‘Boeing’ จากยุครุ่งเรืองสู่ช่วงตกต่ำ วิบากกรรมจาก Boeing 737-MAX

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เคยเดินทางด้วยเครื่องบิน หรือได้ยินข่าวสารเกี่ยวกับเครื่องบิน คงจะคุ้นหูกับชื่อของ ‘Boeing’ เป็นอย่างดี เพราะเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยานรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก แต่อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้ การปรากฏชื่อของ ‘Boeing’ บนหน้าสื่อต่าง ๆ กลับไม่ใช่เรื่องดีนัก เมื่อผู้ผลิตที่ได้ชื่อว่าเป็นเบอร์หนึ่งของโลก กลับถูกสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ของสหรัฐฯ สั่งระงับการบินเครื่องบิน ‘Boeing 737-MAX’ ทุกลำที่ทำการบินในเขตแดนสหรัฐฯ จำนวนกว่า 171 ลำ หลังเครื่องบินรุ่นเดียวกันนี้ของสายการบิน ‘Alaska Airlines’ เกิดเหตุชิ้นส่วนบริเวณผนังเครื่องบินหลุดกลางอากาศ ซึ่งเหตุการณ์สุดระทึกที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน ‘Boeing 737-MAX’ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่เป็นเพียงอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความผิดพลาดของการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้จากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เคยขึ้นก่อนหน้านี้เท่านั้น

โดยนอกจากจะโดนสั่งระงับการบินแล้ว เครื่องบินรุ่น ‘Boeing 737-MAX’ ยังสร้างปัญหาให้กับผู้ผลิตอย่าง ‘Boeing’ อีกหลายด้านจนกลายเป็นบาดแผลขนาดใหญ่ ทั้งด้านผลประกอบการที่ตกต่ำ, ราคาหุ้นที่ดิ่งลง ไปจนถึงการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ที่เมื่อนับรวมกันแล้วสามารถกล่าวได้ว่าเครื่องบินรุ่น ‘Boeing 737-MAX’ เปรียบเสมือนเป็น “วิบากกรรม” ของ ‘Boeing’ เลยทีเดียว

วันนี้ Business+ จะพาทุกท่านย้อนวันวานไปยังจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของ ‘Boeing’ ไปจนถึงการเผชิญชะตากรรมภายหลังการส่งเครื่องบินรุ่น ‘Boeing 737-MAX’ ออกสู่ตลาด


กำเนิด
‘Boeing’
‘Boeing’ ก่อตั้งโดย ‘William Boeing’ ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1916 และเปิดตัวบริษัทในปี 1919 ต่อมาได้ควบรวมกิจการกับ ‘Pratt & Whitney’ ในปี 1925 ซึ่งต่อมาในปี 1934 ‘Boeing’ ได้ย้ายการดำเนินงานไปยังเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐฯ และได้มีการจัดระเบียบบริษัทใหม่เป็นรูปแบบองค์กรในรัฐเดลาแวร์ สหรัฐฯ ในปี 1969

ปัจจุบัน ‘Boeing’ เป็นหนึ่งในบริษัทด้านการบินและอวกาศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีพนักงานมากกว่า 150,000 คนทั่วโลก และดำเนินงานในกว่า 65 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องบินพาณิชย์และอากาศยานทางการทหาร รวมถึงยุทโธปกรณ์ และชิ้นส่วนยานอวกาศ

จุดเริ่มต้นฝันร้ายจาก Boeing 737-MAX
‘Boeing’ ประกาศการพัฒนาเครื่องบินรุ่น ‘Boeing 737-MAX’ ในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2011 และเปิดตัวครั้งแรกที่โรงงานผลิตของ ‘Boeing’ ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2015 ซึ่งต่อมาได้ทำการบินครั้งแรกในวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2016

