จะส่งออกไป ‘ออสเตรเลีย’ ต้องจับตา ภาษีคาร์บอนจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง หลังยกเลิกไปเกือบ 10 ปี!!

ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ได้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในแวดวงธุรกิจ หลังจากที่ทุกคนต้องเผชิญกับปัญหาโลกร้อน และความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน

โดยที่หลักการและแนวคิดของภาษีคาร์บอน คือการเก็บภาษีที่เก็บจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ , มีเทน , ไนตรัสออกไซด์ หรือก๊าซกลุ่มฟลูโอริเนต เพราะสารเหล่านี้จะขึ้นไปทำลายชั้นโอโซน

สำหรับสหภาพยุโรปนั้น ถือว่ามีความเข้มงวดในการกำหนดกฏเกณฑ์ด้านคาร์บอนเป็นอย่างมาก โดยจะมีการนำเอามาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนมาใช้ ด้วยการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิก EU

ซึ่งเริ่มกับกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มแรกคือ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า อลูมิเนียม และปุ๋ย (เริ่มบังคับใช้ในปี 2566)
และจะมีการขยายไปสู่สินค้าประเภทอื่น ๆ ในอนาคต โดยมาตรการ CBAM ถือเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าทั่วโลก กระตุ้นให้ประเทศคู่ค้าตื่นตัวและกำหนดมาตรการที่สอดคล้องกัน โดยที่คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียวในปี 2562 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-55% ภายในปี 2573 และในปี 2593 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 5-2.0 องศาเซลเซียส และหลายประเทศเริ่มรับลูกด้วยการนำมาตรการเหล่านี้มาใช้กันมากขึ้น

วันนี้ ‘Business+’ มองเห็นประเด็นน่าสนใจของเรื่องภาษีคาร์บอนในประเทศ ‘ออสเตรเลีย’ ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะนำเอามาตรการภาษีด้านคาร์บอนกลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากที่ออสเตรเลียเคยเป็นประเทศที่เรียกเก็บภาษี Carbon Tax ตั้งแต่ปี 2555 แต่หลังใช้ได้เพียงแค่ 2 ปีก็ถูกยกเลิกไป (ถูกยกเลิกในปี 2557) เนื่องจากเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงผู้ผลิตต่างๆ รับมือกับภาษีที่เพิ่มขึ้นด้วยการผลักภาระภาษีให้แก่ผู้บริโภค นั่นทำให้เกิดเป็นผลกระทบที่ผู้บริโภคต้องแบกรับ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การบริหารของรัฐบาลยุคปัจจุบันได้กลับมาให้ความสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยจัดงบการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและพัฒนาเทคโนโลยีการปล่อยมลพิษต่ำในภาคอุตสาหกรรมผลิตและการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต พร้อมตั้งเป้าเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่ผลิตจาก Clean energy รายใหญ่ จึงมีแนวโน้มสูงที่รัฐบาลออสเตรเลียจะปรับใช้มาตรการ CBAM กับสินค้านำเข้าในอีกไม่ช้า

ซึ่งการพิจารณาปรับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนกับสินค้านำเข้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในกระบวนการผลิตเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผู้ได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อรักษาศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าในประเทศ เพราะจะมีผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าสำคัญซึ่งเป็นประเทศใหญ่อย่าง จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าการปรับใช้มาตรการ CBAM ของออสเตรเลียยังต้องใช้เวลาเพื่อผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่าย คาดว่า จะสามารถสรุปแนวทางการปรับใช้ได้ภายในสิ้นปี 2566 และเป็นโอกาสสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออสเตรเลียในอนาคต

โดยเรามองว่าการปรับใช้ CBAM ของออสเตรเลีย นั้น สำคัญต่อผู้ส่งออกหลาย ๆ ประเทศ เพราะออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างสูง และเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 13 ของโลก และเป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวประชากรที่ค่อนข้างสูง (ชาวออสเตรเลียมีรายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณ 57,000 เหรียญออสเตรเลีย/ปี)

ขณะที่ 5 สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลียในปี 2563 ประกอบไปด้วย

– รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

– อัญมณีและเครื่องประดับ

– เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

– ผลิตภัณฑ์ยาง

– อากาศยาน ยาวอวกาศ และส่วนประกอบ

ซึ่งมาตรการ CBAM ในออสเตรเลีย และในยุโรปนั้น จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยอย่างหนัก เพราะไทยเป็นประเทศรับจ้างผลิต และพึ่งพาการส่งออกสูง โดยก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติได้ออกมาคาดการณ์ว่า 4.3% ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหภาพยุโรปเป็นสินค้าที่เข้าข่าย CBAM (มูลค่ารวม 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่ง CBAM จะทำให้ราคาสินค้าส่งออกเหล่านี้จะแพงขึ้นจากต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้เราเสียเปรียบคู่แข่งในตลาด หรือกรณีเลวร้ายคือไม่สามารถส่งออกไปทั้งสหภาพยุโรป และออสเตรเลียได้เลยผู้ประกอบการแล้วจึงต้องเร่งปรับตัว ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนน้อยลง หรือ หันมาใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอีกหลาย ๆ ประเทศที่เป็นคู่ค้ากับไทยจะต้องมีการกำหนดกฏเกณฑ์ด้านคาร์บอนมากขึ้น และรัดกุมขึ้นอย่างแน่นอน

ที่มา : DIPT

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

#Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #CBAM #ภาษีคาร์บอน