Agritech ความหวังของชาวนาชาวไร่ไทย ตอบโจทย์เกษตร 4.0 จริงหรือ ?

Agritech เป็นชื่อเรียกรูปแบบการทำเกษตรยุคใหม่ที่จะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีที่หลายฝ่ายเชื่อเหลือเกินว่ามันจะเข้ามายกระดับคุณภาพผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็จะดีขึ้นไปด้วย

โดยเทคโนโลยี Agritech มีรูปแบบต่าง ๆ มากมายหลากหลาย ทั้งเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูก เช่น เครื่องจักรกลและระบบการเพาะปลูกอัตโนมัติ โดรนที่ใช้ในการเกษตร ไปจนถึงเทคโนโลยีด้านการตลาด อย่างการซื้อขายสินค้า จัดหาวัตถุดิบ เช่าซื้ออุปกรณ์การเกษตรทางออนไลน์

ศูนย์วิจัยอีไอซี (EIC หรือ Economic Intelligence Center) ของธนาคารไทยพาณิชย์ เผยว่า เทคโนโลยี Agritech เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญ เพราะมันจะเข้ามาช่วยให้การทำเกษตรดีขึ้นทั้งในแง่ของการเพิ่มขึ้นเชิงปริมาณและการปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งทำให้การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เช่น น้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูก แรงงาน มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม

ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการนำ Agritech เข้ามาใช้บ้าง แต่ก็มักกระจุกตัวอยู่ในผู้เล่นรายใหญ่หรือนายทุนผู้มีกำลัง โดยรูปแบบที่ใช้คือ โดรนทางการเกษตรที่ใช้ในการหว่านเมล็ด พืช พ่นปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงใช้สำรวจพื้นที่ทางการเกษตรด้วยเช่นกัน แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนทางการเกษตรจะมีราคาถูกมากแล้วอยู่ที่ตัวละ 200,000 บาท แต่สำหรับชาวนาชาวไร่รายเล็ก ๆ หากจะลงทุนก็ยังถือว่าไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องแบกรับเอาไว้อยู่ดี

หรือแม้แต่การทำเกษตรแบบ Indoor farming ซึ่งเป็นรูปแบบโรงเรือนที่ชาวนาชาวไร่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมได้ง่ายกว่าไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิแสงแดด ความชื้น ปริมาณน้ำ และปุ๋ย เป็นต้น ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ทำให้เมื่อลงทุนก็ต้องเลือกปลูกพืชผักผลไม้ที่ราคาดีเท่านั้น และไปนำไปสู่การขาดความหลากหลาย ซึ่งอาจต่อเนื่องไปสู่การมีอุปทานล้นตลาดก็เป็นได้ รวมไปถึงเงื่อนไขของตัวโครงสร้างโรงเรือนเองก็ทำให้พืชผักบางชนิดไม่สามารถปลูกได้

ในฟากของเครื่องจักรทางการเกษตรประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกเครื่องจักรกลทางการเกษตรและส่วนประกอบที่สำคัญของโลก มูลค่าส่งออกต่อปีอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นการส่งออกรถแทรกเตอร์และส่วนประกอบ และอีกส่วนคือการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ เครื่องเก็บเกี่ยว เครื่องนวด เครื่องสูบน้ำ เครื่องไถ คราด หว่าน เครื่องฉีดพ่น เครื่องอบแห้ง สี ขัด ยก คัดแยกขนาด และส่วนประกอบ ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการไทยสามารถต่อยอดความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้กับเทรนด์โลกด้าน Agritech ได้ ผ่านการพัฒนาระบบอัตโนมัติสำหรับรถแทรกเตอร์และรถเก็บเกี่ยว

