Cashless Society จากสแกนถึงสยาม

ไม่ว่าจะในวงสนทนาวงไหน ประเด็นที่หลาย ๆ คนมักพูดถึงกันเสมอในช่วงนี้คือการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคต ตั้งแต่ระดับบุคคล สังคม ไปจนถึงระดับประเทศ และระดับโลก

เราทุกคนต่างรู้ดีว่าการหมุนของโลกในระยะ 4-5 ปีหลังมานี้ช่างรวดเร็วจริง ๆ สิ่งที่เคยมีก็กลับล้มหายตายจาก และสิ่งที่คาดไม่ถึงหลาย ๆ อย่างก็กำลังก่อตัวขึ้น และประเด็นหนึ่งที่มักจะติดปลายนวมวงสนทนามาด้วยเมื่อพูดถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องของ “Cashless Society รูปแบบของสังคมที่มีการใช้เงินที่ไม่ใช่เงิน”

จะว่าไป Cashless Society หรือ Cashless Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งมีการคิดกันเมื่อไม่นานนี้ ในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดสังคมที่ไร้เงินสดในเชิงกายภาพมีมาตั้งแต่ช่วงยุคปีค.ศ. 1950 แล้ว เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าความสำคัญของเงินสดในอนาคตจะลดน้อยลง แปรผกผันกับความเจริญทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มมากขึ้น ๆ เพียงแต่ค่อนข้างที่จะระบุยากว่าจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบเมื่อไหร่และอย่างไร
แม้ความสมบูรณ์แบบจะยังไม่เกิดขึ้น แต่หลาย ๆ ปีมานี้ หลายประเทศก็มีการปูทางวางนโยบายที่เอื้อต่อการเป็นสังคมไร้เงินสด แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คงต้องยกให้สวีเดน เพราะแม้แต่ธนาคารต่าง ๆ ที่ควรจะมีเงินสดสำรองอยู่มากที่สุดก็ยังมีอยู่น้อยมาก ในขณะที่การใช้จ่ายและชำระเงินต่าง ๆ กว่า 80% ของประเทศก็เป็นระบบ e-Payment กันถ้วนหน้า

สาเหตุที่ทำให้สวีเดนเป็นชาติที่นำร่องเรื่องนี้ไปได้ก่อนใคร มีปัจจัยสนับสนุนเป็นต้นว่า
– กฎหมายและค่านิยม ในขณะที่สวีเดนค่อนข้างจะให้อิสระสารพัดในหลาย ๆ เรื่อง แต่สำหรับการใช้จ่ายด้วยเงินสด ดูว่าจะเป็นเรื่องที่เขาเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ คือหากใครนำเงินสดมาใช้จ่ายหรือไปฝากแบงก์อาจจะถูกเพ่งเล็ง เพราะดูเหมือนเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยน่าไว้วางใจ เนื่องจากสวีเดนมองว่าการใช้เงินสดนั้นไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของเส้นทางเงินได้ และหากใครยังดื้อดึงพยายามนำเงินสดไปจับจ่าย ร้านรวงต่าง ๆ ก็มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะไม่รับและไม่มีความผิด เพราะมีกฎหมายคุ้มครองไว้ว่าการไม่รับเงินสดไม่ผิด
– การเปิดรับของประชาชน คนสวีเดนเองมีความพึงพอใจกับความสะดวกสบายของการไม่พกเงินสดมานานพอสมควร นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ยอดการกดเงินสดจากตู้ ATM ลดต่ำลงมาเป็นลำดับ ในขณะที่การใช้บัตรเครดิตและเดบิตสูงขึ้น และแน่นอนว่า Internet Banking และ Mobile Banking ก็มีการใช้กันอย่างแพร่หลายแบบเป็นธรรมชาติกันเลยทีเดียว
– ความทันสมัยของเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยตัวเสริม เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วหลาย ๆ ประเทศก็มีสิ่งนี้ แต่ก็ไม่อาจก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศไร้เงินสดได้ชัดเจนเท่ากับสวีเดน เพราะปัจจัย 2 ข้อแรกของประเทศอื่น ๆ ไม่เอื้อเพียงพอนั่นเอง

ตัดฉากกลับมาที่สยามประเทศบ้านเรา ซึ่งก็จัดว่าอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีและวิถีชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงมากพอตัว เรียกว่าเร็วเสียจนคนบาง Gen แทบจะตามกันไม่ทัน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหลาย ๆ คนเป็นเหมือนกัน คือ ถ้าวันไหนเกิดหลงลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน ก็มักจะต้องเลี้ยวรถกลับทันที เพราะเหมือนว่าโลกทั้งใบไม่ว่าจะเป็นงาน เพื่อน สังคม ตารางชีวิต และอะไร ๆ อีกสารพัด รวมอยู่ในเจ้าสมาร์ตโฟนเพียงเครื่องเดียว
จึงเป็นเหตุเป็นผลที่สอดคล้องกันอย่างแจ่มชัดว่า การเติบโตของคนที่ใช้สมาร์ตโฟนที่มาพร้อมกับวิถีชีวิตแบบดิจิทัลเป็นตัวแปรสำคัญมากที่เปลี่ยนแปลงประเทศเราในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งด้านการใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสดที่เคยพูดถึงกันในลักษณะแบบวิชาการสมัยก่อนกำลังจะเริ่มกลายมาเป็นบูรณาการในสมัยนี้ แม้จะยังห่างกับสวีเดนอีกหลายชั้นก็ตาม
สำหรับประทศไทย ณ วันนี้ นอกจากการขยายตัวของโทรศัพท์มือถืออันชาญฉลาดทั้งสมาร์ตโฟนและกึ่งสมาร์ตโฟนแล้ว ยังมีตัวแปรอีก 2 ส่วนมาเสริมทัพคือศักยภาพและระบบโทรคมนาคมที่ดูจะแข็งแรงขึ้น ทำให้อินเทอร์เน็ตรวดเร็วขึ้น

