4G มีแต่ได้

เป็นเรื่องที่น่าตกใจเมื่อรายงานของ ITU ระบุว่า ภายในปี 2014 นี้ ประชากรผู้ใช้มือถือ จะมากกว่าจำนานประชากรของโลก ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่เริ่มทยอยเปิดให้บริการ 4G ในช่วงปี 2015 ประชากรที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือกำลังจะมากกว่า ประชากรที่เชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต โลกของโทรคมนาคมกำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคนบนโลกอย่างรวดเร็ว และยากจะหลีกเลี่ยงได้

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตในอัตราเร่ง… จากการขยายตัวแบบระเบิด (Explosive) ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โลกในวันนี้เทียบไม่ได้เลยกับโลกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และโลกอีก 10 ปีนับจากนี้ ก็จะยิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างชนิดที่เราคาดไม่ถึง การขยายตัวในอัตราเร่งนี้จะส่งผลให้ ประชาชนบางส่วนของโลกที่รู้ไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงต้องหลุดจากกระแส ตกยุค ….แล้วตัวคุณและธุรกิจของคุณล่ะ เป็น 1 ในนั้นหรือไม่…

สหภาพโทรคมนาคม (ITU) โดย Mr. Brahima Sanou ผู้อำนวยการ ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ และสร้างความตื่นตาตื่นใจกับคนทั่วโลกว่า ภายในปี 2014 นี้ ประชากรผู้ใช้มือถือจะมากกว่าประชากรโลก โดยรายงานของ ITU ระบุว่า ปัจจุบัน ประชากรผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile-Cellular Subscriptions มีจำนวนสูงถึง 6,800 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็น Mobile-Cellular Penetration ที่ 96% ขณะที่ประชากรทั่วโลก ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 7,100 ล้านคน ขณะที่อัตราการเติบโตของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกในปี 2013 อยู่ที่ประมาณ 5.4% จึงเชื่อว่าประชากรผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจะมากกว่าประชากรโลกในปี 2014 นี้อย่างแน่นอน

ในจำนวนประชากรผู้ใช้มือถือทั้งหมดนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 3,500 ล้านเลขหมาย เป็นผู้ใช้งานที่อยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ฉะนั้นการพัฒนาของโลกในวันนี้จึงเอนเอียงมายังกลุ่มประเทศในเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ในรายงานปี 2013 ของ ITU ยังระบุถึง จำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในแต่ละภูมิภาคว่า กลุ่มประเทศ CIS (อดีต รัสเซียและสหภาพโซเวียต) มีประชากรผู้ใช้มือถือต่อจำนวนประชากร (Mobile-Cellular Penetration) สูงสุดที่ 170% สูงกว่ากลุ่มยุโรปที่ 126% อเมริกาที่ 109% และเอเชีย-แปซิฟิกที่ 89% แต่เมื่อนับรวมประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดแล้ว Mobile-Cellular Penetration จะอยู่ที่ 89% ขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ 128%

ในจำนวนประชากรผู้ใช้มือถือทั้งหมดนี้ประมาณ 39% หรือ 2,700 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยในจำนวนนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 77% ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเข้าถึงเพียง 31% ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ 32% และเมื่อแบ่งแยกตามเพศแล้ว จะพบว่าใน 2,700 ล้านคนนั้น ผู้ชายจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ 1,500 ล้านคน ขณะที่ผู้หญิงเข้าถึงเพียง 1,300 ล้านคนเท่านั้น และคาดว่าภายในสิ้นปี 2014 ประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,900 ล้านคน

เมื่อแบ่งแยกตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกแล้ว พบว่ากลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก มีประชากรที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงสุดที่ 895 ล้านคน แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 22% ของจำนวนประชากรทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ทวีปอเมริกาที่มีประชากรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือที่ 460 ล้านคน ยุโรปที่ 422 ล้านคน กลุ่มประเทศที่มีการเชื่อมต่อน้อยที่สุดคือ กลุ่มประเทศแอฟริกา มีประชากรที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้เพียง 93 ล้านคน คิดเป็น 11% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และหากนับประชากรที่ใช้งาน Mobile Broadband อย่างสม่ำเสมอ หรือ Active User แล้วจะพบว่ามีอยู่ถึง 2,100 ล้านคน หรือประมาณ 70% ของประชากรผู้ใช้ Broadband ทั้งหมด

