EV

เปิดข้อมูลยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เดือนมีนาคมถอยป้ายแดง 18,815 คัน

ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยช่วงต้นปี 2566 ค่อนข้างคึกคัก โดยคนไทยได้มีการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 2565 โดยเฉพาะ ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ 100% (BEV) ที่เดือนมีนาคมที่ผ่านมามียอดการจดทะเบียนสูงเกิน 5 เท่าตัว จากช่วงเดือนมีนาคมของปี 2565 ส่งผลให้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมเดือนมกราคม – มีนาคม 2566 พุ่งสูงถึง 21,052 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงปีที่แล้ว 624.93%

ครั้งนี้ ‘Business+’ ได้ทำการสำรวจข้อมูลยอดการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ในเดือนมีนาคม ซึ่งรวบรวมโดย สภาอุตสาหกรรมสามารถแบ่งตามประเภทได้ดังนี้

ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภทไฮบริด (HEV) เดือนมีนาคม 2566 จดทะเบียนใหม่จำนวน 8,828 คัน เพิ่มขึ้น 20.87% จากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งจำนวน 8,758 คัน ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนใหม่สะสมตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 จำนวน 24,436 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – มีนาคมปีที่แล้ว 43.56%

ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เดือนมีนาคม 2566 จดทะเบียนใหม่จำนวน 1,178 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว 8.68% ส่งผลให้เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 3,388 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – มีนาคมปีที่แล้ว 14.11%

ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภทแบตเตอรี่ (BEV) เดือนมีนาคม 2566 จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 8,809 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว 527.87% โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งจำนวน 6,205 คัน ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนใหม่สะสมตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จำนวน 21,052 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – มีนาคมปีที่แล้วร้อยละ 624.93%

จะเห็นได้ว่าเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคนไทยได้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอร์รี่ ซึ่งเพิ่มขึ้นมาถึง 5 เท่าตัว ซึ่งแบรนด์ที่ได้รับความนิยมและมียอดขายสูงสุดในปี 2565 คือ BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน ตามด้วย Tesla แบรนด์สัญชาติอเมริกัน และ NETA แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน

ทั้งนี้ในภาพรวมช่วงที่เหลือของปี ‘Business+’ มองว่าทิศทางของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 27 ล้านคันวิ่งบนถนนทั่วโลก และภายในปลายปีนี้ยอดถูกคาดการณ์ว่าจะพุ่งทะลุ 40 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นอีกราว 13 ล้านคันในปี 2566 ถึงแม้ว่ายอดรถยนต์ไฟฟ้ายังคิดเป็นเพียงแค่ 3% ของจำนวนรถยนต์ทุกประเภททั่วโลก แต่ก็จะได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ซึ่งหากมองย้อนไปเมื่อปลายปี 2563 โลกของเรามีรถยนต์ EV เพียงแค่ 1% ของรถยนต์ทุกประเภททั่วโลก และแนวโน้มการเติบโตจะเกิดขึ้นเพราะทั่วโลกต่างพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดให้ได้เร็วที่สุด จึงทำให้หลายประเทศต่างมีนโยบายสนับสนุนผู้ผลิตและผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ด้วยยุทธศาสตร์ผลักดันยานยนต์ EV อย่างเช่น ยุโรป กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับแผนสนับสนุนยานยนต์ EV ทั้งระบบ ส่วนประเทศจีน ใช้มาตรการส่งเสริมการแข่งขันแก่ผู้ผลิตยานยนต์ EV ในประเทศ

โดยประเทศที่มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลกคือ ‘นอร์เวย์’ ซึ่งสาเหตุที่ประเทศแห่งนี้มีคนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลกด้วยสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้าสะสม 87.1% เทียบกับไทยอยู่ที่ 1.2% (ข้อมูล พ.ค.2564) เกิดจากการที่นอร์เวย์มีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในช่วงปี 2533 ซึ่งทางรัฐบาลนอร์เวย์ได้เริ่มใช้มาตรการภาษีเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (CO2 Tax) และนำไปสู่การสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดด้วยเป้าหมายการเป็นประเทศแรกในโลกที่จะยกเลิกขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน โดยสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 100% ในปี 2025

ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐบาลนอร์เวย์มีมาตรการสนับสนุนที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น มาตรการขึ้นภาษีรถยนต์น้ำมัน รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นอกจากความน่าสนใจของมาตรการจูงใจแล้ว นอร์เวย์ยังได้พัฒนาและเพิ่มจุดบริการให้เพียงพอกับผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งตู้ชาร์จรถไฟฟ้าให้มากขึ้นในปั๊มน้ำมันบางจุด หรือเอาตู้จ่ายน้ำมันออกแล้วติดตั้งตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปแทนที่ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มจุดบริการชาร์จรถไฟฟ้าแบบสาธารณะ ทุก ๆ 50 กิโลเมตรบนถนนสายหลัก และยังสนับสนุนการติดตั้งจุดชาร์จตามครัวเรือนด้วย

ทีนี้มาดูมุมมองของนักวิเคราะห์กันบ้าง โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าในช่วงปี 2565-2566 รถยนต์สันดาปภายในจะยังครองตลาดในประเทศไทย รวมทั้งตลาดโลก ทำให้ตลาดชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวมจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในระยะสั้น แม้รถยนต์ BEV ในตลาดโลกจะเติบโตสูงจากแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักที่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งตลาดในประเทศที่ได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายของภาครัฐที่มีความชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ดี จากการประเมินของ Bloomberg New Energy Finance (BNEF) มองว่ากว่ารถยนต์ BEV จะมีสัดส่วนในตลาดโลกมากกว่า 40% ของรถยนต์เชื้อเพลิงทุกประเภทอาจต้องใช้เวลาจนถึงปี 2583 เช่นเดียวกันกับตลาดในประเทศที่ถึงแม้รถยนต์ BEV จะเติบโตได้ดี แต่ยอดขายในปี 2565-2566 ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% และ 2.4% ของยอดขายรถยนต์ทุกประเภทเท่านั้น

ดังนั้นหากมองไปข้างหน้า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศส่วนใหญ่คาดว่าจะยังคงเป็นรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle หรือ HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle หรือ PHEV) ซึ่งก็จะยังต้องใช้ชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์แบบสันดาปภายในควบคู่กับระบบไฟฟ้า แต่กระนั้น ในอนาคตจะมีชิ้นส่วนบางประเภท โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับระบบส่งกำลัง ซึ่งได้แก่ ระบบระบายความร้อน ระบบเครื่องยนต์ ระบบควบคุมไอเสีย และระบบเชื้อเพลิง ที่จะได้รับผลกระทบ

ที่มา : FTI ,สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #อุตสาหกรรมยานยนต์