และนโยบายของภาครัฐที่พยายามผลักดัน National e-Payment หรือระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดขึ้นนั่นเอง
การพลิกโฉมของระบบการเงินแบบไม่ใช้เงินในบ้านเรา ในโครงการของ National e-Payment ที่เน้นวลีเด็ดว่า “ว่องไว มั่นใจ ใช่เลย” นั้น จะมีจิ๊กซอว์ที่ต่อเนื่องกัน เพื่อให้เกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เป็นรูปธรรม เป็นต้นว่า การชำระเงินแบบพร้อมเพย์ (ซึ่งหลาย ๆ คนแอบบ่นดัง ๆ ว่าการตั้งชื่อพร้อมเพย์ดูจะเป็นอุปสรรคนิดหน่อยสำหรับความเข้าใจในช่วงแรก ๆ ของสังคม เพราะโดยธรรมชาติของคนไม่อยากให้เงินออกจากกระเป๋า

ประกอบกับสิทธิประโยชน์ของบริการนี้ในช่วงแรก ๆ ก็เพื่อการรับมากกว่าจ่าย) การเดินทางของเงินสะดวก ง่ายดาย ประหยัดขึ้น เพียงใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขบัตรประชาชนเป็นตัวเชื่อม รองรับการจ่ายเงินของภาครัฐตรงเป้าหมาย การโอนเงินของประชาชนคล่องตัวสะดวกสบาย
การขยายโอกาสในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ของประชาชนให้กว้างขึ้น ตัวบัตรและค่าธรรมเนียมต่ำลง และอุปกรณ์รับชำระแพร่หลายขึ้น พูดง่าย ๆ คือ ไม่ใช่เพียงร้านหรู ๆ เท่านั้นที่สามารถมีเครื่องรับบัตรเครดิตหรือเดบิต ต่อไปร้านก๋วยเตี๋ยวหรือส้มตำข้างทางก็อาจมีสิ่งนี้ได้ ซึ่งไม่ว่าจะจับจ่ายอะไรก็แค่รูดปรื๊ด ๆ
การจัดทำภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จัดการกับกระบวนการทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีและใบรับแบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุน ระยะเวลา และขั้นตอนต่าง ๆ ที่เคยยุ่งยากของทั้งเอกชนและรัฐบาล ให้กระชับฉับไวขึ้น
e-Payment ภาครัฐ ซึ่งจะทำให้การจ่ายเงินช่วยเหลือ เงินสวัสดิการให้แก่ประชาชนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และลดความผิดพลาด ความซ้ำซ้อน และโอกาสการทุจริตจากการจ่ายด้วยเงินสด
ถนนสู่ Cashless Society ในวิถีแบบไทย ๆ มีข้อดี คือการช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเร็วขึ้น ประชาชนจะใช้จ่ายอย่างคล่องตัวขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจในการแข่งขันระหว่างประเทศเพราะช่วยลดต้นทุนทุกด้านที่มาจากธุรกรรมเงินสด การจัดเก็บภาษีของรัฐก็มีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ถึงกระนั้น ในข้อดีย่อมมีข้อที่น่าเป็นห่วง คือมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวกันได้มากขึ้นขนาดนี้ ก็อาจเป็นสิ่งที่คนไทยเรากลัว ยังไม่รวมถึงเรื่องระบบความปลอดภัยที่หลายคนยังไม่เชื่อใจร้อยเปอร์เซ็นต์นัก เพราะโจรไซเบอร์ทุกวันนี้ก็มีสารพัดวิธีมาหลอกลวงเอาเงินจากกระเป๋าของเรา ยังไม่รวมถึงการใช้ง่ายจ่ายที่คล่องมือเพราะคล้าย ๆ เงินอยู่ในอากาศแบบนี้ ทำให้คนไทยที่ไม่ค่อยมีวินัยในการใช้เงินนักอาจเพลี่ยงพล้ำต่อกิเลสอันเกินพอดีก็เป็นได้
ท้ายที่สุดก็จบลงที่ว่า Cashless Society คงจะค่อย ๆ เติบโตขยายมากขึ้นในไทยแลนด์บ้านเรา โดยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ ความรู้ที่ว่านั้นครอบคลุมทั้งเรื่องเทคโนโลยี กระบวนการ รวมไปถึงการใช้จ่ายอย่างมีสติ เพราะ Cashless Society เป็นสิ่งดี แต่ก็อย่าให้ใครเขาว่าเอาได้ว่า คนไทยเราใช้เงินแบบไม่ใช้เงินสดเป็น แต่ไม่มีเงินเหลือให้ใช้เพราะบริหารจัดการการเงินไม่เป็น !