‘Food Delivery’ ไทย ส่อเค้าไม่รอด! งบย้อนหลังไม่ทันฟื้น ตลาดปี 67 วูบต่อ

ในโลกที่ทุกอย่างขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับความต้องการความสะดวกสบายของผู้บริโภค ทำให้ในปัจจุบันนี้มีธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจ ‘Food Delivery’ ที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มักจะเห็นเหล่าพาร์ทเนอร์ของผู้ให้บริการจากค่ายต่าง ๆ ยืนรออาหารหรือเครื่องดื่มตามร้านอาหารอยู่เสมอ เพราะถือเป็นธุรกิจที่มอบความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการไม่ต้องเดินทางไปร้านอาหารด้วยตัวเอง, การรอคิวที่บางครั้งก็นานนับชั่วโมง, การหาที่จอดรถที่บางร้านก็ไม่เอื้ออำนวยนัก หรือแม้แต่การใช้โปรโมชั่นที่มีเฉพาะบนแอปพลิเคชันผู้ให้บริการเท่านั้น ต่างก็ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนหันมาใช้บริการประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี แม้ทุกอย่างจะเหมือนไปได้สวย แต่ในแง่ของผู้ประกอบการธุรกิจ ‘Food Delivery’ ในไทยเองกลับไม่เป็นแบบนั้น เมื่อในความเป็นจริง บรรดาค่ายใหญ่ยังประสบกับปัญหาการขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง แถมทิศทางตลาดในปีนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่สดใส เมื่อมีการคาดการณ์จากกูรูออกมาว่าในปี 2567 นี้ ตลาด ‘Food Delivery’ จะหดตัวลงต่อจากปี 2566

วันนี้ Business+ จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลผลประกอบการผู้ให้บริการ ‘Food Delivery’ รายใหญ่ของไทย จำนวน 4 ราย ได้แก่ Grab, Robinhood, LINE MAN, foodpanda โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลการรายงานผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลังจากเว็บไซต์ ‘กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์’ ซึ่ง ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ได้รายงานตัวเลขล่าสุดถึงปี 2565 โดยมีรายละเอียดดังนี้

‘Grab’ ผู้ให้บริการภายใต้ ‘บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด’ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 โดย ‘Grab’ เป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสิงคโปร์ ที่ให้บริการครบวงจร ทั้งการเรียกรถแท็กซี่, วินมอเตอร์ไซค์, ส่งพัสดุ, ซื้อสินค้า และการสั่งอาหาร ผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ โดยให้บริการในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, เมียนมา, กัมพูชา และประเทศไทย

สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2563-2565) ของ ‘บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด’ พบว่า

ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 7,215.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125.96% จากปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,193.19 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 284.28 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 82.77% จากปี 2562 ที่ขาดทุนสุทธิ 1,650.11 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,375.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.65% จากปี 2563 และขาดทุนสุทธิ 325.25 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 14.41% จากปี 2563

ปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 15,197.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.59% จากปี 2564 และมีกำไรสุทธิ 576.13 ล้านบาท

อนึ่ง ผลการดำเนินงานในปี 2565 ถือเป็นการทำกำไรครั้งแรกในรอบ 10 ปี ของ ‘บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด’ หลังประสบกับปัญหาขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง โดยบริการสั่งอาหาร หรือ ‘Food Delivery’ คือปัจจัยหลักที่ช่วยฟื้นกิจการ ภายหลังมีผู้ใช้บริการสั่งอาหารเพิ่มขึ้นในปีดังกล่าว

‘Robinhood’ แพลตฟอร์ม ‘Food Delivery’ สัญชาติไทย ภายใต้ ‘บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด’ ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 โดย ‘Robinhood’ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านเล็ก ๆ จำนวนมากกว่า 16,000 ร้านค้า ในการเพิ่มโอกาสการขาย แก้ปัญหาที่เดิมไม่สามารถค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูง ด้วยการไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม (GP)

สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2563-2565) ของ ‘บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด’ พบว่า

ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 81,549 บาท และขาดทุนสุทธิ 87.83 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 15.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,261.36% จากปี 2563 และขาดทุนสุทธิ 1,335.38 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 1,420.42% จากปี 2563

ปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 538.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,308.98% จากปี 2564 และขาดทุนสุทธิ 1,986.84 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 48.78% จากปี 2564