และหากย้อนกลับไปดูเมื่อปี 2007 จะพบว่า ประชากรที่เข้าถึง Mobile Broadband มีเพียง 268 ล้านคนเท่านั้น หรือ Mobile Broadband เติบโตขึ้นถึง 8.5 เท่าในเวลาเพียง 5 ปี โดยในจำนวนนี้นับเอเชียเป็นกลุ่มประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุด โดยประชากรผู้ใช้ Mobile Broadband เติบโตขึ้นจาก 472 ล้านคนในปี 2011 เป็น 1,160 ล้านคนในปี 2013 ซึ่งเป็นการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในโลก

จากรายงานของ ITU จะเห็นว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโทรคมนาคมได้เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างมาก วันนี้ประชากรผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่าประชากรโลก หนึ่งในสามของประชากรโลกเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน Mobile Broadband และโลกของการสื่อสารยังคงเติบโตด้วยอัตราเร่ง

วันนี้เราจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในสังคมโลก เช่น การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Social Media ทั้ง Facebook, Twitter, Youtube หรือน้องใหม่อย่าง Line ที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นจาก 0 เป็น 400 ล้านคนทั่วโลกในเวลาเพียง 4 ปี ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในโลก อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และโลกของการสื่อสารกำลังจะย่อโลกของคุณให้อยู่ในสมาร์ตโฟน

โทรคมนาคมไทยเทียบระดับโลก
สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ปลดล๊อคโทรคมนาคมไทยและเปิดประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz สำหรับใช้ลงทุนพัฒนาเป็นบริการโทรศัพท์มือถือในเครือข่าย 3G ไปเมื่อช่วงปลายปี 2554 แต่ด้วยความที่ประเทศไทยมีโทรศัพท์มือถือใช้มาแล้วมากกว่า 20 ปี ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 138% จากจำนวนประชากร 67 ล้านคน หรือคิดเป็นประชากรผู้ใช้งานโทรศัพท์ประมาณ 92 ล้านเลขหมาย ในจำนวนนี้ คิดเป็นผู้ใช้งานในระบบโพสต์เพดที่ 11.7 ล้านเลขหมาย และระบบพรีเพดที่ 81 ล้านเลขหมาย

โดยตลาดในประเทศ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลักอยู่ 3 รายได้แก่ AIS, DTAC และ Truemove โดย AIS ยังครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งโดยมีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 41.45% รองลงมาได้แก่ DTAC มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 30.79% และ Truemove มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 25.05%

ภายหลังการลงทุนโครงข่าย 3G เป็นต้นมาพบว่า พฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเห็นได้จากเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของรายได้จากบริการ Non-Voice ที่เพิ่มขึ้น จาก 19.31% ในไตรมาส 4 ปี2554 เป็น 33.56% ในไตรมาส 4 ปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในเวลาปีเศษๆ เท่านั้น ขณะที่รายได้จาก Voice ก็ลดลงจาก 67.40% เหลือเพียง 55.81% เท่านั้น

Road Map 10 ปีบริหารโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม กสทช. ได้เตรียมการจัดทำ Roadmap ในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของประเทศไทยใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อวางแผนการจัดสรรการใช้งานคลื่นความถี่ ให้เพียงพอ และตอบสนองการใช้งานของภาคประชาชนและภาคธุรกิจอย่างเต็มที่ โดยนอกเหนือจากคลื่นความถี่ที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันอันได้แก่ คลื่น 850 MHz และ 900 MHz ในช่วงคลื่นความถี่ต่ำแล้ว

ในย่านความถี่ต่ำนี้ยังมีคลื่นความถี่ที่สำคัญอีกคลื่นหนึ่งคือ คลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งปัจจุบันคลื่นความถี่ 700 MHz นี้ ถูกใช้ในกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบการออกอากาศโทรทัศน์จากแอนาล็อกสู่ระบบการออกอากาศแบบดิจิตอล ที่เปิดประมูลไปเมื่อปลายปี 2556 นั้น จะทำให้คลื่น 700 MHz ที่ใช้เพื่อการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบอะนาล็อกว่างลง ซึ่งภายหลังการเปลี่ยนถ่ายสู่ทีวีดิจิตอลทั้งหมดแล้ว