อย่างไรก็ดี หลังจาก ‘Boeing 737-MAX’ ทำการบินเชิงพาณิชย์ได้เพียงไม่นาน ก็เกิดอุบัติเหตุที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมขึ้นติดกันถึง 2 ครั้ง ในระยะเวลาห่างกันเพียง 5 เดือนเท่านั้น โดยเริ่มจาก

  • เดือนตุลาคม 2018 สายการบิน Lion Air เที่ยวบิน JT610 ประสบอุบัติเหตุตกหลังขึ้นบินจากสนามบินเมืองจาร์กาต้า อินโดนีเซีย ได้เพียง 11 นาที โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 189 ราย
  • เดือนมีนาคม 2019 สายการบิน Ethiopian Airlines เที่ยวบิน ET302 ประสบอุบัติเหตุตกหลังขึ้นบินจากสนามบินเมืองแอดดิสอาบาบา เอธิโอเปีย ได้เพียง 6 นาที ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 157 ราย

ซึ่งภายหลังการเกิดอุบัติเหตุถึง 2 ครั้งในเวลาเพียงไม่นาน ส่งผลให้ในขณะนั้นหลาย ๆ ประเทศได้ออกคำสั่งระงับการบินของเครื่องบินรุ่น ‘Boeing 737-MAX’ ทันที อาทิ สหรัฐฯ, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, จีน, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย สิงคโปร์, อินเดีย, เวียดนาม และไทย

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2023 ได้ปรากฏข่าวที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินรุ่น ‘Boeing 737-MAX’ ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการสะกิดแผลเก่าของผู้ผลิตอย่าง ‘Boeing’ เมื่อเครื่องบินของ ‘Alaska Airlines’ จำเป็นต้องขอลงจอดฉุกเฉิน หลังบินขึ้นจากเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน เพื่อเดินทางไปยังเมืองออนแทรีโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่เครื่องบินกำลังไต่ระดับความสูงที่ 16,000 ฟุต (4,876 เมตร) เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุชิ้นส่วนบริเวณผนังหลุดกลางอากาศ โดยเที่ยวบินดังกล่าวมีโดยสารและลูกเรือจำนวน 177 คน และถึงแม้ว่านักบินจะสามารถนำเครื่องบินลงจอดที่พอร์ตแลนด์ได้อย่างปลอดภัย แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ส่งผลให้เครื่องบินรุ่น ‘Boeing 737-MAX’ ถูกสั่งระงับการบินอีกครั้ง

วิบากกรรมซ้ำเติม
ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินรุ่นเจ้าปัญหาอย่าง ‘Boeing 737-MAX’ ไม่ได้มีเพียงแค่การถูกสั่งระงับการบินเท่านั้น แต่ยังกระทบกับผู้ผลิตอย่าง ‘Boeing’ ในหลายด้าน ได้แก่

  1. ผลประกอบการลดลง

โดยในไตรมาส 1 ปี 2019 ‘Boeing’ รายงานผลการดำเนินงานมีกำไรลดลง 13.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018 คิดเป็นตัวเงินราว 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากยอดขายที่ลดลง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการระงับการส่งมอบเครื่องบินโดยสาร ‘Boeing 737 Max’ หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินรุ่นดังกล่าวตกสองครั้งในอินโดนีเซียและเอธิโอเปียในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน

  1. การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

ภายหลังการเกิดอุบัติเหตุทั้ง 2 ครั้ง ในปี 2018 และ 2019 ส่งผลให้ ‘Boeing’ ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสายการบิน รวมไปถึงการชดเชยให้กับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งต่อมาในปี 2021 ‘Boeing’ ได้ตกลงจ่ายเงินกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อยุติการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ต่อกรณีเหตุการณ์ดังกล่าว โดยรายงานระบุว่า การจ่ายเงินยุติคดีดังกล่าวประกอบด้วย เงินค่าปรับคดีอาญา 243.6 ล้านดอลลาร์, เงินชดเชยให้แก่สายการบินที่ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX จำนวน 1.77 พันล้านดอลลาร์ และเงินสำหรับการจัดตั้งกองทุนผู้รับผลประโยชน์ของผู้โดยสารที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อชดเชยแก่ทายาท ญาติพี่น้อง และผู้รับผลประโยชน์ทางกฎหมายของผู้โดยสารที่เสียชีวิตทั้งหมดจำนวน 346 ราย

