Depa ผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย เข้าสู่โลก 4.0

หากจะพูดถึงหนึ่งในองค์กรที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันให้ประเทศไทย ผู้ประกอบการไทย และคนไทยทุกระดับสามารถฝ่าฟันอุปสรรคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก ซึ่งมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวนำได้ เชื่อว่าชื่อของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จะเป็นชื่อแรกที่คนนึกถึง 

ภายใต้ภารกิจผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และความมั่นคงของประเทศต่อไป

ทำให้ในวันนี้ทาง ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มีภารกิจใหญ่หลวงในการเป็นหนึ่งเครื่องจักรสำคัญเพื่อพาประเทศ สังคม และคนไทยก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ เพื่อเดินหน้าเข้าสู่โอกาสอันยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

โดย ผศ.ดร.ณัฐพล เผยว่า จนถึงตอนนี้ depa ก็มีอายุกว่า 4 ปีแล้ว เริ่มจากไม่มีอะไรเลย ค่อย ๆ ทำกันไป โดยเน้นผลักดัน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่

  1. แผนผลักดันส่งเสริมสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ต้องเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เราเชื่อว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนดิจิทัลแมนพาวเวอร์ (Digital Manpower) โดยแบ่งออกเป็น ความรู้ด้านดิจิทัลของประชาชน (Digital Literacy of People) ที่จำเป็นต้องรู้และเตรียมตัวให้ทัน โดยทำอยู่บนพื้นฐานที่ต้องไม่เป็นภาระของรัฐ และร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำงาน ซึ่งจะทำให้คนมีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน
  1. มุ่งเน้นที่จะเพิ่มคนในสาขาที่กำลังขาดแคลน ซึ่งถ้าเราจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เราก็ต้องเร่งสร้างคนเพื่อปูพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ไปจนถึงทักษะระดับมืออาชีพที่จะเป็นเรื่องสำคัญในระดับกลางและยาว
  1. เตรียมความพร้อมระบบเศรษฐกิจที่เป็น Real Sector ของเรา อย่าง GDP ของไทย 10 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตรที่มีอยู่ 6-7 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยพวกเขามีผลิตภาพที่ค่อนข้างต่ำ จะทำอย่างไรให้ดิจิทัลเข้าไปช่วยเพื่อเปลี่ยนผ่านรูปแบบการทำงานของพวกเขาเพื่อสร้างรายได้ต่อไป
  1. ด้าน Enterprise ของไทยทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ เช่น พวกบริษัท นิติบุคคล กลุ่มนี้จะมีเงินในระดับหนึ่ง เพราะเป็นบริษัทจำกัดแล้วหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งถ้าเขาจะอยู่รอดได้จะต้องเปลี่ยนจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างระบบกระบวนการการทำงานแบบใหม่ ซึ่งเราจะพยายามสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มนี้ ส่วนกลุ่มนอกระบบก็คือ หาบเร่-แผงลอย ตลาดสด ร้านค้าทั่วไป อันนี้ก็สำคัญเช่นกัน เพราะพวกเขาเจอกับวิกฤต COVID-19 ที่เข้ามาดิสรัปชันตรงนี้ ถ้าพวกเขาไม่มีความรู้ดิจิทัลก็จะล้าหลังและเข้าถึงรายได้ลำบากทันที

New Wave Industry

ผศ.ดร.ณัฐพล บอกว่า ทุกวันนี้พยายามสนับสนุนสตาร์ตอัปกลุ่ม Digital Service ซึ่งเป็นหนึ่งใน Sector ของอุตสาหกรรมดิจิทัลผ่านวิธีการทำงานของ depa ที่นอกจากไปในฐานะผู้ให้ทุนอย่าง Angel Fund แล้ว เราก็สร้างโอกาสที่ 2 คือการทำให้กลุ่มสตาร์ตอัปมาเจอกับกลุ่มธุรกิจหาบเร่-แผงลอย ตลาดสด ร้านค้าทั่วไป และเอสเอ็มอี เพื่อให้พวกเขาจับคู่ทางธุรกิจกัน โดยทาง depa รับความเสี่ยงให้

