บูมสนั่นบอลโลก 2014 เงินสะพัด ธุรกิจเฟื่องฟู

อีกเพียงแค่ 1 เดือนที่พลุพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ในสนามเซา เปาโลจะเต็มท้องฟ้า และนั่นทำให้บราซิลในฐานะเจ้าภาพครั้งที่ 20 จะประกาศศักยภาพของตัวเองในเวทีระดับโลกมากขึ้น

บราซิลเป็นประเทศขนาดใหญ่พอๆ กับสหรัฐอเมริกา ที่เคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วในค.ศ. 1994 ซึ่งผลพวงจากการเป็นเจ้าภาพครั้งนั้น นอกจากเศรษฐกิจอเมริกาจะดีขึ้น คนภายในประเทศนี้ยังรู้จักกีฬา “ฟุตบอล” มากขึ้น

การเตรียมความพร้อมในฐานะเจ้าภาพ แม้ค่อนข้างจะสะดุดไปบ้าง และทุกอย่างก็ผ่านมาได้ ซึ่งแน่นอนว่าฟุตบอลโลก (World Cup) ไม่เพียงเป็น Big Event ระดับโลก แต่หมายถึง “โอกาสทอง” ของประเทศผู้จัดงาน แม้แต่ธุรกิจต่างๆ ที่จะใช้จังหวะนี้ ขับเคลื่อนสินค้าสร้างยอดขายตลอดทัวร์นาเมนต์

บราซิล ลงทุนใช้เงินลงทุนไปมากกว่า 66,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างถนน เส้นทางรถไฟ สาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนสนามบินและท่าเรือด้วย

การลงทุนของบราซิล โดยประธานาธิบดี “จิลมา รูเซฟฟ์” นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก นอกจากต้องการยกระดับ “บราซิล” ขึ้นเป็นประเทศแถวหน้าของโลก เธอยังมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มอีกเท่าตัวภายในปี 2565 (ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า : บราซิลมีรายได้ต่อหัวประชากรที่ 22,402 รีล (11,429 ดอลลาร์) ในปีที่ผ่านมา)

แน่นอนว่า มหกรรมฟุตบอลโลกหนนี้ ก่อนที่บราซิลจะเป็นเจ้าภาพ “โอลิมปิก” ในปี 2559 แม้จะมีเสียงคัดค้านจากฝ่ายค้าน แต่เมื่อมองถึงโอกาสทางธุรกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม นี่อาจเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศที่ได้ชื่อว่า คลั่งฟุตบอลมากที่สุดในโลก

รายงานพิเศษชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ Business+ ทั้งสอบถามและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการต่างๆ และทั้งหมดกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า มันคือโอกาสทองที่พลาดไม่ได้

โอกาสเปิดแล้ว
หากมองย้อนจากสถิติเดิม การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ชี้ให้เห็นว่า ประเทศเจ้าภาพมีโอกาสสูงมากที่จะสร้างผลกำไรทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

การแข่งขันฟุตบอลครั้งที่ 19 ที่ประเทศอัฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ เศรษฐกิจโดยรวมถือว่า ดีขึ้นกว่าเดิมแม้การแข่งขันตลอด 1 เดือน อาจจะไม่ดึงดูดผู้เข้าชมต่างประเทศมากที่สุด เท่าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1994 แต่ถือว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทางอ้อม เกิดการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น (มีผลกำไรจากการจัดงานราว 2,100ล้านดอลลาร์)

หรือครั้งที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพในปี 1994 นอกจากจะมีเงินหมุนเวียนมากถึง 623 ล้านดอลลาร์ มากกว่าเงินหมุนเวียนการจัดแข่งขันซูเปอร์โบว์ลที่ได้เพียง 182 ล้านดอลลาร์

ผลพลอยได้จากการเป็นเจ้าภาพครั้งนั้น เกิดกระแสบูมและพัฒนาฟุตบอลลีกแห่งชาติ หรือเมเจอร์ลีกซอคเกอร์ ในปี 1996 ทั้งที่มีการเริ่มต้นมานานแล้ว แต่กระแสก็ไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้างเหมือนการแข่งขันลีกฟุตบอลอื่นๆ ในโลก นั่นเพราะคนอเมริกัน ชื่นชอบกีฬาอย่างเบสบอล บาสเก็ตบอล ซูเปอร์โบว์ มากกว่า