คลื่นดังกล่าวบางส่วนจะสามารถนำมาจัดสรรเพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคมได้ โดยคลื่น 700 MHz นั้น ประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้นำมาพัฒนาและเปิดให้บริการ 3G และ 4G เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่ส่งออกไปได้ไกล เหมาะกับการเปิดให้บริการในเขตต่างจังหวัด และพื้นที่ห่างไกล

ส่วนในช่วงคลื่นความถี่สูงนั้น นอกจากคลื่น 2100 MHz ที่มีการเปิดประมูลเพื่อนำมาให้บริการ 3G ในประเทศไทยเมื่อปี 2555 แล้วยังมีคลื่น 1800 MHz ที่ส่วนหนึ่งได้หมดสัญญาสัมปทาน และจะนำมาจัดประมูลในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งคลื่น 1800 MHz นั้น นอกจากจะนำมาให้บริการ 2G ดังที่ประเทศไทยใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ประเทศต่างๆ ในโลกยังนำคลื่นความถี่ 1800 MHz มาพัฒนาเป็นบริการ 4G เพื่อรองรับ Mobile Broadband ในเขตเมืองอีกด้วย

นอกเหนือจากทั้งสองคลื่นแล้ว ในช่วงคลื่นความถี่สูงยังมี คลื่น 2300 MHz คลื่น 2600 MHz และ 3400 MHz ที่อยู่ใน Road Map ในการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช.อีกด้วย โดยคลื่น 2300 MHz ปัจจุบัน บมจ.ทีโอที เป็นผู้ถือครองคลื่นขนาด 64 MHz อยู่ และอีกส่วนหนึ่งใช้งานในกิจการด้านความมั่นคง ซึ่งทางทีโอที ก็มีแผนจะนำคืนคลื่น 34 MHz ให้กับทาง กสทช. และจะขออีก 30 MHz เพื่อนำไปลงทุนพัฒนาเป็นบริการ 4G แต่ล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ออกมา

ส่วนคลื่น 2600 MHz นั้นปัจจุบัน ถือครองโดยกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท. แต่มีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้ความถี่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าในอนาคตจะถูกนำมาจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ตามแผนงานในการจัดสรรความถี่ในช่วง 10 ปี ข้างหน้าของ กสทช.

หลายคนคงมีคำถามเกิดขึ้นว่า เมื่อมีคลื่น 2100 MHz มาให้บริการ 3G แล้วขณะที่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งก็เปิดให้บริการ 4G และในสิงหาคมนี้ กสทช.ก็จะนำคลื่น 1800 MHz ออกมาประมูลเพื่อใช้ในการทำ 4G อีก ก็น่าจะเพียงพอแล้ว การจัดสรรคลื่นอื่นๆ เพิ่มเติมจะไม่มากเกินไปหรือ…

ในส่วนนี้แท้จริงแล้วคลื่นต่างๆ ที่ถูกนำมาจัดสรรนั้น เป็นการจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้เพืยงพอที่จะรอบรับการเติบโตของการโทรคมนาคมของประเทศ ในประเทศไทยเอง แม้จะมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ถึง 135% ของจำนวนประชากร แต่ในจำนวนนี้มีผู้ที่ใช้งาน 3G เพียง 30% เท่านั้น ถ้านับเฉพาะอัตราผู้ใช้งานในระดับปัจจุบันแล้ว 3G และ 4G ยังมีโอกาสเติบได้อีกอย่างน้อย 65 ล้านเลขหมาย

แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าอัตราการใช้งานเลขหมายโทรศัพท์มือถือต่อประชากรจะมากกว่า 150% และบางประเทศในปัจจุบันสูงถึง 180% ของจำนวนประชากร ปริมาณการใช้งาน 3G จะเพิ่มขื้นอีกมาก ซึ่ง ITU ประเมินว่า การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน Mobile Broadband ในปัจจุบันที่ประมาณ 1,500 ล้านเลขหมายนั้น จะเพิ่มเป็น 7,000 ล้านเลขหมาย หรือมากกว่าประชากรโลก ภายในปี 2561

