8 บริษัทใหญ่ยอมเจ็บแต่จบ!! สลัดธุรกิจเดิมทิ้ง หันหัวเรือเปลี่ยนทิศ พุ่งเป้าลุยธุรกิจใหม่

การเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรม หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นที่ไม่เหมือนธุรกิจเดิมที่เคยทำปกติแล้ว เราจะไม่ค่อยได้ให้เห็นกันบ่อยๆ สิ่งที่พอจะคุ้นกันอยู่บ้างก็คือการถูกครอบงำกิจการ (Take Over) หรือเรียกว่าการสวมธุรกิจจากบริษัทอื่นเข้ามาแทนที่ธุรกิจเดิมนั่นแหละ

สาเหตุที่ไม่ค่อยมีบริษัทไหนคิดเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ เป็นเพราะหลายๆ บริษัทได้ลงทุนไปในเครื่องจักร สิ่งปลูกสร้าง ที่ออกแบบมาสำหรับธุรกิจหนึ่ง แต่หากเปลี่ยนธุรกิจ ก็จะต้องกลับมาลงทุนใหม่เพิ่ม และสิ่งปลูกสร้าง หรือเครื่องจักรที่เคยลงทุนไปก่อนหน้านี้หากใช้งานได้ไม่เต็มที่ก็จะเกิดเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาส

แต่เมื่อสถานการณ์เข้ามาบีบบังคับ อย่างที่กำลังเผชิญกับโควิด-19 ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา บางธุรกิจไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น กิจการที่ถูกสั่งให้ปิด หรือธุรกิจที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก ก็อาจจะไม่สามารถเปิดกิจการต่อไปได้ หรือแม้กระทั่งผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทาน ที่กระทบกันมาเป็นลูกโซ่ เช่น การจัดส่งอุปกรณ์ จัดส่งวัตถุดิบล่าช้า ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้บริษัทยอมที่จะ “เฉือนเนื้อร้ายทิ้ง” ด้วยการ Disruption ตัวเอง และเปลี่ยนกลุ่มธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง

นับตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา จนถึงตอนนี้ (27 ก.ค.2564) มีบริษัทฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปลี่ยนกลุ่มธุรกิจไปแล้ว 8 บริษัทฯ ด้วยกัน (ไม่รวมการเปลี่ยนตลาดจาก mai ไป SET)

สาเหตุส่วนหนึ่ง ‘เรา’ คาดว่า บริษัทต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เพื่อให้กิจการยังอยู่รอด โดยเฉพาะช่วงที่โควิด-19 เข้ามาทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง หลายๆ บริษัทที่ไม่อาจทำรายได้จากธุรกิจเดิม (เพราะอาจจะติดปัญหาทั้งด้านแรงงาน ขนส่ง หรือแม้แต่ปัญหาจากห่วงโซ่อุปทาน) เลยจำเป็นต้องหารายได้อย่างอื่นมาทดแทน และบางองค์กรต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่น โดยคำนึงถึงโอกาสเติบโตในอนาคต (และเมื่อรายได้จากธุรกิจใหม่มีสัดส่วนมากกว่าธุรกิจเดิม ก็ต้องเปลี่ยนแปลงกลุ่มอุตสาหกรรม)

โดยการเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรม ของบริษัทฯ ในตลาดหุ้นถือว่าสำคัญมาก เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมต้องสอดคล้องกับสัดส่วนรายได้หลัก และเพื่อให้นักลงทุนเห็นว่า ตอนนี้บริษัทพึ่งพารายได้หลักจากธุรกิจอะไรกันแน่?

และการเลือกเข้าลงทุนจากอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนด้านพื้นฐาน เพราะจะสามารถใช้เพื่อวิเคราะห์ผลประกอบการ หรือแนวโน้มธุรกิจที่สุดท้ายแล้วจะสัมพันธ์กับราคาหุ้น และมูลค่าของบริษัทฯนั้นๆ

สำหรับบริษัทที่ทำการเปลี่ยนกลุ่มมีทั้งหมด 8 บริษัท (ตามตารางประกอบ) อ่านข้อมูลต่อได้ที่ www. และเราจะนำมายกตัวอย่าง 3 บริษัทฯ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปแบบสิ้นเชิง

1. บมจ.แอดวานซ์ คอนเนคชั่น คอร์ปอเรชั่น (ACC) เดิมอยู่กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค / ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิต และออกแบบพัดลมซึ่งมีโคมไฟประกอบเข้ากับพัดลมเป็นเครื่องตกแต่ง ภายใต้แบรนด์คุ้นหูคุ้นตาอย่าง Sunlight, COMPASS EAST และ Air-le-gance