โดยเราการันตีว่าสตาร์ตอัปที่เราร่วมลงทุนจะมีความเข้มแข็งพอ หรือเกษตรกรที่จะเลือกบริษัทสตาร์ตอัปที่ขึ้นทะเบียนกับเรา ก็สามารถเลือกได้โดยสะดวก เกิดการแข่งขันโดยเสรี และทำให้เกิดตลาดใหม่ขึ้น รวมไปถึงการผลักดันให้กลุ่มสตาร์ตอัปเหล่านี้เข้าสู่ตลาดภาครัฐต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นไปด้วย ซึ่งตอนนี้ก็มีความสำเร็จบ้างแล้ว

ขณะที่เรื่องกำลังคนตอนนี้เราก็พยายามทำเท่าที่ความสามารถเราจะมี ขณะที่การขับเคลื่อนประเทศเราก็พยายามผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น นอกจากอุตสาหกรรมบริการที่เราให้ความสำคัญแล้ว ก็ยังมีอุตสาหกรรมเกม แอนิเมชัน และดิจิทัลคอนเทนต์ด้วย กลุ่มนี้ถือเป็นอุตสาหกรรมที่เราละเลยไป แต่มีมูลค่ามหาศาล อยู่ที่ 20,000–30,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเรากำลังพยายามจะผลักดันอุตสาหกรรมกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นบริการประเภทหนึ่ง เพราะมีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

อีกเรื่องคือการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม นอกจากเราจะพัฒนากำลังคนและเศรษฐกิจของประเทศแล้ว เราจะลืมชุมชน 80,000 กว่าชุมชนในประเทศคงไม่ได้ เราก็จะนำชุมชนเหล่านี้มาเชื่อมต่อกับโลกเสมือน โดยใช้บริการจากสตาร์ตอัปของเราตามที่ชุมชนต้องการให้เหมาะสมไปตามแต่ละบริบท

สำหรับชุมชนที่อยู่ในโลกเสมือนแล้ว เราจะสอดแทรก Change Agent เข้าไปในกลุ่มโลกเสมือนเหล่านี้ สมมติว่าเป็นชุมชนผู้สูงอายุ เราก็จะเอาผู้สูงอายุ 1 คนเข้ามาเรียนรู้เพื่อให้เขานำเอาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความรู้ทางไซเบอร์ รูปแบบการจู่โจมทางไซเบอร์ ไปบอกต่อกับผู้สูงอายุในกลุ่มที่เขาอยู่ ซึ่งตรงนี้จะสร้างกระแสผลกระทบเชิงบวกที่เพิ่มขึ้นหลายเท่า และทำให้สังคมในโลกเสมือนเกิดการเรียนรู้ขึ้น แต่จำเป็นต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นกว่าตอนนี้

ขณะที่อีกเรื่องก็คือการวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศไทย เราใช้การผลักดันเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เข้ามาดึงดูดนักลงทุน ซึ่งไม่ใช่แค่ความเจริญในแง่ผู้อาศัยเท่านั้น แต่จะต้องเป็นแหล่งที่เจริญและมีแรงดึงดูดต่อนักลงทุนและสตาร์ตอัปทั่วโลก ในการเข้ามาลงทุนต่อยอดธุรกิจ ซึ่งตรงนี้จะช่วยขับเคลื่อนภาพรวมของประเทศในภาพใหญ่ต่อไป

นอกจากนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างเทคโนโลยีท้องถิ่นกับเทคโนโลยีต่างชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ในเมืองอัจฉริยะ เรื่องนี้จึงกลายเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน และประชาชน

ตอนนี้มีการส่งเสริมอยู่ 40 เมืองในประเทศไทย ซึ่งถ้าผ่านเกณฑ์การขับเคลื่อนก็จะถูกประกาศให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ นั่นจะทำให้เมืองเหล่านี้ได้รับสิทธิพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นภาษีจากทาง BOI หรือแม้แต่อาจจะลงไปขับเคลื่อนตั้งแต่แผนงานงบประมาณในอนาคตจากรัฐบาล ตรงนี้ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของแต่ละเมือง

โดยหลักเกณฑ์ก็มีตั้งแต่ การกำหนดเป้าหมายของเมือง การวางโครงสร้างพื้นฐาน การออกแบบข้อมูลของเมืองทุกเมือง ซึ่งต้องมี City Data Platform หรือแม้แต่การคัดเลือก Solution ในแต่ละ Smart ทั้ง 7 Smart ไม่ว่าจะเป็น Smart Economy, Smart People, Smart Living, Smart Environment และอื่น ๆ ตามลำดับ

