ความท้าทายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โลก ที่ต้องหันมารักสิ่งแวดล้อม ด้วยการยกเครื่องการผลิตใหม่

มลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่มนุษย์เราหันมาสนใจมากขึ้น เพราะประกอบไปด้วย ฝุ่น ควัน ส่งผลให้ร่างกายของมนุษย์เราป่วยง่ายขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ยังกระทบต่อพืช สัตว์ และสินทรัพย์ต่าง ๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษสูงเป็นลำดับต้น ๆ ก็หนีไม่พ้น ‘อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์’ นั่นเอง ซึ่งการผลิตปูนซีเมนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงโดยการผลิตปูนซีเมนต์จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นสัดส่วน 6-7% ของการปล่อย CO2 ในภาพรวมของโลกเลยทีเดียว ทั้งนี้ กระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ จำเป็นจะต้องใช้ปฏิกิริยาการเผาไหม้ในหม้อเผาที่ต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ทำให้เราจำเป็นจะต้องทำการควบคุมกระบวนการเผาไหม้ ให้สัดส่วนของเชื้อเพลิงและอากาศเหมาะสม ลดอากาศส่วนเกินนั่นเอง

ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลกได้วางเป้าหมายร่วมกันในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในแนวที่ว่าจะสามารถควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 ประกอบเข้ากับเรื่องของ‘คาร์บอนเครดิต’ หรือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ที่วัดว่าแต่ละองค์กรสามารถลดได้เท่าไหร่ต่อปี และหากองค์กรใดปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์จะถูกตีราคาเป็นเงิน พร้อมทั้งจะสามารถขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้ แต่เรื่องของคาร์บอนเครดิตในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงตามที่กำหนดไว้ได้

เพราะในขณะเดียวกันนั้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังต้องการใช้ปูนซีเมนต์ปริมาณมากในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ และพัฒนาบ้านเมือง ทำให้บางประเทศอาจจะต้องซื้อเครดิตจากประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ ถ้าหากเรามาดูเฉพาะการผลิตปูนซีเมนต์ จะพบว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งทาง McKinsey คาดการณ์ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้นราว 1.1 เท่า จาก 3.8 พันล้านตันในปี 2020 หรือจะสูงเป็น 4.3 พันล้านตันภายในปี 2050

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้เราคงเห็นแล้วว่านี่ถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมปูซีเมนต์ เพราะจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ

โดยทาง EIC วิเคราะห์ทางออกของเรื่องนี้ไว้ว่า
1.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จำเป็นจะต้องปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตและใช้พลังงานในโรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น Ultratech ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของอินเดีย ที่ติดตั้งระบบการแปลงความร้อนจากการเผาวัตถุดิบเพื่อผลิตปูนเม็ด ไปเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงงาน

2. การใช้พลังงานทางเลือกทดแทนถ่านหินในสัดส่วนที่มากขึ้นเช่น พลังงานขยะ พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยใช้พลังงานทางเลือกอยู่แล้วกว่า 5-10% ในปี 2021 และคาดว่าจะหันมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

3. มองหาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์รักษ์โลก (Low carbon cement : LC2) ด้วยการลดสัดส่วนปูนเม็ด และใช้วัสดุอื่นทดแทน เช่น หินปูน แคลเซียมคาร์บอเนต ฝุ่นจากเตาเผาปูนเม็ด ซึ่งจะสามารถช่วยให้การผลิตปูนซีเมนต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะปกติแล้วการผลิตปูนเม็ดที่เป็นส่วนประกอบหลักนั้น ทำให้ปูนซีเมนต์มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 60% ของการผลิตทั้งหมดเลยทีเดียว

ท้ายที่สุดแล้ว ‘Business+’ สรุปได้ว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนตทั่วโลกจำเป็นจะต้องปรับตัวให้เข้ากับการรักสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น และลดการผลิตแบบที่เปลืองทรัพยากร ไปพร้อม ๆ กับการเร่งผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการ เพราะในอนาคตข้างหน้าการค้าระหว่างประเทศในส่วนของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ความดีมานด์ทั่วโลกนั่นเอง

 

ที่มา : EIC, tris, scgsustainability

 

เขียนและเรียบเรียง : อโญศิริ สุระตโก

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

 

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ปูนซีเมนต์ #อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โลก