ตลาดเครื่องมือแพทย์ยังเนื้อหอม SCGP ปิดดีลซื้อบริษัทจาก ‘สเปน’ ดันกำไรเพิ่ม 629 ลบ. คาดคืนทุนใน 5 ปี

จากแผนการขยายเข้าสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่ได้แย้มมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ล่าสุดก็สามารถปิดจ๊อบโปรเจค ด้วยการส่งบริษัทย่อย อย่างบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ปิดดีลเข้าซื้อหุ้น Deltalab, S.L ( Deltalab) ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเทศสเปน จำนวน 85% เป็นที่เรียบร้อยตามแผนที่เคยแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดย SCGP เข้าไปถือหุ้น Deltalab ผ่านบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เฮลธ์แคร์ แพคเกจจิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCGP อีกทอดหนึ่ง (SCGP ถือหุ้น 100%) จดทะเบียนในประเทศสเปน ดีลนี้ซื้อขายกันรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 84.9 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,270 ล้านบาท จะดำเนิน ซึ่งภายหลังการซื้อขายที่เสร็จสิ้นแล้ว SCGP จะเริ่มบันทึกผลประกอบการของ Deltalab, S.L ในงบการเงินรวมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

มาทำความรู้จัก Deltalab กันสักหน่อย
บริษัทแห่งนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงในยุโรป มีผลิตภัณฑ์กว่า 15,000 หน่วย (SKU) และปริมาณการผลิต 250 ล้านชิ้นต่อปี โดยมีการส่งออกสินค้าหลายรายการไปยัง 125 ประเทศทั่วโลก

ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564) Deltalab มีรายได้ 84.3 ล้านยูโร (ประมาณ 3,245 ล้านบาท) และมีกำไรจากธุรกิจหลักหลังหักภาษีประมาณ 19.3 ล้านยูโร (ประมาณ 740 ล้านบาท) มีสินทรัพย์อยู่ที่ 44.7 ล้านยูโร (ประมาณ 1,720 ล้านบาท) ธุรกรรมการเข้าซื้อครั้งนี้ มีขนาดรายการเท่ากับร้อยละ 1.6 ของมูลค่าของสินทรัพย์รวมตามงบการเงินรวมของ SCGP สิ้นสุด ณ วันที่30 กันยายน 2564

โดย SCGP คาดหวังว่าการลงทุนใน Deltalab จะช่วยยกระดับฐานลูกค้าและผลิตภัณฑ์ของ SCGP รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการสู่ระดับโลก และยังสามารถผนึกกำลังทางธุรกิจผ่านประสบการณ์และองค์ความรู้ของกลุ่มธุรกิจในการผลิตกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้อง

ทีนี้เรามาดูข้อมูลผลประกอบการของ SCGP กันสักหน่อย และมาลองคำนวณแบบกำปั้นทุบดินกันว่า ดีลนี้จะสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทได้มากน้อยแค่ไหน และคืนทุนในระยะเวลาเท่าไหร่

หากคำนวนแบบกำปั้นทุบดินจากสัดส่วนที่ ‘อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลธ์แคร์ แพคเกจจิ้ง’ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCGP เข้าไปถือหุ้น 85% เท่ากับว่า ‘อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลธ์แคร์ แพคเกจจิ้ง’ จะบันทึกรายได้และกำไรของ Deltalab เข้ามาทั้งหมด 100% และหักลบ 15% ที่เหลือออกไป (ทางบัญชีเรียกว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) เรียกการบันทึกบัญชีแบบนี้ว่า Acquisition mwthod

ทาง ‘Business+’ จึงประเมินกำไรจาก Deltalab ที่ ‘อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลธ์แคร์ แพคเกจจิ้ง’ จะบันทึกเข้ามาคือราว ๆ 629 ล้านบาท

และการที่ ‘อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลธ์แคร์ แพคเกจจิ้ง’ เป็นบริษัทย่อยของ SCGP (ถือหุ้น 100%) จะทำให้ SCGP บันทึกรายได้และกำไรจาก ‘อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลธ์แคร์ แพคเกจจิ้ง’ ได้ทั้งหมด 100% เช่นกัน

ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2565 ที่จะมีการบันทึกรายได้และกำไรจาก Deltalab เต็มปี ก็จะทำให้ SCGP มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นปีละ 629 ล้านบาท เท่ากับว่า ดีลนี้จะคืนทุนภายใน 5 ปีกว่า ๆ นั่นเอง คำนวนจากมูลค่าเข้าซื้อ 3,270 ล้านบาท บนเงื่อนไขที่ Deltalab สามารถทำกำไรให้กับ SCGP ได้ปีละ 629 ล้านบาท (ยังไม่รวมอัตราดอกเบี้ย และข้อจำกัดอื่น ๆ)

เท่ากับว่า SCGP จะมีรายได้ปี 2565 อยู่ที่ 96,633.33 ล้านบาท (รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 93,388.33 ล้านบาท)

และมีกำไรสุทธิ 7,086.48 ล้านบาท (กำไรปี 2563 ที่ 6,457.48 ล้านบาท) (กำไรต่อหุ้นราว ๆ 1.65 บาทต่อหุ้น คำนวนจาก จำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลท. 4,292,920,200 หุ้น)

แต่อย่าลืมว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทในกลุ่มเครื่องมือแพทย์สามารถทำรายได้และกำไรสุทธิสูง มาจากสาเหตุความต้อการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พุ่งขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจจะผ่านจุดพีคไปแล้ว เพราะต่อจากนี้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้อัตราการติดเชื้อ และผู้ป่วยน้อยลง ดังนั้น ดีมานด์ของอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็อาจจะลดน้อยลงตามไปด้วย

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET , Deltalab,SCGP

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #SCGP #SCC #อุปกรณ์การแพทย์