นอกจากนี้ depa พยายามผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในระดับอาเซียน อย่างเช่น โครงการ Thailand Digital Valley ที่เสนอเข้าไป แน่นอนในระยะสั้นอาจยากที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น แต่ก็เพื่อเป็นการเปิดช่องทางให้ทุกคนรู้ว่าเมืองไทยเราก็มีโอกาส และมีช่องว่างในการเข้ามาลงทุนด้านนี้เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ Smart City แต่ยังมีภาคการเกษตรและภาคบริการอื่น ๆ อีกมากมาย เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้ลงทุนรู้สึกว่าที่แห่งนี้เหมาะสม ทั้งในแง่กฎเกณฑ์ สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ต้องเอื้ออำนวย ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นได้

การแก้ปัญหาคนขาดแคลน

ด้านปัญหาขาดแคลนคนของประเทศไทย ทาง ผศ.ดร.ณัฐพล เผยว่า ปัญหาการสร้างคนของประเทศเรา คือลืมดูความต้องการที่แท้จริงว่าคืออะไร เราสร้างคนให้อยู่แต่ในรูปแบบ Physical จนคนก้าวไม่ทันต่อโลกของเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโลกแบบเวอร์ชวลหรือโลกเสมือน (Virtual) มากกว่า เราจำเป็นต้องผสมสองอย่างเข้าด้วยกัน เราต้องเปลี่ยนแนวทางโดยการสร้างคนให้เหมาะกับขนาดตลาด ซึ่งจะอยู่ที่ 20,000 คนต่อปี

เราใช้การดูว่าตลาดต้องการคนกลุ่มไหน เช่น AI, Robotic และ Data Science เราต้องรู้ให้ได้ว่าใครต้องการ ตัวอย่างเช่น มีบริษัทเอต้องการคน แต่เด็กไทยมีไม่พอกับจำนวนที่ขาดแคลนนั้น เราจึงมีการพูดคุยกันว่า คุณพร้อมจะจ้างเขาไหม โดยคุณต้องจ่ายเงินเดือน ซึ่งถ้าทางนั้นพร้อม depa ก็พร้อมจะสนับสนุนหลักสูตรเพื่อสอนเด็กเหล่านี้ ซึ่งทางบริษัทเอต้องการ

เมื่อปี 2020 เราได้พัฒนาคนในสาย Robotic และสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) ซึ่งเด็กเหล่านี้อาจจะเรียนอยู่ปี 3 และไม่รู้เรื่องเลยในเชิงอุตสาหกรรม ถ้าบริษัทเหล่านั้นเอาเด็กปี 2 ปี 3 ออกไปทำงานเลย ให้บริษัทจ้างเลย โดยระหว่างทำงานบริษัทเหล่านั้นจ้างโดยจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่ง และ depa จ่ายอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งเหมือนเป็นค่าของความไม่รู้ในเรื่องของเทคโนโลยีช่วงแรกของการทำงาน เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ และนั่นทำให้เด็กเกิดการจ้างงานทันที ทำให้พวกเขาเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย และในมุมหนึ่งมันคือการเปลี่ยนรูปแบบการสอนของประเทศไทย โดยทาง depa หาหลักสูตรมาจากบริษัทชั้นนำของโลกแล้วมอบให้กับเด็ก ๆ ในมหาวิทยาลัยทั้ง 30 คนได้เรียน

ตรงนี้ทำให้นักลงทุนหรือบริษัทชั้นนำได้โอกาสในการลงทุนและขายของได้ ทำให้ภาคเอกชนได้คนที่เหมาะสมกับงานของตัวเอง เด็กก็ได้เรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นของโลกอนาคต ทำให้เขาไม่เสียเวลาไปกับการเรียนสิ่งที่จะไม่ได้ใช้ และสุดท้ายก็ต้องมาเรียนใหม่อีกรอบ เพราะหลักสูตรการศึกษาเดิมตามโลกไม่ทัน มันคือการสร้างโอกาสทางการศึกษารูปแบบใหม่ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเกิดการเติบโต และเกิดการพัฒนาประเทศต่อไป