  1. ชื่อเสียงลดฮวบ

ผลสำรวจความคิดเห็นของ ‘Morning Consult’ เปิดเผยว่า ชื่อเสียงของ ‘Boeing’ กำลังตกต่ำอย่างมากในเดือนนี้ โดยคะแนนความไว้วางใจสุทธิในกลุ่มผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ลดลงถึง 12% ทั้งนี้ คะแนนความไว้วางใจสุทธินี้คำนวณโดยนำจำนวนผู้ที่เชื่อใจในแบรนด์มาลบจำนวนผู้ที่บอกว่าไม่ไว้วางใจออก โดยเป็นผลการสำรวจความคิดเห็นระหว่างเดือนธันวาคม 2023 ถึงเดือนมกราคม 2024 ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 170,000 ราย นอกจากนี้ ความไว้วางใจสุทธิยังลดลงในกลุ่มผู้ที่เดินทางบ่อยและนักเดินทางเพื่อธุรกิจอีกด้วย

  1. ราคาหุ้นดิ่งลง

ทุกครั้งที่มีข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ ‘Boeing 737 Max’ มักส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น ‘Boeing’ อยู่เสมอ เช่น

– เกิดแรงเทขายหุ้น ‘Boeing’ อย่างต่อเนื่อง ภายหลังการเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก 2 ครั้งที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน ‘Boeing 737 Max’ ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยแตะระดับสูงสุดที่ 440 ดอลลาร์/หุ้น ในช่วงต้นปี 2019 ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/หุ้นในปี 2020

– ภายหลัง FAA สั่งระงับการบินของเครื่องบินรุ่น ‘Boeing 737 Max’ ในวันที่ 6 มกราคม 2024 ราคาหุ้น ‘Boeing’ ปรับตัวลดลงกว่า 8.63% สู่ระดับ 227.50 ดอลลาร์/หุ้น ในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในวันที่ 8 มกราคม 2024

ทั้งนี้ จากเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ ‘Boeing’ ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากการทำงานที่ผิดพลาดของเครื่องบินรุ่น ‘Boeing 737 Max’ ทำให้เห็นว่า ความซื่อสัตย์ของผู้ผลิตที่มีต่อผู้บริโภค ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการทุกรายควรคำนึงถึง เพราะหากเกิดความผิดพลาดแม้เพียงครั้งเดียว ก็สามารถสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ให้กับบริษัทได้ เพราะกรณีของ ‘Boeing 737 Max’ นั้น ได้มีบทสัมภาษณ์จาก ‘เดวิด พี เบิร์นส์’ รักษาการผู้ช่วยอัยการสูงสุด ได้ระบุว่าเหตุเครื่องบินตกทั้ง 2 ครั้งของเที่ยวบินที่ 610 ของสายการบิน ‘Lion Air’ และเที่ยวบินที่ 302 ของสายการบิน ‘Ethiopian Airlines’ นำมาซึ่งการเปิดเผยข้อมูลการปกปิดและการหลอกลวงของพนักงาน ‘Boeing’ โดยพนักงานของ ‘Boeing’ เลือกรับผลประโยชน์มากกว่าความซื่อสัตย์ โดยปกปิดข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญกับสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) เกี่ยวกับการทำงานของเครื่องบิน ‘Boeing 737 Max’ และมีส่วนในความพยายามปกปิดการหลอกลวงดังกล่าว

ที่มา : InfoQuest, skilling, BBC, thaipublica, voathai

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus  #Boeing #Boeing737MAX #โบอิ้ง #โบอิ้ง737แม็กซ์ #เครื่องบิน #อุบัติเหตุการบิน #หุ้น