หรืออย่างในปี 2002 เจ้าภาพคือ เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น การขายตั๋วได้ 3 ล้านใบ ได้เงินมา 1.2 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น

การแข่งขันครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้บราซิลจะลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ด้วยเงินจำนวนที่สูงมาก แต่ก็เชื่อว่า บราซิลจะยังได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

ลำพังแค่เงินหมุนเวียนจากการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ มีการประเมินว่า เฉพาะแค่ธุรกิจการท่องเที่ยวตลอด 1 เดือนของการแข่งขันจะมีเงินสะพัดมากกว่า 200,000 ล้านบาท

หากมอง “โอกาส” กับกีฬาโอลิมปิกอีก 2 ปีจากนี้ ระบบเศรษฐกิจของบราซิลน่าจะมีการเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม (ลอนดอนเกมส์ ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพครั้งที่แล้ว สามารถทำรายได้ราว 674,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขไม่รวมค่าบัตรเข้าชมและลิขสิทธิ์สินค้าที่ระลึก ฯลฯ)

การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ต่อด้วยมหกรรมมวลมนุษย์ชาติอย่าง โอลิมปิก เสมือนเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลระยะยาว เหมือนที่แอฟริกาใต้ ได้กำไรมากที่สุด เท่าที่ FIFA เคยจัดแข่งฟุตบอลโลกมา

จากการศึกษาของ Ernst & Young Terco ที่ระบุว่า ระหว่างทัวร์นาเมนต์การแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 กลางปีนี้ อาจเกิดผลต่อเศรษฐกิจของบราซิลในเชิงบวกและทางลบ

ทางบวกจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เป็นที่ชัดเจนว่า ตามสถิติจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล รัฐบาลสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวบราซิลจะถูกเผยแพร่ไปยังสาธารณชนมากกว่า 2,000 ล้านคน ระหว่างการถ่ายทอดสด ขณะที่ผลลบ แม้ถูกมองว่าเป็นการฟุ่มเฟือยที่รัฐบาลนำเงินภาษีมาใช้ในกิจการนี้หลายอย่างเช่นกัน

รถยนต์ที่ขายจำนวนมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการจราจรแน่นขนัดบนผิวการจราจรทางบก และยิ่งรัฐบาลกำลังสร้างถนนเพิ่ม คำถามจึงถูกมองว่า ผลดีจะเกิดกับบราซิล หรือเกิดผลร้ายมากกว่า

ขณะที่การจราจรทางอากาศของบราซิลก็เพิ่มขึ้นในอัตราเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และรัฐบาลบราซิลเตรียมเพิ่มเที่ยวบินอีก 1,973 เที่ยวบิน รองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้นในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ค.

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึง “อนาคต” นี่อาจเป็นการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคในอนาคต เนื่องจากปรมิาณของสายการบินต่างๆ จะปรับลดจำนวนเที่ยวบินลงมาอยู่ในระดับปกติ หลังมหกรรมฟาดเเข้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกสิ้นสุดลง

สำหรับความเป็นอยู่ของชาวบราซิล แน่นอนว่า กิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ตลอดราว 1 เดือน ประชากรในบราซิลนอกจากจะมีงานทำมากขึ้น ร้านค้าจะนำสินค้าที่เกี่ยวข้องออกมาขายแก่นักท่องเที่ยว เกิดการหมุนเวียนของกระแสเงินจำนวนมาก

ข้อมูลของ Ernst & Young Terco ยังระบุต่อว่า กิจการต่างๆ ครั้งนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินธุรกิจในประเทศที่มี GDP ราว 2,282 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 8 ของโลก กับจำนวนประชากร 200 กว่าล้านคน จะยิ่งถูกจับตามองมากกว่าที่ผ่านมา

โดยเฉพาะเมื่อมองถึงเงินมหาศาล 63,449 ดอลลาร์ หรือราว 2 แสนกว่าล้านบาท ที่จะกระจายไปยังส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลก 2014

โดยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวบราซิล และดูฟุตบอลโลกครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากนักท่องเที่ยว และนักเที่ยวทั้งหลายอาจจะจ่ายเงินรวมกันมากกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ และเงินส่วนใหญ่นี้จะไหลเวียนกลับมายังรัฐบาล คิดเป็นสัดส่วน 42% คิดเป็นเงินราว 5,500 ล้านดอลลาร์ และอีกกว่า7,600 ล้านดอลลาร์ จะไปอยู่กับภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 58%” นักวิเคราะห์จาก Ernst & Young Terco ระบุ

ธุรกิจท่องเที่ยว บูม
สหพันธ์การท่องเที่ยวแห่งบราซิล ประเมินว่านักท่องเที่ยวจากต่างแดนที่เดินทางมาเที่ยวในบราซิลและชาวบราซิลเองจะมีการใช้จ่ายสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญบราซิล หรือ 338,000 ล้านบาท ในช่วง 1 เดือนของการแข่งขัน

“ภาคบริการที่มีศักยภาพสูงสุดในการได้รับประโยชน์ คือ การท่องเที่ยว, โรงแรม, บริการอาหารและเครื่องดื่ม” ฟลาวิโอ ดีโน่ ประธานสหพันธ์การท่องเที่ยวบราซิล ระบุ

เขายังบอกว่า รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวจะถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น เพราะมันยังเกิดผลกระทบทางอ้อมต่อห่วงโซ่อุปทานด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารจะสั่งของจากร้านขายของชำมากขึ้น คนขายของริมถนนจะต้องการของมาขายมากขึ้น และผู้จัดการโรงแรมจะสั่งซื้อเครื่องดื่มจากผู้จัดจำหน่ายมากขึ้น

“เงินเหล่านี้จะลงไปสู่กระเป๋าของคนในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจบราซิล” ฟลาวิโอ กล่าว

ธุรกิจสื่อ โฆษณา+แบรนดิ้ง เป้าหมายเพื่อยอดขาย
ขณะที่ภาคบริการดูเหมือนว่า จะได้รับโอกาสที่เข้ามามากมายจากนักท่องเที่ยว ธุรกิจสื่อก็เป็นอีกหนึ่งสาขาที่จะสร้างผลงานเช่นกัน

“เวิลด์คัพในประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2006 มีเดียต่างๆ ที่เป็นผู้สนับสนุนและหลังงานบอลโลกจบ ธุรกิจสื่อในเยอรมนีมีการเติบโตถึง 5.1% ในทำนองเดียวกันการลงทุนกับมีเดียครั้งนี้ สปอนเซอร์หลักต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมาก เพื่อแบรนดิ้งสินค้าของตนเอง ไปยังสายตาลูกค้ามากกว่า 2,000 ล้านคน” บทวิเคราะห์จาก Ernst & Young Terco ระบุ

ธุรกิจสื่อ (มีเดีย) อาจกล่าวได้ว่า ทุกการแข่งขันของเวิลด์คัพ ได้สร้างศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ สินค้าต่างๆ ที่หวังรอการโฆษณา จากสื่อโทรทัศน์ วิทยุ แม้แต่ออนไลน์ สายตาของผู้คนมากกว่า 2,000 ล้านคน ต้องมองเห็นจากการถ่ายทอดสดกว่า 64 เกม จาก 12 สนามฟุตบอล

และยังไม่นับรวมนักจำนวนนักท่องเที่ยวหลายล้านคนที่มาเชียร์ทีมรักของตนเอง จะทำให้เกิดการมองและจดจำแบรนด์สินค้า ทำให้บรรดาสปอนเซอร์หลัก หรือแม้แต่ธุรกิจที่ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุน ต่างใช้โอกาสทองนี้ “ผูกสินค้า” ของตนแทรกเข้ากับการแข่งขันครั้งนี้

บอลโลก ลมหายใจของอาดิดาส
หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักฟุตบอลโลก 2014 คือ อาดิดาส คู่แข่งสำคัญของบริษัทกีฬาจากอเมริกา (ไนกี้) ซึ่งฟุตบอลโลกครั้งนี้ ทั้งคู่ต่างมีทีเด็ดสำคัญในการประชาสัมพันธ์แบรนด์ เพื่อเร่งกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

อาดิดาส แม้เพิ่งเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับฟีฟ่ายาวไปจนถึงฟุตบอลโลกปีค.ศ.2030 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นโอกาส Branding สินค้าของไนกี้ต่อสาธารณชนไปได้เลย

