รับบทเจ้าภาพทั้งที!! ไทยได้ผลประโยชน์อะไรจาก APEC บ้าง?

ในวันที่ 16-19 พฤศจิกายน ที่ใกล้จะมาถึงนี้ ไทยเราได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC หรือที่เรียกว่าสุดยอดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 3 (ครั้งก่อนในปี 2535, 2546) ที่จะมีเหล่าผู้นำของประเทศ หรือตัวแทนในการเข้าร่วมกว่า 21 ประเทศ
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราคงจะได้เห็นข่าวการซ้อมขบวน APEC ที่เริ่มมีการปิดถนนบางสาย หรือการประกาศมีวันหยุดราชการพิเศษ หรือแม้แต่การเปลี่ยนโฉมกรุงเทพมหานครให้ดูสดใสในบางพื้นที่เพื่อพร้อมรับเหล่าผู้นำจากหลาย ๆ ประเทศกันไปบ้างแล้ว

ที่น่าสนใจคือ การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยของเราได้อย่างไร? และวันนี้ ‘Business+’ จะพามาเจาะลึกไปพร้อม ๆ กันผ่านบทความนี้
เริ่มจากข้อดีข้อแรกคือ การยกระดับฐานะของคนภายในประเทศ โดยการประชุม APEC ทั้ง 21 ประเทศถือเป็นการประชุมที่ครอบคลุมเขตพื้นที่ประชากรกว่า 3,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของโลก และถ้าหากย้อนกลับไปใน 1990 กลุ่มประชากรของ 21 ประเทศ APEC นี้มีฐานะยากจนมากถึง 41.7% เลยทีเดียว แต่ในปัจจุบันเหลือฐานะยากจนเพียง 1.8%เท่านั้น ผลลัพธ์นี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 32 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจับจ่ายใช้สอยสูง ทำให้เศรษฐกิจของกลุ่ม APEC ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

ข้อต่อมา เป็นเรื่องของการดึงดูดเหล่านักลงทุนให้เข้ามาในกลุ่มประเทศ APEC โดยในปี 1990-2020 มูลค่าการลงทุนในกลุ่ม APEC พัฒนาจาก 45.2% สู่ 67.9% สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มนักลงทุนที่เลือกลงทุนภายในกลุ่ม APEC กันเอง อีกทั้งยังมี 2 ประเทศเศรษฐกิจไทยอย่าง สหรัฐอเมริกา, จีน อยู่ในกลุ่มสมาชิกด้วย ซึ่งหลัก ๆ แล้ว APEC เน้นเรื่องของความสะดวกในด้านการค้าที่เอื้อต่อเหล่านักลงทุน และเรื่องมาตรการภาษีเป็นหลัก เพื่อให้ 21 ประเทศสามารถทำธุรกิจร่วมกันได้อย่างสะดวก จึงเป็นผลทำให้ดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจของเขตเศรษฐกิจนี้เติบโตมากถึง 11.3%

โดยในการประชุม APEC อันใกล้จะถึงนี้จะทำให้เหล่าผู้นำมาพูดคุยกันจริง ๆ หลังจากที่การประชุมถูกเลื่อนออก หรือมีอุปสรรคมากมายให้ต้องเผชิญบ้าง ซึ่งมันคงเป็นอันดีหากการที่ผู้นำจะได้พบปะกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ เพื่อสร้างความร่วมมือ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิเศษมากกว่าการประชุมหลัก รวมทั้งการพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้นำกับผู้นำ

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยใช้โอกาสเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ช่วยขับเคลื่อนวาระแห่งชาติหลาย ๆ อย่าง เช่น ‘BCG Economy Model’ ซึ่งประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืนนั่นเอง ทั้งนี้ การที่มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมมากมายจะสร้างบทบาทให้กับประเทศไทยไปสู่เวทีโลกนั่นเอง
พร้อมทั้งยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวได้อีกด้วย เพราะการเข้ามาของเหล่าผู้นำทั้ง 21 จะมีผู้ตามไม่ว่าจะเป็น นักข่าว, นักธุรกิจ, หรืออื่น ๆ อีกมากมายเข้ามาด้วยทำให้ถือเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวไปได้อีกรูปแบบหนึ่ง
และในอนาคตหลังจบการประชุม APEC แล้วเราอาจจะเห็นเศรษฐกิจไทยที่คึกคัก และบทบาทของประเทศในระดับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นก็ย่อมได้…

เขียนและเรียบเรียง : อโญศิริ สุระตโก
ที่มา : CU, prd, apec2022
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/…
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #APEC #APEC2022