‘สุเวทย์ ธีรวชิรกุล’ ผู้ผลักดันธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “ทุกอย่างเป็นไปได้”

“ผมทำงานอยู่บนหลักความคิดที่ว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ เริ่มจากการเปิดใจลองศึกษาและลงมือทำก่อนที่จะปฏิเสธว่าเป็นไปไม่ได้”
หากจะพูดถึง MBK ภาพจำในหัวของคนทั่วไปคงหนีไม่พ้น ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่อยู่คู่กับย่านปทุมวันมาอย่างยาวนานถึง 37 ปี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแท้จริงแล้ว MBK ไม่ได้มีเพียงแค่ศูนย์การค้าเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจในเครือถึง 8 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจกอล์ฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน ธุรกิจการประมูล และศูนย์สนับสนุนองค์กร
โดยมีแม่ทัพใหญ่อย่าง ‘คุณสุเวทย์ ธีรวชิรกุล’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังคอยขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทั้งการมองเห็นโอกาสที่มากกว่าคนอื่น และการมีแนวคิดที่แสนจะเรียบง่ายแต่เปี่ยมล้นไปด้วยพลัง คือการมองให้ “ทุกอย่างเป็นไปได้”
คุณสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกุญแจสำคัญที่ส่งให้องค์กรสามารถผ่านพ้นทุกวิกฤต และยังคงยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้ คือการมองเห็นโอกาสมากกว่าคนอื่น เช่น ในช่วงของวิกฤตต้มยำกุ้งที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นวงกว้าง ในขณะที่ MBK ยังคงมีเงินอยู่ในมือค่อนข้างแข็งแรง จึงได้พาบริษัทเข้าไปอยู่ในธุรกิจบริหารหนี้เสีย
โดยเริ่มต้นด้วยการรับซื้อหนี้เสียมาบริหารและนำมาซึ่งสินทรัพย์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งสนามกอล์ฟที่เป็นผลพวงจากการรับซื้อหนี้เสียมาบริหารในครั้งนั้น นับเป็นใบเบิกทางที่สำคัญที่ช่วยส่งให้บริษัทก้าวเข้าสู่ธุรกิจอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
หรือแม้กระทั่งในช่วงของการแพร่ระบาด COVID-19 แม้จะมีความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจไปบ้าง เนื่องจากธุรกิจในเครือส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่บริษัทยังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยการบริหารสภาพคล่องเป็นหลัก เน้นการรักษาเงินที่มีอยู่ในมือให้มั่นคง และไม่มีการเข้าลงทุนใด ๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี บริษัทได้ถือโอกาสนี้ในการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจโรงแรมในเครือในช่วง COVID-19 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีผู้เข้าพัก เนื่องจากการปรับปรุงโรงแรมต้องใช้ระยะเวลาเป็นจำนวนมาก และอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ในช่วงเวลาปกติ
นอกจากนี้ ด้วยความที่บริษัทดำเนินธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ในช่วงภาวะวิกฤต COVID-19 แม้ธุรกิจที่เคยทำรายได้ให้แก่บริษัทมากเป็นอันดับหนึ่งอย่างธุรกิจศูนย์การค้าจะได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ธุรกิจการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ ทั้งสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทมากขึ้น นำมาซึ่งการประคับประคองให้บริษัทยังคงไปต่อได้แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
ด้วยเหตุนี้ การแสวงหาโอกาสและการมองเห็นโอกาสมากกว่าคนอื่น จึงถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่ส่งให้ MBK ยังคงยืนหยัดมาได้อย่างยาวนาน และยังคงเดินหน้าต่อไปท่ามกลางการผลัดเปลี่ยนของยุคสมัย
แนวคิดสำคัญในการบริหารธุรกิจของหัวเรือใหญ่แห่ง MBK
คุณสุเวทย์ได้ถ่ายทอดแนวคิดที่สำคัญในการบริหารธุรกิจของ MBK ให้เดินหน้าไปได้ในทุก ๆ สถานการณ์ นั่นคือการมองทุกอย่างให้ “เป็นไปได้” โดยเริ่มจากการเปิดใจลองศึกษาและลงมือทำก่อนที่จะปฏิเสธว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถมองเห็นโอกาสได้มากยิ่งขึ้น
