สายการบิน

เปิดกลไกตั้งราคาตั๋วเครื่องบินของไทย กับคำตอบที่ว่าตั๋วแพงช่วงเทศกาลต้องแก้ยังไง?

ตั๋วโดยสารเครื่องบินในช่วงเทศกาลที่มีราคาสูงเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงและเรียกร้องมาอย่างยาวนาน ซึ่งในปี 2023 ช่วงเทศกาลปีใหม่ตั๋วเครื่องบินมีราคาสูงมากจนทำให้ลูกค้าหลายๆ คนยอมที่จะนั่งรถทัวร์หลาย 10 ชั่วโมง หรือขับรถยนต์ส่วนตัวไปเอง โดยที่ราคาตั๋วที่แพงอย่างมากนั้นเกิดจากกลไกการตั้งราคาตามความต้องการในตลาด (Demand , Supply) ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเที่ยวบินมีไม่เพียงพอกับความต้องการเดินทางในประเทศที่สูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลก็ทำให้ราคาพุ่งสูงติดจรวดเลยทีเดียว

ซึ่งจริงๆ แล้วการตั้งราคาตั๋วเครื่องบินในประเทศไทยนั้น จะมีเพดานกำหนดเอาไว้ (ราคาควบคุมที่ กพท.กำหนดเอาไว้) เรียกว่าเป็นการใช้ระบบควบคุมเพดานราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งคำนวณจากโครงสร้างต้นทุนจริง และจะถูกตรวจสอบควบคุมทุกเที่ยวบิน ซึ่งตามเงื่อนไขสายการบินจะไม่สามารถตั้งราคาเกินจากราคาที่กำหนดไว้

โดยราคาที่กำหนดไว้สำหรับ สายการบิน Low-Cost ห้ามคิดค่าตั๋วเกิน 9.4 บาทต่อกิโลเมตร ‘Business+’ ได้คำนวณหากเดินทางจากกรุงเทพฯ-เชียงรายมีระยะทาง 697 กิโลเมตร ตั๋วสูงสุดจะอยู่ที่ 6,551 บาท/เที่ยว  ส่วนสายการบิน Full-Service ห้ามคิดค่าตั๋วเกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร หากเป็นกรุงเทพฯ-เชียงราย สูงสุดจะอยู่ที่ 9,061 บาท/เที่ยว

แม้จะมีการกำหนดราคาเพดานที่ชัดเจนแต่ระบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะถึงแม้จะมีการกำหนดเพดานเอาไว้ แต่ราคาตั๋วโดยทั่วไปเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีที่ใช้กลไกตลาดเป็นกลไกควบคุม ดังนั้นในกรณีที่มีปริมาณความต้องการสูงมากกว่าจำนวนเที่ยวบินที่มีก็จะทำให้ราคาตั๋วในตลาดสูงกว่าปกติ (ช่วงเทศกาลที่คนต้องการเดินทางกลับต่างจังหวัด ตั๋วเครื่องบินจึงมีราคาสูง)

ซึ่งหลัง COVID-19 เราจะเห็นว่าตั๋วเครื่องบินช่วงเทศกาลนั้น สูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 ซึ่งมีสาเหตุมาจากสายการบิน และเที่ยวบินในประเทศลดลง เพราะหลายสายการบินได้มีการปิดเส้นทางบินบางส่วนเพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับบริษัท นอกจากนี้ ต้นทุนในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงน้ำมันมีสัดส่วนสูงสุดถึง 30% ของต้นทุนทั้งหมด โดยเฉพาะหลังจากอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่เคยปรับลดเหลือ 0.2 บาท/ลิตร กลับมาเป็นอัตราเดิมที่สูงถึง 4.726 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 66

เราจึงเห็นได้ว่าตั๋วโดยสารในช่วงเทศกาลของปี 2023 ค่อนข้างสูงขึ้น ยกตัวอย่างสถานการณ์ราคาตั๋วโดยสารในช่วงวันที่ 28 ธ.ค. ถึงวันที่ 2 ม.ค. ของสายการบินที่มีรอบไปเชียงราย มีค่าโดยสารที่จำหน่ายอยู่ในช่วงระหว่าง 2,000-8,000 บาท เลยทีเดียว เช่นเดียวกับราคาตั๋วโดยสารในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ภูเก็ต มีค่าโดยสารที่จำหน่ายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระหว่าง 3,001-4,000 บาท คิดเป็น 69% ของเที่ยวบิน ส่วนค่าโดยสารที่จำหน่ายในช่วงราคา 2,501-3,000 บาท คิดเป็น 4% ของเที่ยวบิน ค่าโดยสารราคา 4,001-5,000 บาท คิดเป็น 14% ของเที่ยวบิน และค่าโดยสารในช่วงราคา 5,501-6,000 บาท คิดเป็น 13% ของเที่ยวบิน

