‘ทรู’+’ดีแทค’ แม้ไม่ผูกขาด แต่มีอำนาจเหนือตลาด!! มุมมองเศรษฐศาสตร์หวั่นเกิดอิทธิพลรวมกลุ่มคล้าย OPEC

หลังจาก 2 ค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถืออย่าง “ทรู” กับ “ดีแทค” ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ได้เปิดข้อมูลอย่างเป็นทางการในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย (ตลท.) ว่าจะควบรวมกิจการ ซึ่งก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่ากันว่า จะก่อให้เกิดการผูกขาดหรือไม่? ก่อนจะลงไปวิเคราะห์เรามาดูรายละเอียดการควบรวมกันก่อน

‘Business+’ จะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ TRUE และ Telenor Asia ผู้ถือหุ้นของ DTAC จะตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ขึ้นมาชื่อว่า “บริษัท ซิทริน โกลบอล จํากัด” โดยบริษัทนี้จะทําคําเสนอซื้อหุ้น TRUE ทั้งหมดในราคาหุ้นละ 5.09 บาท และซื้อ DTAC ราคาหุ้นละ 47.76 บาท (ตั้งราคาที่สูงกว่ากระดานตลาดหุ้นทั้งคู่)

แต่ถ้าหากผู้ถือหุ้นเดิมของ TRUE และ DTAC ไม่ขายหุ้นก็จะได้รับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท โดย 1 หุ้น DTAC เปลี่ยนเป็น 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน TRUE เปลี่ยนเป็น 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ ซึ่งต้องผ่านประชุมบอร์ดบริษัท และที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อให้อนุมัติการควบบริษัทก่อน

หากเรามองดีลนี้ในมุมเศรษฐศาสตร์ และมุมของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ก็จะเห็นว่า เคสนี้ไม่ใช่การผูกขาด เพราะนิยาม การผูกขาด คือ “มีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่งซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคา หรือ ปริมาณสินค้า-บริการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยอิสระ และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป”

ดังนั้น เคสนี้ ถือว่าไม่ใช่ตลาดผูกขาด (Monopoly) เพราะยังมีผู้เล่นตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป และไม่เกิน 10 ราย ต่อให้มีการควบรวมเกิดขึ้นตลาดค่ายมือถือบ้านเราก็ยังเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ไม่เปลี่ยนจากเดิม

แต่ถ้าหากเปลี่ยนคำว่าผูกขาดเป็นคำว่า “มีอำนาจเหนือตลาด” เคสนี้เข้าเค้า และสมควรแก่การตื่นตระหนก เพราะมาร์เก็ตแชร์ของบริษัทใหม่ในตลาดค่ายมือถือจะพุ่งขึ้นมา 51% และยิ่งน่ากลัวหากหลังควบรวม TRUE และ DTAC ตั้งราคาค่าบริการที่สูงขึ้น หรือแม้กระทั่งเข้าเจรจากับ AIS เพื่อกำหนดราคาการให้บริการร่วมกัน (ซึ่งตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น)

ซึ่งการควบรวมธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในบ้านเราไม่ใช่สิ่งต้องห้ามหรือผิดกฎหมาย แต่จะต้องไม่สร้างกระทบต่อราคาสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรม แตกต่างกับสหภาพยุโรป ที่ใช้คำว่าผู้มีอำนาจเหนือตลาด เป็นคำเดียวกับ “ผูกขาด”

มาดูในมุมของผู้บริโภคกันบ้าง จากเดิมผู้เล่นในตลาดที่มี 3 รายหลัก ๆ จะเหลือ 2 เจ้า ซึ่งจะทำให้ค่ายมือถือมีอำนาจต่อรองกับผู้บริโภคสูงขึ้น การแข่งขันในตลาดลดลง เพราะเหลือตัวเลือกเพียงแค่ 2 ค่ายเท่านั้น (ก่อนหน้านี้ TRUE ต้องพยายามอย่างหนักในการจัดโปรโมชั่นลดแลก แจกแถม ร่วมกับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เพื่อชิงฐานลูกค้าจากทั้ง AIS และ DTAC)

โดยปัจจุบัน AIS ครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 ด้วย 43.7 ล้านเลขหมาย ส่วน TRUE มี 32 ล้านเลขหมาย และ DTAC มี 19.3 ล้านเลขหมาย ซึ่งหาก TRUE และ DTAC รวมกันสำเร็จจะมี 51.3 ล้านเลขหมายแซง AIS ขึ้นมาทันที ดีลนี้ TRUE และ DTAC จะสบายตัวขึ้น ทั้งในแง่ของเสาสัญญานที่เพิ่มขึ้น ครอบคลุมขึ้น และฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

และอย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ที่ผ่านมา จุดแข็งของ AIS คือ สัญญานครอบคลุมทั่วประเทศ จึงทำให้สามารถตั้งราคาสูงกว่าทั้ง 2 เจ้าได้ อ้างอิงจากอัตรากำไรสุทธิของ AIS ในปี 2563 ที่ 15.79% ส่วน TRUE ที่ 0.65% และ DTAC ที่ 6.47% ทำให้เห็นว่า AIS เป็นเจ้าตลาดที่ความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่า ไม่ได้หมายถึงตั้งราคาสูงกว่าอย่างเดียวแต่รวมไปถึงการบริหารต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่ดีด้วย

ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นของ AIS ข้อมูล 9 เดือนปี 2564 สูงถึง 34.09% (คำนวณจากกำไรขั้นต้นเทียบกับรายได้รวม) ส่วน TRUE อยู่ที่ 28.37% และ DTAC อยู่ที่ 26.59% จะเห็นได้ชัดว่า TRUE และ DTAC ยังมีปัญหาในเรื่องของความสามารถในการทำกำไร อาจจะเป็นเพราะต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด ทำให้การแข่งขันค่อนข้างสูง

