ASIAGAME

จีนกับการเป็นเจ้าภาพ ‘เอเชียนเกมส์’ ดีต่อการพัฒนาประเทศ หรือแค่ผลาญเงิน?

ทุกประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าภาพการจัดกีฬา โดยเฉพาะกีฬาระดับทวีป และระดับโลก เพราะการจะขึ้นเป็นเจ้าภาพได้นั้น ถือเป็นการประกาศศักดาของการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องทุ่มทุ่นกับการจัดพิธีเปิดให้อลังการ และเพื่อโชว์ศักยภาพ ความล้ำของเทคโนโลยีออกสู่สายตาคนทั่วโลก อย่างไรก็ตามการจัดการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่นั้น เจ้าภาพต้องใช้เงินลงทุนอย่างมหาศาล ทั้งสำหรับการเตรียมสนามกีฬาให้พร้อม การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้พร้อมรับนักกีฬาจากทุกประเทศ

ดังนั้น ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันกีฬาจะตามมาด้วยเม็ดเงินที่สะพัดช่วงวันจัดงาน และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้กับประเทศเจ้าภาพได้ แต่หากประเทศที่เป็นเจ้าภาพยังไม่มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจ และยังต้องการอัดฉีดเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องตามมา โดยเฉพาะกับเจ้าภาพปีนี้อย่างจีน ที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟู และสถานการณ์ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในขั้นเลวร้าย ที่สำคัญที่สุดคือ อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ของจีนอยู่ในช่วงที่สูงเป็นประวัติการณ์

ในช่วงปี 2022 ประเทศจีนได้รับสิทธิ์ให้เป็นเจ้าภาพการจัด “เอเชียนเกมส์” ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาหลากชนิดระหว่างประเทศในทวีปเอเชียด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากกีฬาโอลิมปิก (Olympic) โดยการจัดครั้งนี้ถูกเลื่อนจากปี 2022 มายังปี 2023 เพราะขณะนั้นจีนยังมีการระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรง ดังนั้น เมื่อเลื่อนมาจัดในปี 2023 จึงยังใช้ชื่อว่า เอเชียนเกมส์ หางโจว 2022

โดยเอเชียนเกมส์จัดขึ้นทุก 4 ปี และใช้เวลาในการแข่งขันราว 2 สัปดาห์ และครั้งนี้เป็นการจัดครั้งที่ 19 เริ่มต้นตั้งแต่ 19 กันยายน 2566 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566 และการแข่งขันจะยาวไปจนถึงพิธีปิดในวันที่ 8 ตุลาคม 2566

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูสถิติในการจัดงาน จะเห็นว่า การจัดงานเอเชียนเกมส์ มีชาติเจ้าภาพการแข่งขันทั้งหมด 9 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยครองแชมป์เจ้าภาพสูงที่สุดถึง 4 ครั้ง และตามมาด้วยจีน ที่เป็นเจ้าภาพรวมครั้งล่าสุด 3 ครั้ง หลังจากเมื่อปี 1990 เลือกจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง และในปี 2010 ที่เมืองกว่างโจว

โดยพิธีเปิดในวันที่ 23 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา จีนได้โชว์ความล้ำทางเทคโลยี ด้วยการใช้ผู้ร่วมแสดงเกือบ 50,000 คน ภายใต้แนวคิด เอเชียนเกมส์ รักษ์โลก ซึ่งครั้งนี้เจ้าภาพเน้นการแสดงแสงสีเสียง ด้วยโทนสีฟ้าและสีเขียว แสดงถึงความสวยงามของระบบนิเวศ มนุษยชาติและกีฬาของจีน และเน้นความทันสมัย

ซึ่ง Highlight ของพิธีเปิด คือ การจุดคบเพลิงในกีฬาเอเชียนเกมส์ที่เป็นแบบดิจิทัลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และให้คนดูมีส่วนร่วมด้วยการลงชื่อจุดคบเพลิงผ่านแอปพลิเคชัน “อาลีเพย์” แอปพลิเคชันการเงินชื่อดังของจีน โดยมีผู้ร่วมลงทะเบียนกว่า 105 ล้านคน ซึ่งถือว่าจีนทุ่มทุนและทำได้ดีในแง่ของการโชว์ความล้ำทางเทคโนโลยีจีนอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามการเป็นเจ้าภาพนั้น ไม่ได้มีแค่พิธีเปิด แต่ต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายด้าน ทั้งปรับปรุงสนามกีฬาให้ได้มาตรฐาน การเตรียมสาธารณูโภคเพื่อรองรับ และการขนส่งรับนักกีฬา และก่อนแข่งสำหรับทุกประเทศจะต้องมีการใช้จ่ายงบสำหรับการเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬายาวนานกว่า 2 ปี ซึ่งตรงนี้หากเทียบกับประเทศไทยแล้ว เราจะใช้งบประมาณราว 1,300 ล้านบาท

รวมไปถึงระหว่างการแข่งยังต้องมีงบอัดฉีดเหรียญเอเชียนเกมส์อีกส่วนหนึ่ง หากอิงกับประเทศไทยแล้ว เหรียญทอง จะได้รับเงินอัดฉีด 2 ล้านบาท ,เหรียญเงิน จะได้รับเงินอัดฉีด 1 ล้านบาท ,เหรียญทองแดง จะได้รับเงินอัดฉีด 500,000 บาท

รวมทั้งหมดแล้วการที่จีนเป็นเจ้าภาพจะต้องใช้เงินมหาศาล ซึ่งหากเทียบกับประเทศไทยที่เคยเสนอตัวเข้าเป็นเจ้าภาพจัดเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 (สุดท้ายจีนได้ไปครอง) ในครั้งนั้นไทยเราคาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่ง Business+ มองว่า ประเทศจีนใช้จ่ายเงินมากกว่านั้น