อย่างไรก็ตามผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วล่วงหน้านานกว่า จะได้อัตราค่าโดยสารที่ถูกกว่า ส่วนผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วคนท้าย ๆ ของเที่ยวบินนั้นจะได้ราคาสูงสุด ซึ่งสาเหตุสำคัญที่สายการบินต้องตั้งราคา เพื่อส่งเสริมให้ผู้โดยสารต้องวางแผนจองตั๋วโดยสารล่วงหน้า เพราะจะทำให้สายการบินมั่นใจว่าจะมีจำนวนการขายตั๋วโดยสารเข้าเป้าที่คุ้มทุนสามารถปฏิบัติการบินได้

โดยแยกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ การจองตั๋วล่วงหน้าจะทำให้สายการบินสามารถวางแผนกำหนดตารางบินของสายการบิน ก่อนทำการบินแต่ละเที่ยวบิน เริ่มต้นจากการกำหนดตารางการบิน ตามเวลาทำการบินที่ได้รับการจัดสรร (Slot) ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนทำการบินจริงมากกว่า 6 เดือน จากนั้นสายการบินจะนำตารางการบินที่ได้รับการจัดสรรไปดำเนินการด้านการตลาด เพื่อตัดสินใจว่าจะทำการบินจริงหรือไม่ และจะต้องแจ้งคืนเวลาทำการบินล่วงหน้าอย่างน้อย 4 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิ์ทำการบินในฤดูกาลถัดไปหากไม่ทำการบิน ดังนั้น สายการบินจึงต้องเร่งทำการตลาดให้มั่นใจว่ามีความพร้อมพอที่จะทำการบินได้ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือปริมาณผู้โดยสาร

นอกจากนี้ยังทำให้มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin factor) ที่คุ้มทุน จากตัวเลขต้นทุนที่อาจผันแปรขึ้นหรือลง สายการบินต้องประเมินอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องจำหน่ายตั๋วได้จำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งในแต่ละเที่ยวบิน จึงจะถึงจุดที่คุ้มกับต้นทุน ซึ่งมักแสดงในรูปของเปอร์เซ็นต์ของ Cabin factor ในกรณีที่ต้นทุนสูงขึ้นมาก เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น ฯลฯ Cabin factor ที่คุ้มทุนอาจสูงถึง 80% แต่ในกรณีสถานการณ์ปกติทั่วไป Cabin factor จะเฉลี่ยอยู่ในระดับประมาณ 70% จึงจะสามารถปฏิบัติการบินได้โดยไม่ขาดทุน

ดังนั้น เราจึงเห็นสายการบินมักออกโปรโมชั่นนานหลายเดือน และใช้การทำการตลาดและดำเนินกลยุทธ์ด้านราคาเพื่อให้ลูกค้าจองตั๋วล่วงหน้า

กลับมาที่ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพงช่วงเทศกาล โดยเราพบว่าปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกับทั่วโลก โดยสาเหตุที่ทำให้ตั๋วเครื่องบินในช่วงนี้แพงเป็นอย่างมากเกิดจากการหายไปของอุปทาน (Supply) ในช่วง COVID-19 ซึ่งสายการบินต่าง ๆ ได้ปรับลดจำนวนบุคลากร อากาศยาน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อประคับประคองความอยู่รอด จึงเกิดสถานการณ์ที่ปริมาณความต้องการการเดินทางทางอากาศ (Demand) สูงกว่าความสามารถในการรองรับ (Supply) ไปทั่วโลก ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 17%

สำหรับวิธีการแก้ปัญหานั้น สามารถทำได้ 2 ด้านหลักๆ นั่นคือ การเพิ่มสายการบิน เพิ่มเที่ยวบิน และควบคุมราคาเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องบิน ซึ่งทาง คมนาคม ได้มีการอนุมัติเพิ่ม 8 สายการบิน อัดฉีดเครื่องบินเข้าระบบอีก 60 ลำ ปี 2567 ตามที่ธุรกิจสายการบินของประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการที่มีอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่า จึงจำเป็นต้องเร่งกระบวนการอนุมัติให้สายการบินสามารถจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมให้รวดเร็วขึ้น และผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สายการบินสามารถจัดหาเครื่องบินมาใช้เพิ่มเติม ให้ทันต่อความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร

ล่าสุดมีผู้ประกอบการสายการบินผ่านขั้นตอนได้รับใบอนุญาตเดินอากาศ (AOL: Air Operator License) จาก รมว.คมนาคม เพิ่ม 8 ราย และผู้ประกอบการสายการบิน ขอนำเครื่องบินเข้าฝูงบินอีก 60 ลำ ตลอดปี 2024 ซึ่งหากแผนการทั้งหมดนี้มีความพร้อม จนทำให้เราสามารถเพิ่มสายการบิน และเครื่องบินเข้าสู่ระบบได้ในปี 2024 ก็จะทำให้ตั๋วเครื่องบินช่วงเทศกาลไม่แพงมากอย่างที่เป็นในปีนี้

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : กพท. ,IQ

ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #สายการบิน