ไนกี้ มีบทเรียนและตำราเกี่ยวกับ Sport Marketing เพื่อ Branding สินค้า เช่นเดียวกับอาดิดาส แต่ในฐานะ Official Partner ของฟีฟ่า อาดิดาสสามารถใช้สิทธิ์เต็มที่มากมาย ทั้งจากการผสมผสานโฆษณาผนวกไปกับสินค้าของตนเอง

อาดิดาส ยอมควักเงินจำนวนมากกับกีฬาระดับโลกหลายรายการ ซึ่งแน่นอนบริษัทจากเยอรมนี ย่อมหวังผลกับยอดขาย โดยเฉพาะกับมหกรรมกีฬาอย่างฟุตบอลโลก ซึ่ง วรวรรธน์ เตชะมนตรีกุล ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท อาดิดาส (ประเทศไทย) จำกัด ก็ยอมรับว่า ฟุตบอลโลกกับอาดิดาส อาจกล่าวได้ว่า คือ “ลมหายใจ”

อาดิดาส อาจจะได้เปรียบในฐานะ Official Partner แต่ไนกี้ (Nike) ก็มีทางออก โดยการเชื่อมโยงแบรนด์ของตัวเอง ทั้งกับตัวนักกีฬาที่ต้องใส่สินค้า (รองเท้าสตั๊ด) รวมไปถึงการเป็นสปอนเซอร์เสื้อทีมชาติ

ฟุตบอลโลกครั้งนี้ อาดิดาส เป็นสปอนเซอร์ทีมชาติ 10 ทีม ขณะที่ไนกี้มีมากกว่า คือ 12 ทีม

“บราซิล มี “เนย์มาร์” เป็นดาวเด่น แต่เราก็มี “ลิโอเนล เมสซี่” จากอาร์เจนตินา วรวรรธน์ บอกพร้อมกล่าวว่า ไนกี้ อาจใช้การการตลาดแอบแฝง แต่กับอาดิดาสในฐานะ Official Partner ของฟีฟ่า สามารถใช้สิทธิ์ได้เต็มที่

“บางทีเป็นเรื่องของนโยบายและกลยุทธ์ทางการตลาด แต่ผมเชื่อว่า ในฐานะ Official Partner ย่อมส่งเสียงได้ดังกว่า”

บอลโลก จุดเปลี่ยนอาดิดาส?
ทั้งนี้ อาดิดาสและไนกี้ครองรายได้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าฟุตบอลและกีฬาอื่นๆ รวมกันกว่า 80% หรือคืดเป็นมูลค่าราว 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

และเมื่อมองมายัง “บราซิล” ผู้ผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาชั้นนำทั้งอาดิดาสและไนกี้ ต่างมุ่งหวังเปิดตลาดกำลังซื้อชนชั้นกลางสำหรับการซื้อเสื้อผ้าและอุปกรณ์การกีฬา ขณะที่อาดิดาสดูจะคาดหวังหวังมากถึงขนาดจะช่วยหนุนยอดขายและรายได้ในปีนี้เพิ่มขึ้น

หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารอาดิดาส “เฮอร์เบิร์ต ไฮเนอร์” บอกไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปี 2557 จะเป็นปีแห่งความสำเร็จของบริษัท ซึ่งการที่บริษัทมีบทบาทหลักในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่บราซิลในปีนี้ จะช่วยหนุนการเติบโตได้ โดยอาดิดาสตั้งเป้ากำไรสำหรับปีนี้ไว้ระหว่าง 1,140-1,280 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ไฮเนอร์ เตือนว่า ที่ผ่านมาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อผลประกอบการของบริษัท ที่อยู่ในรูปเงินยูโร และคาดว่าแนวโน้มนี้จะยังต่อเนื่องมาจนถึงปี 2557

ผู้บริหารอาดิดาสยืนยันด้วยว่า ในปีที่แล้ว บริษัทประสบความสำเร็จตามเป้าทุกด้าน โดยบริษัทส่งท้ายปี 2556 ด้วยผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาส 4 มียอดขายเพิ่มขึ้น 12% สูงกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ ทั้งยังเป็นการรับประกันว่า บริษัทจะบรรลุเป้าหมายผลประกอบการที่ตั้งไว้ แม้สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศยังย่ำแย่อยู่

