ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ กับ 5 แนวทางที่จะนำไปสู่ ‘อุตสาหกรรมสีเขียว’

การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันไม่สามารถละเลยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ เพราะเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ และมีการรณรงค์อย่างจริงจัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายผู้ประกอบการ หรือตามองค์กรใหญ่ ๆ จะมีนโยบายที่เชื่อมโยงไปกับหลัก ESG เพราะการคำนึงถึงความยั่งยืนจะทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า และองค์กรก็จะเติบโตอย่างมั่นคง เนื่องจากนักลงทุนจะใช้ประกอบพิจารณาในการลงทุนสิ่งนั้น ๆ

สำหรับหลักแนวคิด ESG จะประกอบไปด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่

1.สิ่งแวดล้อม (Environmental) : ต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีความคุ้มค่า เกิดประโยชน์มากที่สุด และต้องส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

2.สร้างผลดีต่อสังคม (Social) : ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)

3.บริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล (Governance) : ทุกขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจต้องโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้

ทั้งนี้ในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักแนวคิด ESG ก็มีทั้งกลุ่มธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ดี และก็มีกลุ่มที่ต้องใช้ระยะเวลา หรืออาจจะยังไม่สามารถปฏิบัติได้ครบทุกข้อ เนื่องจากต้องอิงหลักความเป็นจริงของภาคธุรกิจ สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญความท้าทายอย่างมากกับการแข่งขันในตลาดที่ได้นำแนวทาง ESG มาเป็นส่วนหนึ่งนั้น ก็คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากรายงานของ IDTechEx ปี 2565 พบว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 4% ของสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้ให้เกิดมลพิษทางอากาศ และก่อให้เกิดการปล่อยสารเคมีอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

โดยจากข้อมูลของ The global e-waste monitor คาดการณ์ว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก 59.4 ล้านเมตริกตันในปี 65 มาอยู่ที่ 74.7 ล้านเมตริกตันในปี 73 หรือมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยราว 2 ล้านเมตริกตันต่อปี

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีความพยายามอย่างมากในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์รักษ์โลกที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งจากความท้าทายที่ต้องเผชิญทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ต้องมีการวางกลยุทธ์ที่ต้องมองการณ์ไกลไปอีกหลายช่วงปี รวมทั้งต้องวางกลยุทธ์ด้าน ESG อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ดีอ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ระบุว่า ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ควรมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับ Eco partner มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืนในอนาคต

สำหรับแนวทางกลยุทธ์ของผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ที่จะนำไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว พบว่ามี 5 ข้อ ดังนี้

1.เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Material selection) จะต้องต้องเป็นวัสดุที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำหรือเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่

2.วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน (Energy efficiency) เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและผ่านการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม

3.วางแผนการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม เพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์

4.สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ทั้งการลงทุนและการสนับสนุนให้มีการวิจัย และพัฒนาร่วมกันมากขึ้น

5.พัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับแนวโน้มการลงทุนในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต

สำหรับข้อมูลข้างต้นนี้อาจเป็นแนวทางให้กับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ หรือต้องการมุ่งเน้นวางแผนดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ESG เพื่อให้สามารถแข่งขันทางการตลาดได้อย่างกว้างขวาง และเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

.

ที่มา : SCB EIC

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/ 

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ESG #อุตสาหกรรมสีเขียว #อิเล็กทรอนิกส์