GrabPanda

จะเกิดอะไรขึ้น? หลัง Foodpanda ขายกิจการให้ Grab

ช่วงเดือน ก.ย.2566 มีข่าวที่ออกมาสะเทือนวงการธุรกิจ Food Delivery ในอาเซียนครั้งใหญ่กับการขายกิจการของ Foodpanda หลังจากนิตยสารธุรกิจของเยอรมนีได้เปิดเผยข้อมูลว่า Delivery Hero บริษัทแม่ของ Foodpanda เตรียมขายกิจการในอาเซียน (สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และไทย) ให้ Grab ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา และคาดการณ์ว่า มูลค่าดีลจะสูงกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท

ทีนี้คำถามที่เราต้องคิดต่อไปคือ หากซื้อกิจการแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับตลาด Food Delivery ของเมืองไทย เพราะการซื้อขายกิจการของผู้เล่นรายใหญ่ที่เป็น Top 5 จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาด และยิ่งเป็นการขายกิจการให้กับบริษัทที่เป็นเจ้าตลาดอันดับ 1 อยู่ก่อนแล้ว ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยเฉพาะอำนาจการต่อรองกับผู้บริโภค

ซึ่งกรณีนี้ ‘Business+’ มองว่า หากดีลนี้จะเกิดขึ้นจริงจะต้องถูกนำมาวิเคราะห์ว่า หลังซื้อกิจการแล้ว Grab จะมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ และผลกระทบของผู้บริโภค และพันธมิตรที่เป็นร้านค้าจะได้รับผลกระทบอย่างไร? โดยเฉพาะประเด็นการตั้งค่า GP ซึ่งเป็นค่าดำเนินการที่ทางร้านต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์ม Food Delivery จะสูงขึ้นจากเดิมหรือไม่? เพราะเมื่อถ่ายโอนฐานลูกค้า และสินทรัพย์ทั้งหมดแล้วจะทำให้ Grab มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 70%

ทั้งนี้หากอิงจากข้อมูลส่วนแบ่งการตลาด Food delivery ประเทศไทยในปี 2566 ผู้ให้บริการที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับที่ 1 คือ Grab ด้วยส่วนแบ่ง 54%, LINE MAN Wongnai อันดับ 2 ครองส่วนแบ่ง 24% และ Foodpanda อันดับ 3 ครองส่วนแบ่ง 16% อันดับที่ 4 คือ Robinhood ครองส่วนแบ่งตลาด 6% ดังนั้นหากซื้อกิจการสำเร็จ ทาง Foodpanda มารวมกับ Grab ส่วนแบ่งการตลาดของ New Grab คิดแบบกำปั้นทุบดินจะสูงถึง 70%

โดยหลังจากขายกิจการเสร็จสิ้น ไทยก็จะเหลือผู้เล่นหลักในตลาด Food Delivery เพียง 4 รายหลัก ๆ และโครงสร้างใหม่ของส่วนแบ่งการตลาดจะเป็นดังนี้

  1. Grab 70%
  2. LINE MAN Wongnai ส่วนแบ่ง 24%
  3. อื่น ๆ 6% (Robinhood ,Shopee Food , True food)

ซึ่งการที่มีผู้เล่นในตลาดลดลงจริงๆ แล้วจะทำให้ผู้ให้บริการทุกรายในตลาดมีอำนาจต่อรองกับลูกค้ามากขึ้น เพราะตัวเลือกของลูกค้าน้อยลง แต่กรณีนี้เป็นการขายกิจการให้กับแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดเบอร์ 1 อยู่แล้ว ดังนั้น ฐานลูกค้า และข้อมูลต่างๆ จึงถูกโยกไปให้กับ Grab ทั้งหมด จึงเอื้อประโยชน์ให้กับเบอร์ 1 เต็มๆ ส่วนรายอื่นจะทำธุรกิจยากขึ้น เพราะต้องแข่งขันกับรายใหญ่ที่มีฐานลูกค้าเยอะขึ้น

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่า Grab อาจจะมีการปรับค่า GP หรือค่าดำเนินการที่ทางร้านต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการสูงขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 30%  โดยปัจจุบันค่า GP ของแพลตฟอร์ม Food Delivery ในไทยเป็นดังนี้

  • Grab Food หักค่า GP 30%
  • LINEMAN หักค่า GP 30%
  • Shopee Food หักค่า GP 30%
  • Foodpanda หักค่า GP 32%
  • Robinhood ไม่คิดค่า GP
  • true food ไม่คิดค่า GP

