3 อุตสาหกรรมไทยเจ็บตัวหนัก!! ต้นทุนสูง ยอดหนี้พุ่งเกินจริง เซ่น “บาทอ่อนค่า” นาทีนี้ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคต้องตั้งรับให้ทัน

เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate) ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้ เพราะไม่ได้กระทบเพียงแค่ผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการลงทุน เก็บออมสำหรับรายบุคคล และการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ (ใช้เงินไทยมากขึ้นกว่าเดิมในการซื้อสินค้าต่างประเทศ)

จากที่เราเคยนำมาเล่าให้ฟังกับบทความก่อนหน้าในเรื่อง “รับมือยังไงเมื่อบาทอ่อนค่า” ข้อมูลโดยสรุปจากบทความก่อนหน้าก็คือ ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นเรื่อยๆ จนดีดขึ้นพรวดพราดจนมาถึงล่าสุด (วันที่ 10 สิงหาคม 2564) 33.45 บาท/ดอลลาร์

สาเหตุมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่รุนแรงทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น และขายทิ้งเงินบาทไทย อีกหนึ่งสาเหตุคือ ชาติมหาอำนาจ และเป็นคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐฯ เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศ (หลังเกิดภาวะเงินเฟ้อ) ทำให้เกิดการไหลออกของเม็ดเงินในประเทศไทย ไปสู่ประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า

#วิเคราะห์ผลกระทบ เมื่อบาทอ่อนค่ากลุ่มไหนเจ็บสุด?
หลังจากดูวิธีรับมือ และสาเหตุของการอ่อนค่าไปแล้ว ที่นี้เรามาลองดูกลุ่มบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกันบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าหนีไม่พ้นบริษัทนำเข้า เพราะบริษัทเหล่านี้จะต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่พวกเขาจะต้องระมัดระวังเอาไว้อยู่เสมอ และต้องทำประกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาทเอาไว้

ซึ่งประเทศไทยนั้น เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า เป็นประเทศผู้นำเข้าเชื้อเพลิงหลัก ทั้งรูปแบบน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เป็นอันดับ 1

โดยในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เรานำเข้าน้ำมันดิบปริมาณ 25,372,652 เมตริกตัน มูลค่า 357,027.62 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ย 6 เดือนที่ 30.98 บาท/ดอลลาร์)

เมื่อเงินบาทอ่อนค่า และสมมุติว่าเรานำเข้าปริมาณเท่าเดิมคือ 25,372,652 เมตริกตัน มูลค่าการนำเข้าจะสูงขึ้นเป็น 385,493.02 ล้านบาท (คำนวณจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็น 33.45 บาท/ดอลลาร์ ) หรือเพิ่มขึ้น 7.97% เลยทีเดียว

และเมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงตรงนี้ (ต้นทุนน้ำมันดิบสูงขึ้น) แน่นอนว่า ผู้ค้าปลีกน้ำมันจะต้องปรับราคาหน้าปั้มขึ้น ตรงจุดนี้แหละที่จะเป็นตัวทำให้ต้นทุนขนส่งทั้งประเทศเพิ่มขึ้น และกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคทั่วไปอีกทอด

แต่อีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอีกกลุ่ม คือ อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันดิบในการผลิต เช่น โพลีเอทิลีน หรือเม็ดพลาสติก PE ซึ่งเป็นพลาสติกที่ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ไปจนถึงท่อพลาสติก, ผ้านอนวูฟเวนหรือผ้าจากการขึ้นรูปเส้นใย

ซึ่งใช้ในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ถุงพลาสติก และชุดป้องกัน สำหรับโครงสร้างต้นทุน ถุงพลาสติกแบบธรรมดา มีการใช้เม็ดพลาสติก PE ในการผลิต ถึง 80.70% และถุงพลาสติกร้อน ใช้ 83.40%
.
นอกจากผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแล้ว รายได้อุตสาหกรรมถุงพลาสติกที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมาจาก นโยบายลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งภาครัฐประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยเป็นคำสั่งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อให้งดแจกถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single use Plastic) เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนสู่ทะเล

และจากข้อมูลจะเห็นได้ว่าช่วงเดือนมกราคม 2563 เพียงเดือนเดียวประเทศไทยใช้พลาสติกลดลงถึง 3,750 ล้านใบ เท่ากับว่า สถานะการณ์ปัจจุบันของผู้ประกอบการถุงพลาสติกได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้ง 2 ด้าน

นอกจากรายได้เดิมที่ลดลงอยู่แล้วยังถูกซ้ำเติมจากต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงอีก ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนผู้ประกอบการถุงพลาสติกต้องมีการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องที่มีความต้องการตลาดสูง เช่น หน้ากากผ้าแทน

อีกกลุ่มที่รับผลกระทบคือ กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิต โดยพบว่าสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ปี 2564 มีการใช้ ก๊าซธรรมชาติถึง 59.77% (ซึ่งก๊าซธรรมชาติก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่าเงินบาทอ่อน) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ดังนั้นผลดังกล่าวกระทบต่อไปยังผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ยังใช้เครื่องจักรที่ใช้กำลังไฟฟ้าสูงอีกทอด

มาถึงจุดนี้ เราจะเห็นได้ทันทีว่า ผู้ได้รับผลกระทบหนักจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้นำเข้าเพียงอย่างเดียว แต่กระทบไปทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำเลยทีเดียว!

และผู้ประกอบการยังต้องวางแผนรับมือต่อจากนี้ให้ดี เพราะจากที่เราเคยนำเสนอไปแล้วว่า นักวิเคราะห์ และนักบริหารทางการเงินหลายสำนักเริ่มมีการวิเคราะห์ว่า เงินบาทมีโอกาสขึ้นไปถึง 35 บาท/ดอลลาร์ ในเร็วๆ นี้เลยทีเดียว

ที่มา : http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomRecode&ImExType=0&Lang=Th

https://th.tradingview.com/symbols/USDTHB/

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#Businessplus #เงินบาท #บาทอ่อน #ค่าเงินบาทอ่อนค่า #อุตสาหกรรม #น้ำมัน #ราคาน้ำมัน #เศรษฐกิจ #economy #ธุรกิจ