E-commerce ไทย กับโอกาสครั้งใหญ่ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและสุขภาพ กินสัดส่วนกว่า 60% ลาซาด้าโตระเบิด ครึ่งปีแรกรายได้รวมทะลุ 14,675 ล้านบาท

ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาหลายคนคงทราบกันดีว่า ตลาด E-commerce ทั่วโลกและไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการค้าบางอย่างที่จะเติบโตขึ้น รวมถึงอาจต้องมีบางอุตสาหกรรมที่จะหดตัวลงเช่นกัน เส้นทางไหนที่อนาคตจะไปต่อ มาเช็คไปพร้อมกัน

.

เรียกว่าเป็นปรากฎการณ์ในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ ที่ตลาด E-commerce ในประเทศไทยปี 2563 มียอดการเติบโตมากถึง 80% จากปีก่อนหน้า (ขยายตัวกว่า 7 เท่าในรอบ 7 ปี) ด้วยมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท หรือ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

.

เพราะด้วยปัจจัยสถานการณ์โควิด-19 ที่คนต้องกักตัวอยู่บ้านมากขึ้น รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ  ทำให้หลายร้านค้าจึงต้องหยุดให้บริการร้านหน้า ส่งผลทำให้มูลค่าค้าปลีกหน้าร้าน (store-based retail) หดตัวลงถึง 11%

.

อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย และการเติบโตของ E-commerce ในไทย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมในระยะสั้น ตามการรายงานของ KKP Research 

.

.

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้  E-commerce เติบโตขึ้นได้นั้น มาจาก

  •  การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในไทยเพิ่มมากขึ้น 

เพราะสัญญาณอินเตอร์ที่ดี ความเร็วสูง ราคาถูก และครอบคุมทั่วถึงมากขึ้นเท่าไหร่ การเข้าถึง E-commerce ก็จะมากขึ้นเท่านั้น 

.

  • ปริมาณการใช้ social networks ในชีวิตประจำวัน

ด้วยพฤติกรรมการใช้ social media ที่เข้มข้นของคนไทย ทำให้รูปแบบการเชื่อมต่อและเข้าถึง E-commerce เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะรูปแบบ Online Chat เช่น LINE หรือ Facebook Messenger คาดว่า Social-Commerce อาจมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของตลาด E-commerce ในไทยอีกด้วย 

.

  • การใช้ Online Payments อันดับ 1 ของโลก

ประเทศไทยยมีการใช้บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile banking) ติดอันดับ 1ของโลก นำไปสู่อันดับ 2 ของโลกในเรื่องการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile payments) ในสัดส้วน 45% และ 68% ตามลำดับ จึงไม่แปลกใจที่การช้อปปิงออนไลน์ถึงหลื่นไหล รวดเร็ว ต่อเนื่องได้แบบไม่มีสะดุด และทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

.

ด้วยปัจจัยและแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรม E-commerce นี้เอง ที่ทำให้ในปี 2563 ที่ผ่านมามีหลายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องพลอยได้ผลกระทบเชิงบวกไปด้วย ทั้ง

  • คลังสินค้า (Warehouse) ที่มีความต้องการพื้นที่รองรับสินค้าที่มากขึ้นถึง 86%
  • ขนส่ง (Logistics) ที่มีการขยายตัวของธุรกิจถึง 31.3% 
  • บรรจุภัณฑ์ (Packaging) สำหรับใช้ในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ ที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 20% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจมากขึ้น
  • สื่อโฆษณาออนไลน์ (Digital advertising) ที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 23% ของมูลค่าสื่อโฆษณาทั้งหมด ซึ่งมากกว่า 50% ของโฆษณาออนไลน์ในไทยจะอยู่บน Facebook และ YouTube  

.

รวมถึงในระยะต่อไป สินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดอาหารและสุขภาพ จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน E-commerce ในไทย ในสัดส้วนมากถึง 60%

.

สวนทางกันกลับธุรกิจบางกลุ่มที่อาจต้องได้รับผลกระทบ เช่น ค้าปลีกดั้งเดิมที่มีหน้าร้าน (Store-base retail) การขายหรือให้เช่าพื้นที่เพื่อพาณิชย์ (Commercial rent) ร้านอาหารขนาดใหญ่ (เนื่องจากผู้บริโภคใช้บริการ Food delivery มากขึ้น) และสื่อดั้งเดิม (TV หนังสือพิมพ์ Billboard)

.

.

ทีนี่เราเปิดดูโปรไฟล์บริษัท E-commerce รายใหญ่ของไทยกันหน่อยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมามีผลงานอย่างไรกันบ้าง

.

  • บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด

รายได้รวม 5,812 ล้านบาท        

กำไรสุทธิ ขาดทุน -4,170 ล้านบาท

.                                                                                                                           

  • บริษัท ลาซาด้า จำกัด

รายได้รวม 10,011 ล้านบาท        

กำไรสุทธิ ขาดทุน -3,988 ล้านบาท

— *สำหรับครึ่งปีแรก 2564* —

รายได้รวม 14,675 ล้านบาท        

กำไรสุทธิ 226 ล้านบาท

.

  • บริษัท ดีเอฟ มาร์เก็ตเพลส จำกัด (kaidee.com)

รายได้รวม 116 ล้านบาท        

กำไรสุทธิ ขาดทุน -176 ล้านบาท

.

ซึ่งถึงแม้ Shopee จะยอดขาดทุนสูง และขาดทุนต่อเนื่องทุกปี แต่ก็ถือว่า Shopee นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้เข้ามากที่สุดในไทย ด้วยจำนวนมากถึง 51 ล้านราย ตามมาด้วย Lazada 33 ล้านราย และ Kaidee 11 ล้านราย

.

.

ยุคหลังจากโควิด-19 จะเป็นอย่างไรต่อ?

.

เรียกได้ว่าตลาด E-commerce ของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน (อันดับหนึ่งคือ อินโดนีเซียที่มีขนาดใหญ่กว่าไทย 4 เท่า) และถือว่ายังคงมีสัดส่วนค้าปลีกออนไลน์น้อย และการใช้จ่ายออนไลน์ต่อหัวยังไม่มากเมื่อเทียบกับในกลุ่มอาเซียน (เฉลี่ยประมาณ  216 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7,020 บาท ต่อคนต่อปี)

.

อย่างไรก็ตามผลการสำรวจจาก Tofugear ระบุว่าร้อยละ 45 ของผู้บริโภคทั่วเอเชีย มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในโลกออนไลน์มากขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แบ่งเป็น อันดับหนึ่ง จีน 76% ตามมาด้วย อินเดีย 60% อินโดนีเซีย 48% และไทย 43% (อันดับที่หก)

.

สะท้อนให้เห็นโดยรวมแล้วว่า ตลาด E-commerce ในไทยแม้ไม่ได้มีตลาดขนาดใหญ่ แต่ในอนาคตอันใกล้ปัจจัยและแนวโน้มที่เข้ามาสนับสนุนการเติบโตนี้ ดูมีทิศทางที่สดใสและน่าจับตามอง ซึ่งหากใครจับทางทันก็ถือเป็นผลดีกับนักลงทุนและผู้ประกอบการในการคว้าโอกาสครั้งนี้

.
.
.
ข้อมูลอ้างอิง : KKP Research / etda / datawarehouse / ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เขียนและเรียบเรียง : ธนัญญา มุ่งสันติ
.
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ร้านค้าออนไลน์ #ค้าปลีกออนไลน์ #Ecommerce