อัปเดตเงินอุดหนุนบุตรปี 2567 ‘ไทย-เนปาล’ ต่ำสุดในเอเชีย!

หลายประเทศทั่วโลกอาจกำลังเผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ อัตราจำนวนประชากรเกิดใหม่ที่มีน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งจำนวนการเกิดที่น้อยลงเริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสนี้จำนวนมาก ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มออกนโยบายกระตุ้นการมีบุตรเพื่อให้คนหนุ่มสาวสร้างครอบครัว และผลิตประชากรป้อนให้กับประเทศ เพื่อให้ยังคงมีทรัพยากรแรงงานที่มีคุณภาพ

ซึ่งนโยบายหลักของแต่ละประเทศจะเป็นในเรื่องของการสนับสนุนเงินตามช่วงอายุของเด็ก โดยจะเริ่มตั้งแต่แรกเกิด จนถึงช่วงที่สามารถสื่อสารได้ เพราะการสนับสนุนด้วยเงินเรียกได้ว่าเข้าถึงง่ายที่สุด และถือเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ดำรงชีวิต สำหรับการกระตุ้นให้ประชากรเกิดความรู้สึกร่วมอยากสร้างครอบครัวและมีบุตร ถือเป็นความท้าทายหน้าที่ของรัฐบาลแต่ละประเทศเป็นอย่างมาก

สำหรับในปี 2567 ทาง ‘Business+’ ได้มีการสำรวจนโยบายกระตุ้นการมีบุตรของเมืองหรือประเทศที่มีอัตราจำนวนการเกิดที่น้อยลงจากทั้งหมด 48 ประเทศของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยที่จัดทำโครงการนโยบายเงินอุดหนุนบุตรอย่างเป็นรูปธรรม หมายถึง มีการแสดงรายละเอียดอย่างชัดเจนถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ ช่วงอายุ รวมไปถึงมีการดำเนินการแจกจ่ายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พบว่า ไทย และเนปาลเป็นประเทศที่ให้เงินสนับสนุนเลี้ยงดูบุตรน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

ไทย : ภาครัฐออกโครงการ ‘เงินอุดหนุนบุตร’ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 6 ปี โดยจะช่วยออกค่าเลี้ยงดูบุตรให้คนละ 600 บาท/เดือน ซึ่งเด็กต้องอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (สมาชิกในครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี) สำหรับเงินอุดหนุน 600 บาท

เกาหลีใต้ : ในปี 2567 รัฐบาลเกาหลีใต้เพิ่มแรงกระตุ้นให้มีอัตราการเกิดที่มากขึ้น โดยจะเพิ่มเงินสมทบอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดจะได้รับเงิน 1 ล้านวอน/เดือนในปีแรก (ราว 26,593 บาท) จากเดิม 7 แสนวอน และ 5 แสนวอน/เดือนในปีที่สอง (ราว 13,296 บาท) จากเดิม 3.5 แสนวอนในปี 2566 รวมเป็น 18 ล้านวอนในช่วงสองปีแรก นอกจากนี้รัฐจะช่วยอีก 1 แสนวอน/เดือน (ราว 2,659 บาท) เป็นเวลา 8 ปี รวมเป็น 9.6 ล้านวอน เท่ากับรัฐช่วยสนับสนุนเลี้ยงดูบุตรนาน 10 ปี รวมทั้งสิ้น 27.6 ล้านวอน (แปลงจากค่าเงิน ณ วันที่ 31 ม.ค.2567 อยู่ที่ 0.027 บาท)

ญี่ปุ่น : รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมยกเลิกเพดานรายได้สำหรับครอบครัวที่ได้รับเงินสงเคราะห์การเลี้ยงดูบุตร และจะขยายความคุ้มครองไปยังเด็กที่อยู่ในชั้นระดับมัธยมปลาย โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 ที่จะเริ่มต้นในเดือนเมษายน ซึ่งจะสนับสนุนเงินจำนวน 15,000 เยน (ราว 3,603 บาท) ตั้งแต่เด็กแรกเกิด-2 ปี และเด็กตั้งแต่อายุ 3 ปีจนถึงมัธยมปลายจะได้เงินอุดหนุน 10,000 เยน (ราว 2,402 บาท) (แปลงจากค่าเงิน ณ วันที่ 31 ม.ค.2567 อยู่ที่ 0.24 บาท)