อาดิดาส ระบุด้วยว่า กำไรตลอดทั้งปีที่แล้ว ทะยานขึ้น 49% มาอยู่ที่ 787 ล้านยูโร แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยอดขายกลับลดลง 2.6% มาอยู่ที่ 14,490 ล้านยูโร ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าเงิน

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อาดิดาสเพิ่งจะขยายระยะเวลาในการเป็นข้อตกลงผู้สนับสนุนการแข่งขันการแข่งขันฟุตบอลโลก ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ไปจนถึงปี 2573

อาดิดาส ชี้ว่า การที่ปีนี้เป็นปีที่มีการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ถือเป็นแรงหนุนให้กับยอดขายของบริษัท ซึ่งในฐานะผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของฟุตบอลโลก จะทำให้เกิดการมองเห็นแบรนด์มากขึ้น และบริษัทจะได้อานิสงส์ จากยอดขายที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในสินค้าหมวดฟุตบอล

 

ความหวังของอาดิดาส 

18 adidas 074
วรวรรธน์ เตชะมนตรีกุล ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท อาดิดาส (ประเทศไทย) จำกัด

สิ่งที่อาดิดาส หวังจากกีฬาฟุตบลโลก 2014 นอกจากยอดขายเพิ่มขึ้น บริษัทชั้นนำจากเยอรมนียังมุ่งให้เกิด Top of mind ซึ่ง วรวรรธน์ เตชะมนตรีกุล ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท อาดิดาส (ประเทศไทย) จำกัด ก็ยอมรับในเรื่องนี้

Business+: ในฐานะที่อาดิดาสเป็น Official Partner คุณคิดว่า เราอยู่ในจุดได้เปรียบคู่แข่งแบรนด์กีฬาอื่นๆ
วรวรรธน์ : ตลอดเวลาสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของฟุตบอลโลก หนึ่งในนั้นคือลูกฟุตบอล และเรา (อาดิดาส) กับฟุตบอลโลก ถือว่าเป็นพาร์ตเนอร์กันมานานมากแล้ว และเราก็ต่อสัญญาออกไปจนถึงปีค.ศ.2030

เราผลิตลูกฟุตอบอลเพื่อการแข่งขันมาหลายครั้ง บางคนที่ดูฟุตบอลอาจจะจำชื่อนักฟุตบอลได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่เขาจำชื่อลูกฟุตบอลได้ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ของเราที่พร้อมวางจำหน่าย เสื้อผ้า-รองเท้า ที่เราเป็นสปอนเซอร์กับทีมชาติ 10 ทีม ที่จะลงแข่งในฟุตบอลโลกครั้งนี้ กระทั่งของที่ระลึก

ผมแชร์ได้ว่า โดยตรงแล้วกิจกรรมระดับโลกเราสามารถเชื่อมระหว่างแบรนด์ สินค้า กระทั่งสปอตโฆษณาสื่อสารไปยังผู้บริโภค เราสามารถดำเนินการได้เต็มที่

ถามว่า Brand อื่นสามารถนำเอาแฟชั่นมา link กับบอลโลกโดยตรงได้ไหม บอกเลยว่าทำได้ยาก หรือาจติดขัดข้อบังคับบางประการ และผมเชื่อว่า สิ่งนี้ทอดสะพานมาให้เรา และเราก็อยู่ในจุดได้เปรียบ เพราะผู้บริโภคสามารถจำจดแบรนด์เราได้จากสินค้าหลาย Category

สินค้ารุ่นใหม่ ไม่เฉพาะเสิ้อผ้า รองเท้า ของที่ระลึก สปอตโฆษณา เราสามารถนำมา Roleout  กับตลาดทั่วโลก แยกดีไซน์ให้แตกต่างกัน ทำเป็นรุ่นพิเศษออกมา โดยเราจะสื่อสารภาพลักษณ์ว่า ฟุตบอลโลกไม่ใช่ของใครคนใด คนหนึ่ง ไม่ใช่แค่คนที่เตะฟุตบอลเท่านั้น หากแต่เป็นของทุกคน