กลยุทธ์การบริหารองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนสไตล์ MBK
สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนสำหรับ MBK คือ ทรัพยากรบุคคล โดยบริษัทได้นำเอาวัฒนธรรมองค์กรเข้ามาเป็นสื่อกลาง ในการบริหารพนักงานของบริษัทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะให้บุคคลภายนอกสามารถจดจำได้ว่าเป็นบุคลากรของ MBK ภายใต้สโลแกน ‘MBK YES’ ประกอบด้วย
M = Modern ทันสมัย ปรับเปลี่ยนได้ สามารถเข้าใจเทคโนโลยีพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รู้จักปรับตัว ไม่หยุดนิ่ง
B = Belief น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ ต้องสร้างตนเองให้มีความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นจากลูกค้า ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
K = Key’s มีคำตอบที่หลากหลาย เสนอตัวเลือกหรือทางเลือกเพื่อเป็นคำตอบที่หลากหลายให้แก่ลูกค้าได้เสมอ ด้วยการจัดหาสินค้าและการบริการเพื่อตอบสนองความต้องการได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก
Y = You เข้าใจลูกค้า ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เข้าใจและเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าเป็นอันดับแรก โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ทั้งลูกค้าภายในและภายนอก ด้วยการใส่ใจ สังเกตรายละเอียด รับฟัง เรียนรู้พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แม้จะเป็นรายละเอียดเพียงเล็กน้อย
E = Easy-Going เป็นมิตร เข้าถึงง่าย สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานด้วยความเป็นมิตร สามารถเข้าถึงหรือติดต่อได้ง่าย ไม่ซับซ้อน สะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง
S = Style แตกต่าง โดดเด่น และน่าจดจำ มีความคิดเชิงรุก โดดเด่น และแตกต่างจากคู่แข่ง สามารถพัฒนารูปแบบการทำงาน สินค้า การบริการ และคนในองค์กรได้อย่างสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์และโดดเด่นอย่างชัดเจน จนทำให้ลูกค้าสามารถจดจำและนึกถึงองค์กรของเราก่อนผู้อื่นเสมอ
สำหรับบุคลากรระดับผู้บริหาร จะต้องมีหลักเพิ่มเติมอีก 4 ข้อ ได้แก่
• Agility เป็นบุคคลที่ยืดหยุ่นได้ ปรับตัวได้
• Digital Innovation ต้องมีความเข้าใจและเข้าถึง Digital ไม่ปิดกั้นตัวเอง
• Systematic Decision Making มีการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ
• Coaching & Developing Others สอนงานเป็น สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคลากรภายในองค์กรได้
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับบุคลากรในทุก ๆ Generation อย่างเท่าเทียมกัน โดยได้มีการพัฒนาองค์กรให้บุคลากรในแต่ละ Generation สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น
โดยคุณสุเวทย์ย้ำว่า MBK เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดูแลทรัพยากรบุคคลเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยความเชื่อที่ว่าหากมีการบริหารจัดการบุคลากรได้ดี ก็จะนำมาซึ่งการผลักดันให้ธุรกิจไปต่อได้เช่นกัน
แผนการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้
คุณสุเวทย์ได้ทิ้งท้ายในส่วนของแผนการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ว่า ธุรกิจเดิมที่มีอยู่ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในบางสิ่ง เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยบริษัทได้นำเอา Big data เข้ามาใช้ในการสำรวจและเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มความสามารถในการทำงานที่มากขึ้นด้วยจำนวนบุคลากรที่น้อยลง
อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลเป็นหลัก โดยจะนำเอาเทคโนโลยีรวมถึงแนวคิดใหม่ ๆ ที่เข้ากับยุคสมัยมาประยุกต์ใช้ในการบริหารบุคลากรให้ยังคงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #MBK