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันของผู้ประกอบการเดิมกับสตาร์ทอัพด้าน Agritech เพื่อยกระดับไปสู่การพัฒนา Agritech ขั้นสูง อย่างการพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic nose) ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถูกใช้เพื่อตรวจวัดและจำแนก กลิ่นสินค้าเกษตร รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเรดาร์ เซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ ผ่านแอปพลิเคชั่นเพื่อการพยากรณ์ ตรวจหาโรคและสุขภาพของพืช เช็คระบบควบคุมน้ำ สภาพดิน อุณหภูมิ และความชื้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถขยายผลต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ อย่าง Agriculture Technology Solution Provider เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ Smart farming ทั่วโลก และถือเป็นการกระจายความเสี่ยงไม่ให้ผู้ประกอบพึงพารายได้ด้านเดียวจากการขายเครื่องจักรกลทางการเกษตรเป็นหลักอีกต่อไป

อุตสาหกรรมเกษตรในวันนี้ของได้ไทยประสบปัญหาค่อนข้างมาก ตั้งแต่แรงงานที่นับวันมีแต่จะน้อยลงเรื่อย ๆ ต้นทุนการทำเกษตรไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่าแรงงาน ที่สูงขึ้นจนชาวนาชาวไร่เป็นหนี้เป็นสินมากมายจากกู้เงินมาทำเกษตร สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเกษตรกรไทยที่จนถึงวันนี้ก็แก้ไม่ตกเสียที จนบางทีรู้สึกเหมือนจงใจทำให้แก้ไม่ได้ และตอนนี้เราก็กำลังถูกให้ความหวังใหม่อีกครั้งว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเมื่อคุณชาวนาชาวไร่ทั้งหลายหันมาพึ่งพา เทคโนโลยีในรูปแบบอุตสาหกรรมเกษตร 4.0

อุตสาหกรรมเกษตร 4.0 ตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นความหวังและทางรอดใหม่ของเกษตรกรไทยจากการกล่าวอ้างของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ในความเป็นจริงจะสามารถเป็นความหวังแห่งการอยู่รอดได้จริงไหม ยังเป็นคำถามชวนสงสัยไม่น้อยเลยทีเดียว

เพราะเทคโนโลยีที่เราเข้าใจว่าเป็นความหวังหากมองในอีกมุมหนึ่งเหมือจะเป็นต้นทุนแฝงในระยะยาวมากกว่าด้วยซ้ำ เริ่มตั้งแต่ต้นทุนที่ซื้อเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ เมื่อใช้ไปนานเข้าก็ต้องซ่อมบำรุง ต้องมีการอัปเดทซอร์ฟแวร์ใหม่ ๆ ตรงนี้ไม่มีใครบอกว่าในอนาคตจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงรึเปล่า และสำหรับคนที่ไม่มีกำลังจะซื้อก็ต้องเช่าใช้นั้นเท่ากับเป็นต้นทุนระยะยาว แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้มีกี่กลุ่ม คำถามคือถ้าต้องใช้หลาย ๆ กลุ่มผสมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดของผลผลิต เกษตรกรตัวเล็ก ๆ จะมีกำลังพอใช้งานพวกมันจริง ๆ หรือเปล่า ?

สิ่งที่มองเห็นตอนนี้ที่ชัดเจนเลยคือ พวกเขาจะยังเป็นหนี้สินเหมือนเดิมและอาจจะมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะบริการทางการเงินยุคใหม่ที่สร้างหนี้ง่าย แต่มีความสามารถใช้รึเปล่าก็อีกเรื่อง พร้อมการติดตามความเคลื่อนไหวแบบทุกฝีก้าว ผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รู้จักเราดียิ่งกว่าตัวเรารู้จักตนเอง นี่เท่ากับชีวิตเราอยู่ในมือคนอื่นแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริง ๆ

แล้วอะไรทำให้เชื่อว่าเราจะมีความหวังขึ้นจากการมาของเทคโนโลยี ?

ถ้าหากให้ผมนึกทางที่มีความหวังซึ่งถูกพิสูจน์แล้วว่าดีจริง ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การสอนให้เกษตรกรนำ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องกว่าหรือเปล่า ?

เขียน : เอกพล มงคลพัฒนกุล

#Agriculture #businessplus #อุตสาหกรรมเกษตร #นวัตกรรม #Aquaponics