเหตุหลัก 2 ส่วนด้วยกันคือ

  1. แบงก์ชาติต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศในระยะยาว แต่รัฐบาลจะถูกกดดันให้สร้างผลงานในระยะสั้นๆ พูดง่ายๆ ก็คือ นายกฯ และรัฐบาลชุดที่ถูกแต่งตั้งใหม่จะมีวาระเพียง 4 ปี ซึ่งหากต้องการให้คนเชื่อมั่นและชนะเลือกตั้งใหม่อีกครั้งก็ต้องทำผลงานให้ดี รัฐบาลจึงต้องทำทุกวิธีเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตในวาระของตัวเอง แต่แบงก์ชาติต้องดูแลเศรษฐกิจในระยะยาวไม่ใช่แค่เพียงสั้นๆ จึงไม่สามารถจะลดดอกเบี้ยเพียงเพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ
  2. แบงก์ชาติมีหน้าที่พิมพ์เงินที่เราใช้ออกมาให้เหมาะสมกับตลาดการเงินของประเทศ แต่รัฐบาลเป็นคนใช้เงิน ดังนั้น เราจึงต้องแยกระหว่าง คนพิมพ์เงินกับคนใช้เงินออกจากกัน พูดง่ายๆก็คือ หากแบงก์ชาติถูกรับฐาลกดดันให้พิมพ์เงินออกมามากๆ เพราะอยากให้มีการใช้จ่ายในประเทศมาก ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟื้อ และภาวะฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ได้ ดังนั้น ถ้าธนาคารกลางเป็นอิสระจะทำให้ดูแลเงินเฟ้อและสนับสนุนการเติบโตระยะยาวได้ดีกว่า

สรุปง่ายๆก็คือ ทั้ง 2 นโยบายนี้ต้องแยกจากกันเพื่อให้ถูกถ่วงดุลอำนาจ ให้เศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว แต่ควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ซึ่งนายกฯ และสมาคมธนาคารไทย ต้องการลดดอกเบี้ยเพื่อลดภาระหนี้ให้กับประชาชน ส่วน กนง.มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน (2.50%) มีความเหมาะสม โดยมองว่า GDP ปี 2567 ยังสามารถจะเติบโตในอัตรา 2.5-3% จากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : IQ , Microsoft , บล.กรุงศรี
ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #นโยบายการคลัง #นโยบายการเงิน #แบงก์ชาติ #ธนาคารแห่งประเทศไทย