กลับมาที่กรณีคู่แข่ง ถ้าพูดจริงๆ คู่แข่งของเรามี 3-4 แบรนด์เท่านั้นที่ทำการตลาดอย่างจริงจังในฟุตบอลโลก แต่เราเป็น Official Partnerซึ่งผมยังเชื่อในศักยภาพของแบรนด์เงินลงทุน และอีกหลายปัจจัยว่าเราจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในบอลโลกครั้งนี้

Business+: ฟังดูน่าสนใจ แสดงว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้จะเป็นงานใหญ่มากๆ สำหรับอาดิดาส

วรวรรธน์ : ใช่ครับ ส่วนเรื่องของเงินลงทุน ผมบอกตัวเลขไม่ได้ บอกได้แค่ว่า งบการตลาดมากกว่าการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2013 และเราจะเริ่ม kick off แคมเปญใหญ่ที่ชื่อว่า “all in or nothing” ความหมายคือว่า ถ้าคุณไม่ทุ่มเทให้หมดคุณจะไม่ได้อะไรเลย ถ้าคุณไม่ทุ่มเทสุดพลังสิ่งที่คุณได้คือความว่างเปล่า ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่า แชมเปียนลีก ณ เมืองลิสบอน วันที่ 24 พ.ค. ช่วงพักครึ่ง จากนั้นเราจะเริ่มแผนโปรโมตไปจนถึงวันแข่งขันฟุตบอลโลก

ส่วนในประเทศไทย แน่นอนว่าจะเป็นงานอีเวนต์ที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยจัดมา งานครั้งนี้เราทุ่มสุดตัว ดังนั้นกิจกรรมทางการตลาด เราทำทุกอย่าง ทั้ง Below และ Above the Line และเสิรมทัพด้วยสื่อดิจิตอล ที่เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับสื่อนี้มากเป็นพิเศษ

“คนดูเรือนแสน จากกิจกรรมใหญ่ จะได้ร่วมประสบการณ์ในบรรยากาศของบอลโลก อย่างที่ไม่เคยจัดขึ้นมาในเมืองไทยมาก่อน โดยที่ครั้งนี้เราจะไม่มีการชิงโชคเกิดขึ้น แต่เราจะแชร์ประสบการณ์ร่วมกับผู้บริโภคคนไทย ผ่านรูปแบบ On Ground ทั้งจัดแสดงนิทรรศการ จำลองมิวเซียมมาไว้กลางกรุง นำของมีค่า ของที่ระลึกจากฟุตบอลโลกในอดีตมาร่วมในงานครั้งนี้”

Business+ : คาดหวังแค่ไหน?
วรวรรธน์ : ในแง่ของกิจกรรมทางการตลาด แน่นอนว่าคาดหวังสูง เริ่มจาก Top view ในแง่ของ awareness เป็นจุดที่เราตอกย้ำให้กับผู้บริโภคได้รับทราบว่า เราคือฟุตบอลโลก และทุกๆ ครั้งที่ฟุตบอลโลกไปที่ไหนคุณต้องนึกถึงเรา ถามว่า เป็นอันดับ 1 ในใจผู้บริโภคต้องนึกถึงเป็นแบรนด์แรก จุดนั้นคือสิ่งที่เราคาดหวัง

อีกส่วนหนึ่ง ผมปฏิเสธไม่ได้ว่า เราก็คาดหวังยอดขายเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างปี 2013 เรามีฟุตบอลยูโร ยอดขายเราก็เพิ่มขึ้น

แต่ก่อนหน้านั้น ไม่มีกิจกรรมกีฬาใหญ่ระดับโลก ยอดขายเราก็ไม่ตก เพราะเรามีสินค้าเข้ามาสอดแทรก เพื่อให้เติมเต็มในส่วนยอดขายทุกปี ดังนั้น ครั้งนี้เรามีฟุตบอลโลก ผมก็จะขายให้ได้มากกว่า 2013

Business+: เท่าที่ผมทราบมา ยอดขายเราโต 2 หลัก ยอดขายราวๆ 3,000-3,500ล้านบาท?
วรวรรธน์ : ใช่ครับ เราเติบโต 2 หลักทุกปี และครั้งนี้ผมหวังว่า ยอดขายเราจะเพิ่มขึ้น

ดูต่อได้ที่ : ตอนที่ 1 ขอเบาะๆ แค่ 650 ล้านบาท

วิทยา กิจชาญไพบูลย์