‘LINE MAN’ ผู้ให้บริการภายใต้ ‘บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด’ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 ให้บริการมีบริการทั้งบริการสั่งซื้ออาหาร, บริการรับส่งสิ่งของ, บริการสั่งของสะดวกซื้อ, บริการรับส่งสิ่งของผ่านไปรษณีย์ และบริการเรียกแท็กซี่

สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2563-2565) ของ ‘บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด’ พบว่า

ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,066.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,036.14% จากปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 49.92 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 1,114.67 ล้านบาท  ขาดทุนเพิ่มขึ้น 608.86% จากปี 2562 ที่ขาดทุนสุทธิ 157.25 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,140.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 288.23% จากปี 2563 และขาดทุนสุทธิ 2,386,52 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 114.10% จากปี 2563

ปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 7,802.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.47% จากปี 2564 และขาดทุนสุทธิ 2,730.85 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 14.42% จากปี 2564

‘foodpanda’ ผู้ให้บริการสั่งอาหารและของกินของใช้ออนไลน์ภายใต้ ‘บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด’ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 มีบริษัทแม่คือ Delivery Hero SE ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2563-2565) ของ ‘บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด’ พบว่า

ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,375.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 434.75% จากปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 818.16 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 3,595.90 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 184.37% จากปี 2562 ที่ขาดทุนสุทธิ 1,264.50 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 6,786.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.11% จากปี 2563 และขาดทุนสุทธิ 4,721.60 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 31.30% จากปี 2563

ปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,628.05 ล้านบาท ลดลง 46.54% จากปี 2564 และขาดทุนสุทธิ 3,255.11 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 31.05% จากปี 2564

ทั้งนี้ จากผลประกอบการของผู้ให้บริการทั้ง 4 ราย จะเห็นได้ว่าปัญหาที่ผู้ประกอบการทุกรายประสบพบเจอเหมือนกัน คือปัญหาการขาดทุนสะสม โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ‘Grab’ ที่ประสบกับปัญหาการขาดทุนสะสมมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย แม้ในปี 2565 จะสามารถพลิกมาทำกำไรได้ แต่ดูเหมือนว่าในปี 2567 นี้ จะเป็นอีกปีที่จะกลายมาเป็นบททดสอบของผู้ให้บริการ ‘Food Delivery’ ของไทย

โดยอ้างอิงข้อมูลจาก ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ประเมินว่าในปี 2567 มูลค่าตลาด ‘Food Delivery’ จะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท 1.0% จากปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น (Price per Order) ประมาณ 2.8% จากค่าเฉลี่ยในปี 2566 หรือ มีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง ซึ่งจะมีผลตามมาต่อทั้งจำนวนครั้งและปริมาณการสั่งให้ลดลง

อีกทั้งคาดว่าในปี 2567 ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน หรือ ‘Food Delivery’ จะลดลงประมาณ 3.7% จากปี 2566 โดยเป็นผลจาก 2 เหตุผลหลัก ได้แก่

1.ความจำเป็นในการสั่งที่ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคกลับไปทานอาหารที่ร้าน ตามการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน และส่วนใหญ่ได้กลับมาทำงานเต็มสัปดาห์ตามปกติ

2.ราคาอาหารเฉลี่ยที่ปรับสูงขึ้นกระทบต่อปริมาณการสั่ง ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนสะสมที่สูงทำให้ร้านอาหารต้องปรับราคาขึ้นทั้งหน้าร้านและในแอปฯ

อย่างไรก็ดี ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองว่า แม้เทรนด์การสั่งอาหาร ‘Food Delivery’ จะมีทิศทางที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม ช่องทางนี้ยังสาคัญ เนื่องจากยังมีผู้บริโภคจานวนมากยังคงมีการใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จาเป็นอย่างเวลาเร่งด่วน หรือ Work From Home เป็นต้น นอกจากนี้ ช่องทางนี้ก็มีความสาคัญต่อธุรกิจร้านอาหารที่มีสัดส่วนรายได้จาก ‘Food Delivery’ สูงกว่าการให้บริการหน้าร้าน เช่น ร้านอาหารข้างทาง และร้านอาหารในกลุ่ม Fast Food

ที่มา : DBD, grab, scb, lineman, foodpanda, kasikornresearch, wikipedia

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #FoodDelivery #ธุรกิจFoodDelivery #บริการส่งอาหาร #ฟู้ดเดลิเวอรี่ #ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ #Delivery #Grab #Robinhood #LINEMAN #foodpanda