El Nino

‘ภัยแล้ง’ น่ากลัวกว่า ‘เงินเฟ้อ’ เอลนีโญ ฉุดผลผลิตเกษตร เสียหาย 7 หมื่นลบ.

ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก และยังมีบทบาทเป็นครัวโลก (Kitchen of the world) อีกด้วย สาเหตุเป็นเพราะไทยมีการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรหลากหลาย และยังสามารถป้อนผลผลิตมากเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและเหลือเพียงพอกับการส่งออก

ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาความมั่นคงทางอาหารของโลกเริ่มลดน้อยลง และยิ่งมีแรงกระตุ้นให้เกิดความขาดแคลนเร็วขึ้นหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะหลายประเทศเริ่มกักตุนอาหาร และรัสเซียกับยูเครนก็เป็นประเทศผู้ผลิตที่สำคัญในอุตสาหกรรมพลังงาน และธัญพืชเช่นกัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาทำให้ไทยเราได้รับอานิสงค์ในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโต ในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญ หรือครัวของโลก สอดคล้องกับข้อมูลที่ ‘Business+’ พบว่า อุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1 ล้าน 4 แสนล้านบาท เติบโตถึง 23%

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 เป็นต้นไป ไทยอาจจะไม่สามารถป้อนอาหารหรือผลผลิตทางการเกษตรได้เท่าเดิม เพราะในปี 2566 บ้านเราจะเจอกับภาวะภัยแล้ง ที่จะทำให้พืชผลทางการเกษตรของไทยลดลง โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

ซึ่งประเด็นนี้ ‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ วิเคราะห์เอาไว้ ว่า ช่วง COVID-19 เกิดปรากฎการณ์ลานีญา 3 ปีติดต่อกัน แต่ตอนนี้กลับมาเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย 0.7 องศา ถือว่าเข้าสู่เงื่อนไขเอลนีโญแล้ว และความน่ากลัวคือ สถานการณ์เอลนีโญพัฒนาตัวมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า มีโอกาสจะเกิดเอลนีโญในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยในช่วงปี 2566 – 2571 จะเกิดปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ในปี 2568  ภาคใต้จะแล้งรุนแรง และในปี 2571 จะเกิดความแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง

สอดคล้องกับฝ่ายวิจัยส่วนใหญ่ที่มีการคาดการณ์กันว่าปี 2566 ไทยเสี่ยงจะเจอปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้หลายเสี่ยงเจอกับปัญหาภัยแล้ง ที่จะกระทบต่อน้ำอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในที่สุด ซึ่งจากข้อมูลก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่าภัยแล้ง เป็นหนึ่งในตัวการที่ฉุดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)

นอกจากนี้ยังมีการประเมินจาก ‘บลูมเบิร์ก’ ว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาทั่วประเทศในฤดูมรสมปีนี้ อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 10% และคาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมกับเตือนว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเป็นวงกว้างนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ‘อูเบน พาราคูลเลส’ นักวิเคราะห์จากบริษัทโนมูระ โฮลดิงส์แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารรายใหญ่ โดยผลผลิตที่ได้นั้นมีการบริโภคภายในประเทศเพียงครึ่งเดียว ดังนั้นรัฐบาลควรใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อจะลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในระยะใกล้ ควบคู่ไปกับการควบคุมราคาและใช้นโยบายอุดหนุนในด้านต่าง ๆ

หันมาดูนักวิเคราะห์จากไทยกันบ้าง โดยทาง ‘วิจัยกรุงศรี’ คาดว่าพืชที่อ่อนไหวต่อภัยแล้งและปริมาณน้ำที่ลดน้อยลง ประกอบด้วย ข้าวนาปรังและมันสำปะหลัง จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในปี 2566 ขณะที่ปี 2567-2568 ผลกระทบเชิงลบจะเริ่มขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นในพืชสำคัญหลายชนิด เช่น อ้อย ข้าวโพด ผลไม้ ไม้ยืนต้น ซึ่งพืชบางประเภทสามารถส่งผลกระทบอุตสาหกรรมปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจได้ราว 5 หมื่นล้านบาท (ในกรณีฐาน) คิดเป็น 0.29% ของ GDP และเสียหายได้มากถึง 7.8 หมื่นล้านบาท หรือ 0.45% ของ GDP เลยทีเดียว

‘Business+’ มองว่า ในขณะที่หลายๆ ประเทศกำลังรับมือกับเงินเฟ้อที่รุนแรงนั้น ในประเทศไทยจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เพราะเงินเฟ้อของไทยเริ่มชะลอตัวลง ล่าสุดในเดือน ก.ค.2566 ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (CPI) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดค่าครองชีพสำคัญ เท่ากับ 107.83 ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.23% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการชะลอตัวติดต่อกัน 6 เดือน ซึ่งการจัดอันดับอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของไทยเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูล ณ พ.ค.66) เราถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ (ต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข นั่นคือ ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม)

แต่ภาวะภัยแล้งนั้น จะอยู่กับไทยไปอีกนานกว่า 3 ปีเป็นอย่างต่ำ ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรของไทย รวมไปถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้มากกว่า ดังนั้น ทางภาครัฐจึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านสาธารณูปโภคของไทยอย่างเร่งด่วน อย่างเช่นการกักเก็บน้ำ และการวางแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับการใช้ในปีที่เกิดภัยแล้งให้ดี

นอกจากภัยแล้งแล้ว สภาพอากาศของโลกที่ผันผวนก็ยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นอย่างมาก โดยคอนเทนต์ก่อนหน้านี้เราได้วิเคราะห์ในแง่มุมของภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนเอาไว้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/climate-change/

ที่มา : BOT ,IQ , วิจัยกรุงศรี , Bloomberg, โนมูระ โฮลดิงส์

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/