ในขณะที่ ITU ได้ประเมินความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ของประเทศที่พัฒนาแล้วไว้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว จำเป็นจะต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ในจำนวนที่มากพอ เพื่อให้โทรคมนาคมเป็นระบบที่ส่งเสริมการเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในกับประเทศ โดย ITU ระบุว่าภายในปี 2563 ประเทศต่างๆ ควรจะจัดสรรคลื่นความถี่ไว้ใช้งานที่ 760 MHz และเพิ่มเป็น 840 MHz ภายในปี 2566

ขณะที่ประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มีคลื่นความถี่ที่ กสทช.จัดสรรไปแล้วเพียง 45 MHz กับคลื่น 2100 MHz โดยในปีนี้จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz อีก 25 MHz และคลื่นความถี่ 900 MHz อีก 17.5 MHz รวมแล้วถึงสิ้นปีนี้จะมีการจัดสรรคลื่นไปเพียง 87.5 MHz เท่านั้น ยังห่างไกลเป้าหมายอยู่ลิบลับ

1800 MHz ก้าวสู่ 4G เต็มรูปแบบ
สำหรับในปี 2557 นี้ ทางกสทช. จะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมด 2 ช่วงคลื่นความถี่ ได้แก่ คลื่นความถี่ 1800 MHz และคลื่นความถี่ 900 MHz โดยคลื่นความถี่ 1800 MHz เดิมเป็นคลื่นความถี่ภายใต้สัญญาสัมปทานของ DPC และ True มีคลื่นความถี่ทั้งสิ้น 25 MHz โดยแบ่งความถี่ออกเป็น 2 ช่วงช่วงละ 12.5 MHz ซึ่งคลื่นความถี่ทั้งสองเมื่อหมดสัญญาสัมปทาน ตามกฎหมายเจ้าของสัญญาสัมปทานจะต้องส่งคืนคลื่นความถี่ให้เป็นสมบัติของชาติ และ กสทช.จะต้องนำออกมาจัดสรรตามกฎหมาย

โดยภายในเดือนสิงหาคมนี้ กสทช. จะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในเบื้องต้นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค.เห็นชอบการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลคลื่นความถี่1800 MHz ที่ผ่านการคำนวณโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ไว้ที่ราคา 11,600 ล้านบาทต่อความถี่ 25 MHz หรือคิดเป็นราคาเริ่มต้นที่ 464 ล้านบาทต่อ 1 MHz

ซึ่งการประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้นั้น กทค. จะแบ่งคลื่นความถี่ในการประมูลออกเป็น 2 สล็อตๆ ละ 12.5 MHz โดยแต่ละชุดจะมีราคาเริ่มต้นที่ 5,800 ล้านบาท โดยราคาเริ่มต้นดังกล่าวเป็นราคาเริ่มต้นที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz ในครั้งที่ผ่านมา

ส่วนคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ได้รับคืนมานั้น เดิมเป็นคลื่นความถี่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.ทีโอที และ AIS ที่ทาง กสทช.จะนำมาจัดประมูลในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2557 นี้ โดยคลื่น 900 MHz มีขนาดความกว้าง 17.5 MHz ซึ่งเบื้องต้น กสทช.ได้กำหนดการประมูลออกเป็น 2 สล็อต ขนาด 10 MHz และ 7.5 MHz ซึ่งปัจจุบันทาง กสทช. ยังไม่สรุปราคาประมูลเริ่มต้นว่าจะมีราคาเริ่มต้นต่อ MHz ที่เท่าไหร่

Mobile Lifestyle เกิดแล้วในไทย
นอกเหนือจากการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดถนนให้กับผู้ใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแล้ว สิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของระบบนิเวศน์ของโทรคมนาคมคือ ผู้ใช้งาน ที่เปรียบเสมือนผู้ขับรถ และรถยนต์ที่เป็นได้เป็นดีไวซ์ หรือเครื่องสมาร์ตโฟน และแอพพลิเคชันที่จะนำมาใช้งาน

