การศึกษาไทย

เปิดแนวรุก การศึกษาไทย เน้นพัฒนาบัณฑิต-ทักษะคนทำงาน แก้เกมแรงงานไม่ตอบโจทย์

การที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นคำว่าประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ภายใต้ THAILAND 4.0 ประเทศไทยต้องการกำลังของคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะวิชาชีพเฉพาะด้านที่ตอบโจทย์ความต้องการโลกธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศในหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ


ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของภาคการศึกษาในยุคนี้จึงอยู่ที่การสร้างคน ให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาดังกล่าว เพราะในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีอาจทำให้แรงงานกว่า38 ล้านคนได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงน้องใหม่ที่ภารกิจไม่ธรรมดา ขานรับการพัฒนาบัณฑิตและพัฒนาทักษะคนทำงาน ให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

โดยจะอัดงบงานวิจัยเพิ่มเป็น 2.8 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจประเทศ มั่นใจสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเป็น 4.4 ล้านล้านบาท ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า

“ภารกิจสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือ การเตรียมประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 โดยมีภารกิจสำคัญสาม เรื่อง คือ 1. การสร้างและพัฒนาคน 2. การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ และ 3.การสร้างและพัฒนานวัตกรรม

ทั้งนี้การสร้างและพัฒนาคน อว.ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการผลิตบัณฑิตจำนวน 2.5 ล้านคนต่อปีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องขยายไปถึงคนที่อยู่ในการทำงาน ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการทำงานเดิม (Re-skill Up-skill) เพราะโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน แรงงานที่มีอยู่กว่า 38 ล้านคน มีบางส่วนที่อาจตกงาน และต้องมีการเปลี่ยนงานจากผลกระทบดังกล่าว

ขณะเดียวกันยังต้องร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อการศึกษาและเรียนรู้ของคนสูงวัยจำนวน 11 ล้านคน ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวไม่ใช่แค่เพียงการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นหลักสูตรที่ตอบโจทย์อาชีพ เช่น บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเรียนการสอนในระบบ Degree แต่มี Non-degree ด้วย”

การศึกษาไทย

สำหรับการสร้างองค์ความรู้ การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ ซึ่งการลงทุนวิจัยและพัฒนา 5 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วน 0.48% ต่อ GDP ปัจุบันได้ขยับขึ้นเป็น 1.1% ต่อ GDP และจะเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่อง โดยภายใน 5 ปี ซึ่งควรขยับจาก 1.1% เป็น 1.5% ต่อ GDP หรือ 280,000 ล้านบาท โดยงบวิจัย 80% จะมาจากเอกชน เป็นตัวคูณสมทบเพิ่มไปอีก 4-5 เท่า ของงบวิจัยภาครัฐ 24,000 ล้านบาท

โดยมุ่งเน้นว่าการวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ โจทย์เอกชน โจทย์จากชุมชน โดยแบ่งงานเป็น 4 ส่วน คือ 1) การพัฒนาคน (Brain power และ Man power) 2) การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 3) การลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาพื้นที่ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก และ 4) การวิจัยตอบโจทย์ท้าทายสังคม เช่น ปัญหาขยะ ภาวะโลกร้อน
“สิ่งสำคัญของงานวิจัยคือต้องมีเป้าหมาย ไม่ใช่ต่างคนต่างทำจนเป็นเบี้ยหัวแตก แต่จะต้องตอบโจทย์ประเทศ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้เน้นเศรษฐกิจ BCG ซึ่งรวมด้านเกษตร อาหาร การแพทย์ สุขภาพ พลังงาน วัสดุชีวภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สร้างมูลค่าได้ 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% GDP และจะขยับเป็น 4.4 ล้านล้านบาท ใน 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งประชาชน 18 ล้านคน จะได้ประโยชน์ เช่น จากการยกระดับเกษตรกรเป็น Smart farming การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สร้างงานเพิ่มขึ้น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมคือการยกเครื่องมหาวิทยาลัย ซึ่งภารกิจที่ผ่านมา คือ การเดินหน้าปลดล็อกข้อจำกัดของมหาวิทยาลัย แบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 Track หรือ ลู่วิ่ง มหาวิทยาลัยจะตอบตัวเองว่าจะวิ่งลู่ไหน ได้แก่

ลู่วิ่งที่ 1 มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้แข่งนานาชาติ/ระดับโลก
ลู่วิ่งที่ 2 มหาวิทยาลัยซึ่งเน้นเทคโนโลยีและภาคอุตสาหกรรม
ลู่วิ่งที่ 3 ซึ่งต่อไปจะมีความสำคัญมาก คือ มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: กฤษฎาพร วงศ์ชัย  (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่

Digital Transformation