Aviation

ทำไมกำไรธุรกิจการบินถึงทรงตัว แม้รายได้อาจสูงเป็นประวัติการณ์?

อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก รวมถึงของประเทศไทยในปี 2566 เริ่มฟื้นตัว และถูกประเมินว่าในปี 2567 จะฟื้นตัวได้ใกล้เคียงช่วงปี 2562 ก่อนจะเกิด COVID-19 อย่างไรก็ตามถึงแม้รายได้จะฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตแต่หากมองในแง่ของกำไรแล้ว ธุรกิจด้านการบินยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูง ทั้งจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น , เงินเฟ้อที่สูงขึ้น , รวมไปถึงดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะกดกำไรสุทธิของกลุ่มสายการบินให้ลดลงเป็นอย่างมาก

ข้อมูลจาก สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกฟื้นตัวสูงหลังจากเกิด COVID-19 โดยความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในอเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และยุโรป ทำให้รายได้มีแนวโน้มจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.64 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยจำนวนผู้โดยสารทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารมากกว่า 4.7 พันล้านคนในปี 2567 เมื่อเทียบกับ 4.5 พันล้านคนในปี 2562

แต่หากมองในส่วนของกำไรแล้ว ยังมองว่าอุตสาหกรรมการบินจะทรงตัวในปี 2567 จากต้นทุนทางการเงิน และข้อจำกัดด้านความจุผู้โดยสาร โดยเฉพาะด้านต้นทุนเงินทุนที่สูงซึ่งเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมการบินกลับมามีความสามารถในการทำกำไรในปี 2566 โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 2.33 หมื่นล้านดอลลาร์และมีอัตรากำไรขั้นต้น 2.6% และคาดว่ากำไรในปี 2567 จะแตะ 2.57 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 2.7% โดยตัวเลขนี้ค่อนข้างทรงตัว แม้รายได้มีแนวโน้มจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของต้นทุนจากราคาน้ำมัน ซึ่งสงครามระหว่าง อิสราเอล-ฮามาส และสงครามยูเครน จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น (คาดว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินคิดเป็นสัดส่วน 31% ของต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมดของสายการบิน) ซึ่งทั้งหมดนี้จึงเป็นปัจจัยที่กระทบต่อมาร์จิ้นในธุรกิจสายการบินแม้จำนวนผู้โดยสารจะฟื้นตัวเต็มที่ก็ตาม

ทั้งนี้ ‘Business+’ พบข้อมูล ว่า อุตสาหกรรมการบินในไทยฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นที่คาดว่าจะฟื้นตัวเต็มที่ในปี 2568 โดยปัจจุบันเส้นทางในประเทศ (Domestic) มีปริมาณเที่ยวบินใกล้เคียงปี 2562 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนเส้นทางระหว่างประเทศยังขึ้นน้อยกว่า (ที่มา : CAAT) อย่างไรก็ตามทาง CAAT ได้จัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 2565-2568 ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ/เพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการบินภายใต้ยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี เช่น เป้าหมายของปี 2566 คือ สามารถออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเพิ่มอีก 8 สนามบิน มีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมของสนามบิน (EMS) สามารถเข้ารับการตรวจประเมินจาก ICAO เพื่อยกระดับมาตรฐานของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถเพิ่มความสามารถในเชิงแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมการบินของไทยได้เช่นกัน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : CAAT , IATA

ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#thebusinessplus #BusinessPlus #อุตสาหกรรมการบิน #ธุรกิจการบิน #การบิน