และการใช้งบจำนวนมากสำหรับการเป็นเจ้าภาพ ทางรัฐบาลจึงต้องบริหารจัดการให้ดีไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นต้นทุนที่ไม่สร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศ ด้วยการตั้งโจทย์ใหญ่ คือ จัดงานให้อลังการแต่ต้องไม่ส่งผลกระทบทำให้คนในประเทศเดือดร้อน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้ยุทธศาสตร์ดึงการลงทุนจากภาคเอกชน ร่วมกับภาครัฐ ของไทยอาจใช้เงินลงทุนจากเอกชนมากถึง 80% และการสนับสนุนจากภาครัฐราว 15% นอกจากนี้แต่ละประเทศควรมีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หรือ NSDF ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน

ทั้งนี้กลับมาที่คำถามว่า การจัดงานครั้งนี้ของจีนจะดีต่อการพัฒนาประเทศ หรือแค่ผลาญเงิน? เรามองว่า จีนจะได้รับประโยชน์ และคุ้มค่ากับการทุ่มทุนจัดงานแต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะได้เก็บเกี่ยว เพราะถึงแม้ว่า เม็ดเงินที่สะพัดในช่วงวันงานจะค่อนข้างสูง แต่ก็ต้องใช้เงินในคลังของจีนจำนวนมาก โดยหากเทียบกับเม็ดเงินการลงทุนเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬากับทางคณะกรรมการจัดงานเอเชียนเกมส์ของอินโดนีเซีย (Indonesia Asian Games Organising Committee) ได้เคยประเมินว่า แม้การเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาจะมีการลงทุนด้านต่างๆ ด้วยเม็ดเงินมหาศาล แต่ผลดีที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจจะไม่น้อยกว่า 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่าเงินไทยประมาณ 1.02 แสนล้านบาท) ซึ่งส่วนนี้ยังเป็นเพียงแค่ผลตอบแทนเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น

แต่ความน่ากลัวของจีนในขณะนี้คือ อัตราส่วนหนี้สินของจีนต่อผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ของจีนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยตัวเลขของอัตราส่วนเงินกู้มหภาคของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 290% ในไตรมาสแรกของปี 2566 จากการขยายสินเชื่อที่เร็วขึ้น และการออกพันธบัตรรัฐบาลล่วงหน้า

นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนยังค่อนข้างเปราะบาง โดย ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มองว่า อาจจะต้องทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของจีนลงจากปัจจุบันอยู่ที่ A+ จากอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ของจีนปรับตัวขึ้นเล็กน้อย และยังพบว่า ปัญหาหนี้สินกำลังลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งหากมีการปรับอันดับลง จะถือเป็นการหั่นอันดับครั้งแรกในรอบ 16 ปี (ฟิทช์ได้ให้อันดับ A+ กับจีนมาตั้งแต่ปี 2550) นอกจากนี้ข้อมูลเศรษฐกิจของจีนในช่วงปี 2566 ยังออกมาต่ำกว่าคาดการหลายภาคส่วน ตั้งแต่ยอดค้าปลีก รวมไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้นสิ่งที่จีนต้องระวังคือ การแข่งขันกีฬาอาจทำให้ประเทศประสบกับปัญหาทางด้านการเงินในระยะยาว ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังหลายรายการเมื่อไม่นานมานี้ ตั้งแต่ยอดค้าปลีกไปจนถึงราคาบ้าน

ซึ่งในกรณีของจีนเอง เคยประสบความสำเร็จกับการยกระดับประเทศด้วยการเป็นเจ้าภาพงานกีฬา “ปักกิ่งโอลิมปิก” เมื่อ ค.ศ.2008 ซึ่งเป็นปีที่จีนได้ประกาศศักดาของการพัฒนาประเทศ จนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ของโลกได้ในที่สุด

แต่ที่ผ่านมาก็มีหลายประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน อย่างเช่น แคนาดา เป็นหนึ่งในประเทศที่ล้มเหลวจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งกีฬาโอลิมปิก ในปี 1976 ซึ่งรัฐบาลได้บริหารจัดการงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้ใช้งบประมาณไปมากกว่าที่วางไว้ถึง 720% ผลสุดท้ายคือการขาดทุนย่อยยับ ส่งผลให้เมือง มอนทรีออล เมืองที่เป็นเจ้าภาพต้องขาดสภาพคล่อง และกลายเป็นหนี้ติดต่อมาหลายปี

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับจีนคือ การบริหารจัดการและควบคุมงบประมาณให้อยู่ในเกณฑ์ที่ประเทศรับได้ ไม่ก่อหนี้เพิ่มจนเกินไป และมุ่งไปที่การลงทุนในระยะยาวเช่น การสร้างพื้นที่สาธารณะ การลงทุนสาธารณูปโภค รวมทั้งการลงทุนในเรื่องคนและเงินทุนที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพราะแม้ช่วงปีที่จัดงานจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงไปบ้าง แต่จีนมองว่า เศรษฐกิจที่จะเติบโตหลังการจัดงานแล้วยังมีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับความต้องการโชว์ศักยภาพด้านเทคโนโลยีจีน เพื่อสร้างคู่ค้า และพันธมิตรเอเชียมาจากอเมริกาให้ได้มากที่สุด นั่นจึงทำให้เรามองว่าจีนเลือกที่จะเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะยังลุ่มๆ ดอนๆ นั่นเอง

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS