Chocolate

เพราะชีวิตขาดหวานไม่ได้! สาวก ‘ช็อกโกแลต’ อาจจ่ายแพงขึ้น หลัง ‘เอลนีโญ’ กระทบผลผลิต

ช็อกโกแลต (Chocolate) คือ ขนมหวานชนิดหนึ่ง เป็นผลิตผลที่ได้มาจากเมล็ดของต้นโกโก้เขตร้อน ปัจจุบันผลโกโก้มีการปลูกกระจายอยู่ในหลายประเทศ แต่กว่าจะมาเป็นแท่งหรือในรูปแบบอื่น ๆ ก็ต้องมีส่วนผสมน้ำตาลและส่วนผสมอื่น ๆ ร่วมด้วย ช็อกโกแลตถือเป็นส่วนผสมของของหวานหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ไอศกรีม ลูกอม คุกกี้ เค้ก เป็นต้น นับเป็นขนมหวานที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และครองใจคนเกือบทั้งโลก แต่ทั้งนี้สาวกช็อกโกแลตอาจจะเกิดการสั่นคลอนหากต้องมีการจ่ายเงินซื้อเพิ่มขึ้น นั่นเป็นเพราะว่า ช็อกโกแลต มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ (El Nino)

ปรากฏการณ์ เอลนีโญ คืออะไร? ทำไมทั่วโลกถึงต้องให้ความสนใจ

‘เอลนีโญ’ คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ถือเป็นการแปรปรวนของระบบภูมิอากาศที่ทรงพลังที่สุดในโลก ทำให้เกิดสภาพอากาศที่เลวร้าย หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับวิกฤตภัยแล้ง ซึ่งประเทศที่แห้งแล้งอยู่แล้วก็จะแห้งแล้งมากกว่าปกติ กระทบไปถึงการขาดแคลนน้ำที่ต้องใช้อุปโภคบริโภค และสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือภาคเกษตรกรจะได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก อาจทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและอาจได้รับความเสียหายจำนวนมาก

โดยจุดเชื่อมโยงระหว่างราคาช็อกโกแลตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็คือ ผลผลิตที่น้อยลง ต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อ้างอิงข้อมูลจากนีลเซนไอคิว (NielsenIQ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้านการบริโภค ระบุว่า ราคาช็อกโกแลตพุ่งขึ้น 14% ในปี 2565 ขณะที่บริษัทวิจัยตลาดอีกหลายแห่งคาดการณ์ว่า ราคาช็อกโกแลตจะพุ่งขึ้นอีก เนื่องจากภาวะขาดแคลนโกโก้ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตช็อกโกแลต

ทั้งนี้นักวิเคราะห์จากเอสแอนด์พี โกลบอล คอมโมดิตีส์ ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนในแอฟริกาตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกโกโก้ขนาดใหญ่นั้น ลดลงต่ำกว่าระดับเฉลี่ย โดยประเทศโกตดิวัวร์ (ไอวอรีโคสต์) และกาน่า มีการเพาะปลูกโกโก้ในอัตราส่วนสูงกว่า 60% ของการผลิตโกโก้ทั่วโลก

โดยตลาดโกโก้มีแนวโน้มจะเผชิญภาวะขาดแคลนต่อไปอีกในฤดูกาลหน้าซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมปี 2566 ไปจนถึงเดือนกันยายนปี 2567 ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาโกโก้ในตลาดล่วงหน้าทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดถึง 3,600 ดอลลาร์/ตัน

นอกจากนี้การพุ่งขึ้นของราคาน้ำตาล และเนยโกโก้ (Coco butter) ซึ่งเป็นอีกส่วนประกอบที่สำคัญนั้น จะยิ่งทำให้ราคาช็อกโกแลตแพงขึ้นด้วย โดยข้อมูลจากมินเทค (Mintec) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านอาหารระบุว่า ราคาเนยโกโก้พุ่งขึ้นถึง 20.5% นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ขณะที่ราคาน้ำตาลทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปีในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

สำหรับราคาน้ำตาลที่มีการปรับขึ้นก็เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญเช่นกัน เนื่องจากสภาพอากาศจะแห้งแล้งในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในประเทศไทย อินเดีย จีน และสหภาพยุโรป ซึ่งไทยถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และไทยก็อยู่ในแถบเอเชียซึ่งภูมิภาคนี้จะเกิดภาวะแห้งแล้งเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ยังไม่พิจารณาส่งออกน้ำตาลจนถึงช่วงครึ่งแรกปี 2567 เนื่องจากกังวลว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนตกน้อยลง และการผลิตลดลง ซึ่งเหตุการณ์นี้คาดจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ในมุมมองของ ‘Business+’ แนวโน้มที่ราคาช็อกโกแลตจะมีการปรับตัวขึ้นมีโอกาสเป็นไปได้สูง หากปรากฏการณ์เอลนีโญยังทวีความรุนแรง ซึ่งสภาพอากาศที่แห้งแล้งจะส่งผลต่อการปลูกอ้อยได้น้อยลงและจะกระทบต่อผลผลิตน้ำตาลทั้งในไทยและอินเดีย และอาจกระทบต่อการเก็บเกี่ยวอ้อยในบราซิล

อีกทั้งโกโก้อยู่ในภาวะที่ขาดแคลน ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้บริโภคที่ต้องรับมือกับราคาที่แพงขึ้น แต่ทางผู้ผลิตเองก็ต้องรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทั้งในเรื่องของราคาพลังงาน ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นต้น สุดท้ายนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกด้วย เนื่องจากภาคการผลิตจะต้องเผชิญกับภาวะแห้งแล้ง และสภาพอากาศที่ไม่ปกติในบางภูมิภาค ทำให้ผลผลิตอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน

.

ที่มา : IQ, Reuters

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #Chocolate #ช็อกโกแลต