ซึ่งในแง่มุมของดีไวซ์ จากการเปิดเผยของผู้ให้บริการของไทยพบว่าตลาดของสมาร์ตโฟนมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2556 นั้น ตลาดมีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 40% และยังมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในปี 2557 ขณะที่จำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟนในปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 30% และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2557 ด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสมาร์ตโฟนแล้ว อีกแนวโน้มหนึ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมการเลือกซื้อสมาร์ตโฟน จากผู้ให้บริการมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ให้บริการทั้ง AIS, DTAC และ Truemove ออกโปรโมชันต่างๆ เพื่อดึงดูดใจผู้ซื้อโดยใช้ระบบการอุดหนุนราคาเข้ามาเสริม เช่น ลูกค้าสามารถซื้อเครื่องสมาร์ตโฟนได้ในราคาเพียงครึ่งราคาจากราคาปกติ แต่ต้องใช้บริการแพ็กเกจในราคาตามที่ผู้ให้บริการกำหนดเป็นเวลา 6-12 เดือน ซึ่งการส่งเสริมการขายลักษณะนี้ เป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ในราคาที่คุ้มค่ามากขึ้น

แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการทำร้ายตลาด และผู้จำหน่ายรายอื่นที่ไม่สามารถจัดหาโปรโมชันที่ดีกว่าได้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดต่างประเทศ เช่น อเมริกา ที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสมาร์ตโฟนจากผู้ให้บริการเครือข่ายเป็นหลักเช่นกัน ฉะนั้นผู้จำหน่ายสมาร์ตโฟนในตลาด คงต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

ส่วนในแง่มุมของแอพพลิเคชันนั้น จะเห็นได้ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในมุมของแอพพลิเคชัน ซึ่งแบ่งแยกออกได้เป็นหลายประการ ดังนี้

ผู้ให้บริการ eBusiness ผันตัวเองสู่ mBusiness มากขึ้น ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ที่อยู่ในโลกออนไลน์ และ eBusiness เห็นแนวโน้มการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของตลาดสมาร์ตโฟน ที่เกิดขึ้นจากการเปิดประมูล 3G จึงผันตัวเองสู่ mBusiness มากขึ้น ตามตัวเลขการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน Mobile Broadband ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

มีผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดเข้าสู่ mBusiness มากขึ้น ในมุมนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน จากเดิมที่ผู้บริโภคมักจะสื่อสารกันผ่าน SMS หรือโปรแกรมประเภท Messenger ในเครื่อง PC แต่ปัจจุบันผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้แอพพลิเคชันในการสื่อสาร อย่างเช่น Line หรือ Messenger บนสมาร์ตโฟน เช่น Facebook Messenger, Google Talk แทนการสื่อสารในรูปแบบเดิม

นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการแอพพลิเคชัน ในระดับเวิลด์ไวด์ เข้ามาให้บริการในประเทศมากขึ้น อย่างกรณีล่าสุดของการเปิดตัว แอพพลิเคชัน Opensnap ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันประเภท Social Media ที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบการทานอาหารและรีวิว ซึ่ง Opensnap เป็นยักษ์ใหญ่ที่ฮ่องกง ที่มีแอพพลิเคชันให้บริการในหลายประเทศแถบเอเชีย

การเข้ามาลงทุนในไทยครั้งนี้ เฉพาะค่าการตลาดเพียงอย่างเดียวก็ใช้เงินมากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ยังไม่นับต้นทุนในการดูแลบริหารจัดการแอพพลิเคชัน นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการ อย่าง ฮูเบอร์ Lazada Salora Rakuten รวมถึงบริการเฉพาะทางเช่น บริการทางการเงิน บริการทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้งหมด กำลังเปิดให้บริการแบบ mBusiness แทบทั้งสิ้น

ในปัจจุบัน เราสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็จะเห็นคนรอบตัว หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาดู อัพเดตข้อมูล และพิมพ์ข้อความโต้ตอบกับกลุ่มสังคมออนไลน์ ขณะที่บางกลุ่มเปิดดูวิดีโอคลิป ภาพยนตร์ หรือโทรทัศน์ผ่านทางออนไลน์

ทั้งหมดนี้กลายเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และรวมถึงสังคมโลกพฤติกรรมของคนทุกคนกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมในยุคของข้อมูลข่าวสาร ที่มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก

ตอนที่ 1.2 : 4G ASIANโตอย่างก้าวกระโดด