3 เหตุผลทำให้ ‘กินเจ’ ปีนี้เงียบเหงาแน่นอน!! คาดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจต่ำสุดรอบ 5 ปี

เทศกาลกินเจปี 2564 กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม – 14 ตุลาคม 2564 เป็นเวลา 9 วัน และจะมีช่วงการล้างท้องในวันที่ 5 ตุลาคม (คือการงดเว้นเนื้อสัตว์ ผัก และอาหารต้องห้ามทุกชนิดก่อนเริ่มกินเจ 1 วัน เป็นการชำระล้างอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หรืออาหารคาวต่าง ๆ อยู่ในร่างกายออกให้หมดสิ้นก่อนเริ่มกินเจจริง)
ในช่วงที่ผ่านมาเทศกาลกินเจเป็นหนึ่งในเทศกาลที่กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้มีเม็ดเงินไหลเวียนในเศรษฐกิจมากขึ้นราว 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี (มากกว่าวาเลนไทน์ซึ่งจะมีเม็ดเงินราว 3 พันล้านบาทต่อปี)
วันนี้ ‘Business+’ จึงได้ทำการสืบค้นมูลค่าเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจากเทศกาลกินเจ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงคาดการณ์เม็ดเงินในปี 2564 โดยใช้ข้อมูลจาก ‘ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย’ พบว่า ช่วงที่ผ่านมาเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลกินเจสร้างมูลค่าเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังราว 4.5 หมื่นล้านบาท (2559-2563)
แต่แนวโน้มเม็ดเงินจากเทศกาลกินเจในปีนี้มีโอกาสปรับตัวลดลง สาเหตุเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดน้อยลง (อาหารเจส่วนใหญ่มีราคาสูงกว่าอาหารปกติ) แถมคนส่วนใหญ่ประสบปัญหาหนี้สิน หลังภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ผู้บริโภครัดเข็มขัดกันมากขึ้น
ขณะที่แนวโน้มการกินเจปี 2564 ‘ม.หอการค้าไทย’ เปิดเผยผลสำรวจพบว่าประชาชน 63.7% คิดว่าเทศกาลตรุษจีนปีนี้จะคึกคักน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2564 จะมียอดการใช้จ่ายอยู่ที่ 40,147 ล้านบาท ติดลบ 14.5% และจากข้อมูลเราพบว่า ตัวเลขที่คาดการณ์ในปีนี้ที่ 40,147 ล้านบาท ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี (ต่ำกว่าปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 43,981 ล้านบาท) นอกจากนี้ ‘หอการค้าไทย’ ยังระบุว่า ยอดการใช้จ่ายเทศกาลกินเจในปีนี้ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี (นับตั้งแต่ปี 2551 ที่มีการสำรวจมา)
Clean Food-03
สอดคล้องกับข้อมูลจาก ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดว่า เทศกาลกินเจปี 2564 คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลอยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท หดตัว 8.2% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีที่แล้ว ซึ่งนอกจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นผลจากจำนวนคนที่กินเจลดลง
อีกทั้งยังปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่บางส่วนยังคง Work From Home จึงไม่เอื้อต่อการจับจ่ายในช่องทางการกินเจที่คุ้นเคยอย่างร้านอาหารข้างทางบริเวณที่ทำงาน ขณะที่ช่องทางร้านสะดวกซื้อและเดลิเวอรี่/ออนไลน์มีแนวโน้มที่คนจะหันมาใช้บริการมากขึ้น เพราะตอบโจทย์ในเรื่องของความหลากหลายของสินค้า และบริการจัดส่งที่สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 และการเข้าถึงวัคซีนจะเริ่มมีสัญญาณบวก แต่สถานการณ์น้ำท่วมและราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เป็นปัจจัยเฉพาะหน้าเพิ่มเติมที่เข้ามากระทบความเชื่อมั่น ฉุดรั้งกำลังซื้อ และอาจสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในช่วงเวลานี้ที่เทศกาลกินเจกำลังจะมาถึงในวันที่ 6-14 ตุลาคม 2564
ขณะที่ในระยะข้างหน้า ตลาดอาหารวีแกนน่าจะเติบโตขึ้นไม่เฉพาะแต่ในช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น แต่จากพฤติกรรมของคนไทยที่หันมาเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี การจะเพิ่มอัตราการบริโภคและยอดขายได้มากหรือน้อยนั้นคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ผู้บริโภคจะให้น้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นราคา รสชาติ ความหลากหลายของสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่าย
