Elnino

ครึ่งปีหลัง ‘เอลนีโญ’ จะซัด 5 พืชเกษตรสำคัญของไทย! ‘ข้าว’ เสียหายหนักสุด 37,631 ลบ.

จากที่ ‘Business+’ ได้วิเคราะห์เอาไว้ในคอนเทนต์ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยแล้งที่จะฉุดเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ โดยในครั้งนั้นมีการคาดการณ์ว่า เอลนีโญ ฉุดผลผลิตเกษตรเสียหาย 7 หมื่นล้านบาท ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับเอลนีโญที่สร้างความร้อนและแห้งแล้งกว่าปกติ ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเริ่มต้นในครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยข้าวจะเป็นพืชเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และนอกจากพืชเกษตรแล้ว ด้านปศุสัตว์ และประมง อาจได้รับผลกระทบจากความร้อนแล้งด้วยเช่นกัน

โดยเดือนก.ค.2566 องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) พยากรณ์ว่า โอกาสเกิดเอลนีโญมีเพิ่มขึ้น และยกระดับการเตือนภัยเป็น El Nino Advisory โดยคาดว่าจะเกิดเอลนีโญมากถึง 90% และลากยาวไปถึงเดือนมี.ค.2567 ซึ่งสัญญาณความร้อนและแห้งแล้งจะชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่เดือนต.ค.2566 และส่งผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อนและน้ำฝนที่อาจลดลง

ซึ่งสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของเราในปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศที่ 50% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยพื้นที่ที่น่าห่วงที่สุดคือ ภาคกลาง ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำเพียง 19% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต รวมไปถึงพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย คือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดย เอลนีโญ ถูกคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อาจสร้างความเสียหายต่อพืชเกษตรสำคัญของไทย ที่จะมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงนี้ ประกอบด้วย ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ รวมคิดเป็นมูลค่าความเสียหายในปี 2566 ราว 48,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นความเสียหายในข้าวเป็นหลักที่ 37,631 ล้านบาท หรือเกือบ 80% ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด

ทั้งนี้ หากเทียบความเสียหายจากภัยแล้งที่มีต่อข้าวในอดีต พบว่า ภาพรวมความเสียหายของข้าวในปี 2566 น้อยกว่าในปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง ทั้งในเชิงมูลค่า และปริมาณผลผลิตข้าวที่เสียหาย แต่มากกว่าปี 2563 ที่เกิดภัยแล้งล่าสุด นอกจากนี้ ด้านปศุสัตว์ และประมง ก็อาจได้รับผลกระทบจากความร้อนแล้ง แต่ภาพรวมผลผลิตปศุสัตว์และประมงทั้งปีนี้ คงไม่ลดลงจากปีก่อนที่เผชิญโรคระบาดในสุกรอย่างโรค ASF

ขณะที่เมื่อมองไปในปี 2567 ตามที่ NOAA คาดว่า เอลนีโญจะทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าปี 2566 และอาจลากยาวไปถึงเดือนมี.ค.2567 เป็นอย่างน้อย ทำให้ไทยคงต้องเผชิญสถานการณ์น้ำที่ยากลำบากมากขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนที่สะสมมาจากปี 66 ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่น่าจะลดลง

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบของเอลนีโญที่มีต่อภาคเกษตรไทยในปี 2567 คงมีความรุนแรงขึ้น สร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพืชฤดูแล้ง ทั้งด้านปริมาณและจำนวนชนิดพืชที่เสียหาย ดันราคาให้อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจมีตัวเลขความเสียหายมากขึ้นกว่าปี 2566 คือมากกว่า 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความเสียหายที่มีต่อข้าวนาปรังเป็นหลัก เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังจะทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำในเขื่อนเป็นหลัก และปลูกมากในภาคกลางที่เผชิญระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต ผนวกกับผลผลิตต่อไร่ที่สูง ทำให้ความเสียหายคงมีมาก รวมไปถึงพืชฤดูแล้งอื่น อย่างมันสำปะหลัง และอ้อย ที่อาจได้รับความเสียหายชัดเจน

นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศโดยรวมที่ร้อนแล้งในปี 2567 อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปีในไตรมาสที่ 2 ด้วย ที่อาจปลูกไม่ได้ หรือมีผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง กดดันผลผลิตข้าวนาปี ทำให้ภาพรวมในปี 67 ความเสียหายของข้าวคงมีสูง เพราะมาจากทั้งข้าวนาปรังและนาปี ซึ่งอาจมีตัวเลขความเสียหายใกล้เคียงหรือมากกว่าปี 58 อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามระดับความรุนแรงของเอลนีโญในระยะข้างหน้า รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่จะส่งผลต่อประเภทพืชที่ได้รับความเสียหายด้วย

ผลกระทบเอลนีโญต่อผู้ประกอบการไทย

ปรากฏการณ์เอลนีโญ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยเพียงประเทศเดียว แต่ประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เช่น เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว อินเดีย ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญในโลก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล ดังนั้น ผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำ ที่ใช้วัตถุดิบต้นน้ำจากแหล่งผลิตในแถบเอเชีย อาจต้องเผชิญราคาสินค้าเกษตรในระดับสูง (จากปริมาณผลผลิตที่ลดลง) ขณะที่ประเทศในแถบอเมริกาใต้จะมีผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้กลับด้านกับบ้านเรา โดยจะมีปริมาณฝนที่มากกว่าปกติในช่วงเวลาเดียวกัน

ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะทำให้ ภาพรวมราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกจะยังคงยืนสูง จากปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบให้ต้องเผชิญราคาวัตถุดิบต้นน้ำที่อยู่ในระดับสูง และยังอาจเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยก็จะได้รับผลกระทบไปในทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดโลก โดยผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำของไทย จะได้ผลกระทบในระดับที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางธุรกิจและความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละราย จึงต้องกระจายความเสี่ยงและปรับการบริหารห่วงโซ่อุปทานให้ดี

ติดตามอ่านคอนเทนต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับภัยแล้งติดตามได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/el-nino/

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/