นอกจากประเด็นของการซื้อกิจการของ 2 เจ้าใหญ่แล้ว อีกหนึ่งประเด็นคือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของยอดขายทั้งหมด (GMV) ธุรกิจ Food Delivery เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มผ่อนความร้อนแรงลง เหลือเพียงแค่การเติบโต 5% ในปี 2565 แน่นอนว่าตัวเลขการเติบโตของ GMV ที่ลดลงก็ทำให้ตลาด Food Delivery ในอาเซียนนั้นอาจทำธุรกิจได้ยากมากขึ้น

ขณะที่หากเจาะเข้าไปยัง Food delivery เมืองไทย เราจะเห็นว่า ภาพรวมตลาดในปี 2565 เติบโตในระดับที่ชะลอตัวลง จากพฤติกรรมความต้องการของผู้ใช้บริการที่เริ่มทำงานแบบ Hybrid Work โดย ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดการณ์ว่าตลาด Food Delivery มีมูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5%

และยังมีอีกสาเหตุที่ทำให้การทำธุรกิจ Food delivery ยากขึ้น คือ ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นและราคาพลังงานที่สูง ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยต่อรายการอาหารและค่าส่งอาหารอาจเพิ่มขึ้นจนผู้บริโภคเลือกที่จะใช้บริการน้อยลง

ประเด็นของการซื้อกิจการระหว่าง Grab กับ Foodpanda ยังคงต้องจับตากันต่อไปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะอนุมัติหรือไม่ เพราะอาจจะถูกมองว่าส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขนาดนี้จะใกล้เคียงกับการผูกขาดตลาด โดยที่ผ่านมาได้มีนักวิเคราะห์ออกมาให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกับ ‘Business+’ ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแง่ลบกับผู้เล่นรายอื่นในตลาด โดยเฉพาะ คุณพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ส่วนตัวว่า “Grab ซื้อกิจการ Food Panda ในไทย ฝาก ท่านคณะกรรมการ กขค พิจารณาด้วยครับ” และเมื่อมีคนคอนเม้นสอบถาม คุณพลัฏฐ์ ว่า ซื้อไม่ได้หรืออย่างไร? เพราะอะไร? คุณพลัฏฐ์ได้ตอบคำถามว่า “ก็ต้องดูสัดส่วน ส่วนแบ่งตลาด ว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่” พร้อมทั้งชี้ให้เห็นด้วยว่า “หากขายให้รายอื่น เช่น Robinhood, Line Man จะไม่น่ากังวล เช่นนี้ แต่ถ้าหากขายให้คนตัวใหญ่สุด จะกลายเป็น Grab มีอำนาจเหนือตลาดไปในทันที”

โดยหากเรามองย้อนกลับไปในการซื้อกิจการที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยแล้ว เคสนี้เหมือนกับกรณีของ TRUE ควบรวมกับ DTAC และซี.พี.ควบรวม เทสโก้ โลตัส ตามที่ ‘Business+’ เคยเขียนเอาไว้ในคอนเทนต์ก่อนหน้านี้ “https://www.thebusinessplus.com/truedtac11/” ซึ่งครั้งนั้นผลสรุปในกรณีของ ซีพี และเทสโก้โลตัส ที่ประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2563 พิจารณาได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว โดยอนุมัติให้ควบรวมกิจการได้แบบมีเงื่อนไข ซึ่งกรณีนี้ใช้เวลาในการพิจารณาครบกำหนด 90 วัน และสามารถต่อเวลาพิจารณาได้อีก 15 วัน รวมเป็น 105 วัน ซึ่งเรามองว่าผลสรุปก็อาจจะออกมาในรูปแบบเดียวกัน

ซึ่งต้องคอยติดตามต่อว่า หากซื้อกิจการสำเร็จแล้ว กขค.จะใช้เงื่อนไขใดมาคุ้มครองผู้บริโภคและพันธมิตรที่เป็นร้านอาหาร เพราะขณะนี้ค่า GP ของ Grab ยังต่ำกว่า Foodpanda ที่คิด GP ถึง 32% ถือว่ามากที่สุดในตลาด ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงเพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้ถึงแม้จะมีรายได้สูง แต่ยังประสบกับผลขาดทุนสุทธิ โดยเฉพาะ Foodpanda ที่ในปี 2564 ยังขาดทุนมากถึง 4,722 ล้านบาท

ที่มา : กขค, positioningmag.com

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#thebusinessplus #FoodDelivery #Grab #Foodpanda #ฟู้ดเดลิเวอรี่