แต่ปัจจุบัน บริษัทมีรายได้หลักจากธุรกิจพลังงานทดแทน จึงได้ย้ายมากลุ่ม ทรัพยากร /พลังงานและสาธารณูปโภค โดยข้อมูลไตรมาส 1 ปี 2564 มีรายได้จากการขายไฟฟ้าเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 28.47 ล้านบาท และรายได้จากการรับเหมาติดตั้งแผงโซล่าร์จำนวน 8.72 ล้านบาท รวมกันแล้วสูงถึง 37.19 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 95.24% ของรายได้รวมซึ่งอยู่ที่ 39.05 ล้านบาท

2. บมจ.วาว แฟคเตอร์ (W) เดิมเป็นผู้ผลิตธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Components) อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Technology)

แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงมาทำธุรกิจอาหาร และมีรายได้หลักจากธุรกิจอาหารจึงย้ายไปกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) โดยไตรมาส 1 ปี 2564 มีรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม 96.01 ล้านบาท คิดเป็น 100% ของรายได้รวม หลังจากได้ทำการตัดขายธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ไปแล้วในปี 2563

3. บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์ (GLOCON) เดิมอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) หมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงการดําเนินธุรกิจเป็นธุรกิจส่งออก ธุรกิจอาหารแปรรูปแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสําเร็จรูปพร้อมทาน และผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้ง และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)

และยังมีอีกหลายบริษัท รวมทั้งสิ้น 8 บริษัทที่ทำการเปลี่ยนแปลงกลุ่มอุตสาหกรรมตามตารางประกอบ

ซึ่งไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม 256.70 ล้านบาท คิดเป็น 62.67% ของรายได้รวม

โดยปกติแล้วบริษัทฯ จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย จะเปลี่ยนแปลงกลุ่มอุตสาหกรรม และหมวดธุรกิจจาก 3 กรณี คือ

1. ตลท.จะพิจารณาจากรายงานประจำปี ซึ่งเป็นรายงานที่บริษัทต้องส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 เดือนนับจากวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของแต่ละบริษัท และหากโครงสร้างรายได้ไม่สอดคล้องกับหมวดธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์จะมีหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงหมวดธุรกิจไปยังบริษัทภายใน 15 วัน นับจากครบกำหนด

2. โครงสร้างรายได้ของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน กรณีธุรกิจของบริษัทมีการปรับเปลี่ยนจนทำให้โครงสร้างรายได้หลักเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดการครอบงำกิจการ หรือเปลี่ยนประเภทการประกอบธุรกิจ โดยจะปรับย้ายเมื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีผลแล้ว

3. บริษัทจดทะเบียนแจ้งให้ตลท.ปรับเปลี่ยนการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจ เพราะมองว่ากลุ่มธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้าง หากตลท.มีความเห็นสอดคล้องกันก็จะมีหนังสือแจ้งบริษัทและประกาศให้ผู้ลงทุนทั่วไปทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันเริ่มซื้อขายหลักทรัพย์ในหมวดธุรกิจใหม่

#ความเห็น
จากข้อมูลที่เรามี จะเห็นได้กลุ่มที่ถูกเปลี่ยนเข้ามาโดยผู้เล่นรายใหม่ (แต่หน้าเดิมในตลาดหุ้น) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม รวมไปถึงกลุ่มพลังงานทดแทนอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เล่นปรับเปลี่ยนมายังกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเป็นกลุ่มที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ (ต่อให้รายได้ประชาชนลดลงมาก แต่ก็ยังคงต้องซื้อสินค้าเหล่านี้ในการใช้ชีวิต)

และสำหรับกลุ่มพลังงานทดแทนอย่างโรงไฟฟ้า ก็เป็นกลุ่มที่ยังเป็น New S-Curve ที่มีโอกาสเติบโตสูงจากการสนับสนุนของภาครัฐ ให้ประชาชนหันมาผลิต และใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้นจึงอาจพูดได้ว่าทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจเป็นธุรกิจที่ผู้บริหารหลายๆบริษัทฯ มองแล้วว่าจะสามารถอยู่รอดภายใต้วิกฤติที่เรากำลังเผชิญในขณะนี้

ที่มา https://www.set.or.th/th/regulations/simplified_regulations/industry_sector_p2.html
SETSMART

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC