ย้ายประเทศกันดีไหม? แคนาดาปรับนโยบาย Immigration เปิดรับคนต่างชาติย้ายถิ่น 500,000 คน/ปี

แรงงานเป็นปัจจัยการผลิต และเป็นทุนมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาในทุกระดับ ทั้งระดับส่วนย่อย (Micro) ของระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงระดับมหภาค (Macro) นั่นเป็นเพราะหากแรงงานในภาคการผลิตต่าง ๆ ของประเทศมีความรู้ความสามารถ และมีทักษะหรือศักยภาพสูงก็จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตและประสิทธิผลต่อการผลิตให้สูงขึ้นตาม และทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันหลายประเทศต่างต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงาน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ได้ทำให้เกิดภาวะที่อุปสงค์แรงงานมีมากกว่าอุปทานแรงงาน (ความต้องการแรงงาน มีมากกว่าคนขายแรงงาน) โดยที่นอกจากการขาดแคลนในเชิงปริมาณแล้ว ยังมีการขาดแคลนในเชิงคุณภาพ นั่นคือ ผู้ประกอบการไม่สามารถหาแรงงานที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการได้นั่นเอง

หนึ่งในประเทศที่ดูเหมือนจะขาดแคลนแรงงานอย่างมากคือ แคนาดา โดยที่รัฐบาลแคนาดาได้ประกาศปรับนโยบาย Immigration (หรือการอพยพ) ด้วยการเพิ่มจำนวนเปิดรับคนต่างชาติย้ายถิ่นฐานมาแคนาดาเป็น 500,000 คน/ปีภายในปี 2568 จากเดิมจำนวน 405,000 คนในปี 2564

ทั้งนี้การประกาศใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว และช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานหลังจากเศรษฐกิจแคนาดาเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤต COVID-19 โดยที่เศรษฐกิจแคนาดาในทุกวันนี้ได้เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ (Skilled Worker)

สำหรับแนวทางการเปิดรับคนต่างชาติย้ายถิ่นฐานมายังแคนาดานั้น จะเน้นเปิดโอกาสให้กับแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะในสายอาชีพ STEM (Science, Technology, Engineering and Math) และนักลงทุน (Investor Category Class) ที่นำเงินมาลงทุน ทำให้เกิดการจ้างงานและสนับสนุนเศรษฐกิจ

ซึ่งจากตัวเลขการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุด พบว่าชาวแคนาดากว่า 23% เป็นชาวแคนาดาที่ย้ายถิ่นฐานจากต่างประเทศหรือมีถิ่นกำเนิดนอกแคนาดา นอกจากนี้ตัวเลขการสำรวจได้แสดงว่า Immigrant ที่ย้ายมาแคนาดาในช่วงระหว่างปี 2559-2564 ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน (25-60 ปี) ที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของกลุ่มประชากรวัยทำงานทั้งหมดในแคนาดา

มาถึงตรงนี้ทำให้เราเห็นได้ว่า Immigrant ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแคนาดา และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นในอนาคต

โดยที่ภาครัฐได้ตั้งเป้าขยายเพิ่มสัดส่วนของผู้ที่ย้ายมาแคนาดาจะต้องมีคุณสมบัติที่จะสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจได้ อาทิแรงงานมีฝีมือ กลุ่มคนอายุวัยทำงาน โดยจะเพิ่มสัดส่วนจาก 60% ไปเป็น 65%

สำหรับแคนาดาแล้ว นโยบาย Immigration ไม่เพียงจะช่วยเหลือการขาดแคลนแรงงานในประเทศ แต่ยังช่วยลดปัญหาสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย โดยนโยบายของแคนาดาได้ทำให้สัดส่วนของประชากรในวัยทำงานมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ในกลุ่ม G7 ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามสำหรับบางประเทศแล้ว ถึงแม้การเคลื่อนย้ายไปยังต่างประเทศจะมีข้อดี แต่ก็ยังม่ข้อเสียเช่นเดียวกัน หากเป็นแรงงานมีฝีมือหรือทักษะระดับสูง โดยเฉพาะแรงงานที่ประเทศต้นทางยังขาดแคลน เพราะจะทำให้เกิด “ปัญหาสมองไหล” (Brain drain) ซึ่งเป็นความสูญเสียโอกาส และสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทางที่จะได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานที่มีทักษะสูงมาใช้ในการพัฒนา ประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศต้นทางจะได้รับเงินส่งกลับจากแรงงานที่มีทักษะสูงจำนวนมากก็ตาม

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องคำนึงถึง เพื่อไม่ให้เกิดกระแสชวนกันย้ายประเทศอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2021 คือการสร้างบรรยากาศการทำงานให้ดึงดูด ทั้งในแง่ของค่าจ้างที่เหมาะสม กฏแรงงานที่เข้มงวด รวมไปถึงสวัสดิการของประเทศต้นทางก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่แรงงานนำมาพิจารณาการย้ายถิ่นฐานเช่นเดียวกัน

 

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต

 

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

 

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #แคนาดา #ย้ายถิ่นฐาน