เพราะฉะนั้น การควบรวมของ TRUE และ DTAC จะต้องถูกตรวจสอบจาก คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เพราะไปเข้าเงื่อนไขของมาตรา 51 เรื่องการรวมธุรกิจ เพราะเป็นการรวมธุรกิจที่ยอดเงินขายของผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งหรือของผู้ประกอบธุรกิจที่จะรวมธุรกิจในตลาดใดตลาดหนึ่งรวมกันตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป และอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด

โดยบอร์ด สขค. จะพิจารณาอนุญาติการรวมธุรกิจตาม 4 เงื่อนไขคือ 1. ความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ 2. ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ 3.การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง 4.การไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม

ในมุมมองของ ‘Business+’ มองว่าดีลนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะยังไม่ถือว่าเป็นการผูกขาด แต่ไปกระทบในแง่ของการลดการแข่งขันในตลาด เกิดผลเสียสำหรับผู้บริโภคเพราะตัวเลือกน้อยลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจเพราะเป็นการรวมกันของนายทุนใหญ่

ซึ่งการควบรวมธุรกิจอาจไม่ถูกคัดค้าน หากมีผลประโยชน์ต่อสาธารณชนมากกว่าผลเสีย หรืออาจปล่อยให้ควบรวมได้โดยกำหนดเงื่อนไข เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด ดังนั้น สขค.อาจจะมีการตั้งเงื่อนไขบางอย่างเพื่อควบคุม

ที่ผ่านมา เราเคยได้เห็นจากกรณีดีลดังอย่าง CP-Tesco Lotus ที่ได้รับอนุมัติให้เกิดการควบรวมกิจการได้หลังจากพิจารณาแล้วไม่พบการผูกขาด แต่ออกข้อกำหนดเข้มคุม CP ปฏิบัติตามเงื่อนไข เพื่อไม่ให้เป็นการมีอำนาจเหนือตลาด เช่น ห้ามรวมธุรกิจอื่นในตลาดค้าปลีก 3 ปี และห้ามแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ

ดังนั้นเรามองว่า กรณีดีล TRUE และ DTAC ก็จะเกิดขึ้นในกรณีเดียวกัน เพราะถ้าหากอิงตามตัวบทกฏหมายของบ้านเรา ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ต้องดูว่าเงื่อนไขที่จะออกมาควบคุมหลังควบรวมครอบคลุมพอหรือยัง เมื่อเทียบกับต่างประเทศ?

ยกตัวอย่าง จีน ห้ามการรวมกิจการที่เป็นผลเสียต่อการแข่งขันทางการค้า โดย Alibaba ถูกตัดสินให้จ่ายค่าปรับ 2.8 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2020 เพราะกีดกันไม่ให้คนขายด้วยแพลตฟอร์มอื่น และสิงคโปร์ ที่มีการควบคุมการควบรวมกิจการไม่ให้ธุรกิจใดมีอำนาจเหนือตลาด โดยในปี 2018 ได้สั่งปรับ Grab และ Uber ฐานควบรวมกิจการทำให้กระทบค่าโดยสาร ในขณะที่บ้านเรายังไม่มีกรณีที่ถูกตัดสินให้มีความผิด

สาเหตุที่ต้องควบคุมการควบรวมนายทุนใหญ่ เป็นเพราะจะไปเพิ่มการกระจุกตัวในตลาด จำนวนผู้ประกอบการที่ลดลงจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดลดลงอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดการตกลงร่วมกันระหว่างคู่แข่งขันได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างตลาดผู้ขายน้อยรายที่รวมกลุ่มกัน และทำตัวเป็นผู้ผูกขาด หรือที่เรียกว่า Cartel มีตัวอย่างให้เห็นชัดอย่าง OPEC กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันที่มีอำนาจเหนือตลาด และมีอำนาจในการตั้งราคาน้ำมันได้ด้วยการเพิ่ม หรือลดกำลังการผลิต ซึ่งพวกเขาจะตกลงปริมาณการผลิตร่วมกันเพื่อไม่ให้มีการแข่งขันกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของกลุ่มผู้ผลิต ซึ่งผู้รับเคราะห์จากราคาน้ำมันคือผู้บริโภคนั่นเอง

ซึ่งตลาดสื่อสาร หรือค่ายมือที่ถือเราใช้กันอยู่นั้น เป็นตลาดผู้ขายน้อยราย เพราะเป็นธุรกิจที่ใช้ทุนมาก แต่ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าค่อนข้างต่ำ รวมไปถึงภาครัฐก็ไม่ได้จูงใจให้มีผู้เข้ามาประมูลเครื่อข่ายแข่งกัน จึงยากที่จะมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาแข่งขัน ดังนั้น การจะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดรายใหม่ยาก เป็นไปได้ที่เราจะเหลือตัวเลือกแค่ บริษัทใหม่ของกลุ่ม TRUE,DTAC และ AIS ไปอีกนาน และอาจนำไปสู่ปัญหามากมาย

จึงเกิดเป็นการตั้งคำถามว่า หากปล่อยให้การควบรวมเกิดขึ้นอีกหลายเคส กฏหมายที่บ้านเรามีอยู่ตอนนี้เพื่อควบคุมการมีอำนาจเหนือตลาดนั้น ครอบคลุมพอหรือยัง?

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET ,OTCC

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #TRUE #DTAC #AIS