IceCream

เปิด 4 ผู้เล่นหลักตลาด ‘ไอศกรีม’ ไทย ดัน Market share ปีนี้แตะ 1.3 หมื่นล้าน

‘ไอศกรีม’ เป็นของหวานที่หลายคนทั่วโลกชื่นชอบ ด้วยมีหลากหลายรสชาติ และดับร้อนได้ดี ยิ่งกับประเทศที่อยู่ในแถบสภาพอากาศร้อนไอศกรีมถือเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่คนจะเลือกบริโภคก่อนขนมหวานชนิดอื่น โดยไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีสัดส่วนการบริโภคไอศกรีมค่อนข้างมากเนื่องจากมีสภาพอากาศร้อนเกือบทั้งปี

นอกจากจะผลิตเพื่อบริโภคในประเทศแล้ว ยังมีการผลิตเพื่อส่งออกด้วย ซึ่งไทยถูกจัดได้ว่าเป็นแหล่งอาหารโลก ด้วยมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องวัตถุดิบ รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ในการรังสรรค์ความแปลกใหม่แต่ยังคงมีรสชาติที่ดี และมีเอกลักษณ์ยากที่จะลอกเลียนแบบ จึงส่งผลให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกไอศกรีมเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก ยุโรป อเมริกา และอังกฤษ ทั้งนี้สถาบันอาหาร (National Food Institute) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2570 ตลาดไอศกรีมทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 5.5 ล้านล้านบาท จาก 3.8 ล้านล้านบาท

สำหรับตลาดไอศกรีมของไทยในปี 2565 มีมูลค่า 12,173 ล้านบาท ขยายตัว 0.3% จากปี 2564 ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด รสชาติมีความเป็นไทยมากขึ้น อย่างเช่น ไอศกรีมรสถั่วดำที่เหมือนเป็นการนำขนมมาแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบไอศกรีมสามารถหาซื้อได้ง่าย รวมถึงสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลายลงทำให้คนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันได้เกือบเป็นปกติเหมือนในช่วงก่อนเกิด COVID-19

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมที่วางจำหน่ายในไทยมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ 1.ไอศกรีมแบบรับประทานทันที (Impulse Ice cream) มีสัดส่วน 88% ของมูลค่าการตลาด 2.ไอศกรีมแบบรับประทานที่บ้าน (Take-Home Ice Cream) มีสัดส่วน 12% ของมูลค่าการตลาด โดยจะเห็นได้ว่าไอศกรีมแบบรับประทานทันทีมีส่วนแบ่งที่มากกว่า เพราะสามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ทันทีบนหลักวิถีการใช้ชีวิตที่รีบเร่งในปัจจุบัน

สำหรับผู้เล่นหลักวงการตลาดไอศกรีมในไทย จากผลการสำรวจพบว่า บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 มีสัดส่วน 46.40% ซึ่งแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Paddle Pop, Wall’s, Delight และ Magnum เป็นตัวสร้างยอดขายหลักให้กับบริษัท โดยปัจจัยที่ทำให้แบรนด์เป็นผู้เล่นชั้นนำมาจากการวางแผนการตลาดที่เจาะตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งสามารถขยายฐานลูกค้าระดับบนด้วยการออกสินค้าที่มีแพกเกจเรียบหรู ความแปลกใหม่ของรสชาติที่ไม่สามารถหาจากแบรนด์อื่นได้ และช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้าถึงได้ง่าย

ขณะที่ผู้เล่นอันดับ 2 ได้แก่ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ครองส่วนแบ่ง 19.60% ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Nestlé, Eskimo และ Milo ซึ่งแบรนด์ Nestlé อาจเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างยอดขาย ด้วยมีการทำการตลาดอย่างสม่ำเสมอ และมีการออกรสชาติใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรสชาติที่ออกมานั้นก็ตอบโจทย์ทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนสูงวัย

IceCream

ส่วนอันดับ 3 คือ บริษัท จอมธนา จำกัด ครองส่วนแบ่ง 9.30% ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Cremo เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง เนื่องจากมีราคาที่ไม่แพงและหาซื้อได้ง่าย อีกทั้งยังได้รับความนิยมจากร้านอาหารส่วนใหญ่ในการนำตู้ไอศกรีมไปตั้ง ซึ่งเราจะสามารถพบเห็นได้ตามร้านชาบู หมูกะทะ เป็นต้น

สำหรับ บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) เป็นผู้เล่นตลาดไอศกรีมไทย อันดับที่ 4 โดยมีแบรนด์แมกโนเลียเป็นจุดขาย ราคาย่อมเยาว์ และเป็นที่รู้จักต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ และประเทศอื่นๆ ในเขตเอเชียแปซิฟิค

โดยจากผลการสำรวจช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอศกรีมในไทยกว่า 65.50% คือ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยร้านสะดวกซื้อเป็นช่องทางที่มีมูลค่าการจำหน่ายสุงสุด 35.10% ของมูลค่าการจำหน่ายทั้งหมดในประเทศ ขณะที่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมครองสัดส่วน 34.2% ของมูลค่าการจำหน่ายทั้งหมดในประเทศ

แนวโน้มการเติบโตของตลาดไอศกรีมในไทยอีก 5 ปีข้างหน้า (2566-2570)

ปี 2566 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 13,200 ล้านบาท

ปี 2567 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 13,800 ล้านบาท

ปี 2568 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 14,400 ล้านบาท

ปี 2569 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท

ปี 2570 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 15,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามแม้ตลาดไอศกรีมจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความชอบของคนมีหลายระดับ ชอบมาก ชอบน้อย ลดหลั่นกันไป ประกอบกับปัจจุบันคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นจึงอาจไม่สามารถซื้อได้บ่อยครั้ง หรือ อาจจะซื้อครั้งเดียวแต่เก็บไว้ทานหลายมื้อ นอกจากนี้ก็ยังมีคนที่แพ้นมวัวที่ไม่สามารถซื้อทานได้ รวมถึงกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มอย่าง ‘กลุ่มวีแกน’ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทางผู้ประกอบการก็มีการพัฒนาแก้โจทย์ข้อจำกัดนี้อยู่เสมอ อย่างเช่น ออกรสชาติผลไม้ส่วนผสมของนมวัว เป็นต้น เพื่อให้สามารถครองใจผู้บริโภคและเพื่อให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่มได้

.

ที่มา : fic.nfi, Euromonitor, เว็บไซต์บริษัท

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ไอศกรีม #มูลค่าตลาดไอศกรีม #ตลาดไอศกรีม #IceCream