สิงคโปร์ : เด็กที่เกิดก่อนหรือหลังวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 จะได้รับเงินรวมทั้งสิน 11,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 291,247 บาท) สำหรับลูกคนแรกและคนที่สอง ส่วนลูกคนที่สามจะได้รับ 13,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยจะแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ จนกว่าจะอายุถึง 6 ปีครึ่ง สำหรับวันแรกของการเกิดจะได้รับ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 79,440 บาท), อายุครบ 6 เดือน 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 39,715 บาท), อายุครบ 12 เดือน 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 39,715 บาท), อายุครบ 18 เดือน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 26,477 บาท) และเด็กอายุ 2-6 ปีครึ่ง จะได้รับ 400 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 10,590 บาท) ทุก ๆ 6 เดือน (แปลงจากค่าเงิน ณ วันที่ 31 ม.ค.2567 อยู่ที่ 26.48 บาท)

ไต้หวัน : สนับสนุนเงินเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ดอลลาร์ไต้หวัน/เดือน (ราว 5,667 บาท) โดยจะมีเงินชวยเหลือเพิ่มเติมหากเป็นคนที่สองจะอยู่ที่ 6,000 ดอลลาร์ไต้หวัน/เดือน (ราว 6,796 บาท) และบุตรคนที่สาม 7,000 ดอลลาร์ไต้หวัน/เดือน (ราว 7,929 บาท) (แปลงจากค่าเงิน ณ วันที่ 31 ม.ค.2567 อยู่ที่ 1.13 บาท)

เนปาล : ปัจจุบันเงินสนับสนุนเลี้ยงดูบุตรของประเทศเนปาลครอบคลุม 40% ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีแต่มีเพียงแค่ 9.5% ของเด็กทั้งหมดในประเทศที่ได้รับสวัสดิการนี้ โดยรัฐจะจ่ายให้เดือนละ NPR 532 (142 บาท) จนครบอายุ 5 ปี (แปลงจากค่าเงิน ณ วันที่ 31 ม.ค.2567 อยู่ที่ 0.27 บาท)

สำหรับนโยบายกระตุ้นการมีบุตรของแต่ละประเทศมีการกำหนดขอบเขตอายุการดูแลที่แตกต่างกันตามความหมาะสม ขณะที่เงินสนับสนุนก็อาจจะอิงจากปัจจัยหลายอย่างของภาพรวมภายในประเทศ อย่างเช่น ภาวะเงินเฟ้อ ค่าบริการรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้นอกเหนือจากเงินก็ต้องมีการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เช่นกัน เพราะต้องมีหลายองค์ประกอบเป็นแรงจูงใจ และต้องคุ้มค่า ถึงแม้อาจจะมีการสนับสนุนที่มาก แต่คนรุ่นใหม่ก็จะมองสถานการณ์ของตนเองเป็นหลัก เนื่องจากการเลี้ยงดูหนึ่งชีวิตมีค่าใช้จ่ายแฝงที่ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังไม่อยากเพิ่มภาระให้กับตนเองด้วย รวมไปถึงเมื่อมองดูสภาพแวดล้อม สังคมที่เป็นอยู่ในทุกวันอาจจะคิดว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้บุตรได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

สุดท้ายนี้ก็เป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพราะเงินอย่างเดียวคงไม่พอ อาจจะต้องมีการปรับภูมิทัศน์ ปลูกฝังในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติม อย่างเช่น เรื่องกฎหมายในเด็ก การลาคลอด เพราะการที่ประเทศมีอัตราการเกิดที่น้อยลงถือเป็นปัญหาระดับชาติ

.

ที่มา : PPTV, koreatimes, Xinhua, income, Executive Yuan, hrw.org

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/ 

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #เอเชีย #ไทย #เกาหลีใต้ #ญี่ปุ่น #สิงคโปร์ #เนปาล #เงินอุดหนุนบุตร