โดย 3 เหตุผลหลัก ๆ ที่ ‘Business+’ คาดว่าทำให้ผู้คนจะกินเจกันน้อยลง และไม่คึกคัก มีดังนี้
เหตุผลที่ 1 เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย ในปีนี้ที่ถดถอยลงจากโควิด-19 หลายสถาบันประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้อาจจะติดลบทำให้คนไทยหันมาประหยัดในทุกด้าน เพื่อที่จะเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็น (อาหารเจส่วนใหญ่มีราคาสูงกว่าอาหารทั่วไป) เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์
เหตุผลที่ 2 คือตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจาก 80% ของ GDP สิ้นปี 2562 ขึ้นมาเป็น 90.5% ของ GDP ณ ไตรมาส 1/2564 และมีการประเมินจาก ‘ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี’ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยืดเยื้อจนถึงครึ่งปีหลังทำให้คาดการณ์ระดับหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยจะเพิ่มไปถึง 93.0% ในช่วงสิ้นปี 2564 (ตรงนี้ทำให้ประชาชนไม่มีกระจิตกระใจที่จะเลือกบริโภค และมองว่าการออกไปหาอาหารเจรับประทานเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย)
เหตุผลที่ 3 เป็นผลกระทบของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ร้านค้า เจ้าของกิจการหลายราย ต้องปิดกิจการไป หรืออีกหลายกิจการต่างกังวลเรื่องสภาพคล่อง ดังนั้นการจะผลิตสินค้า หรืออาหารออกมาต้องเป็นสินค้าที่มีโอกาสสร้างยอดขายได้จำนวนมาก (อาหารเจเป็นอาหารเฉพาะกลุ่ม ทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าอาหารทั่วไป)
ทีนี้มาดูข้อมูลของบริษัทที่คาดการณ์ว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากช่วงเทศกาลกินเจกันบ้าง มีอยู่หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เราจะหยิบยกธุรกิจที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องโดยตรงมา นั่นคือ บริษัทที่อาหารโปรตีนจากพืช เพราะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงโดยเฉพาะในช่วงที่คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น
นั่นก็คือ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ซึ่งเป็นผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร อาหารมังสวิรัตที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช และเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 35.3% (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 2/2564)
ซึ่งผลประกอบการปี 2563 มีรายได้ 1,444.02 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 124.39 ล้านบาท (+206%) ถึงแม้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ที่ผ่านมาผลประกอบการกลับปรับตัวลดลงไปถึง 37% เหลือกำไรสุทธิ 25.90 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 41.09 ล้านบาท สาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
แต่ถ้าหากพูดถึงรายได้แล้วล่ะก็ จะเห็นว่า 6 เดือนแรกปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 328 ล้านบาท หรือ 55.4% จากงวด 6 เดือนแรกปี 2563 จากธุรกิจอาหารไทยและอาหารท้องถิ่นและอาหารโปรตีนจากพืช รวมไปถึงการรับรู้รายได้จากบริษัท BOOSTED NRF Corp. และ บริษัท City Food
แถมเรามองว่าโอกาสเติบโตของธุรกิจนี้ยังค่อนข้างสูง เพราะยังมีผู้เล่นไม่มากในตลาดนี้ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องรอผ่านพ้นจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะโควิด-19 ได้เข้ามาทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้คนจะปลี่ยนแปลงไป และหันมาใส่ใจรักสุขภาพกันมากขึ้น
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ข้อมูล : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย , ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #กินเจ #กินเจปี2564