2 เส้นทางเติบโต Major Cineplex ปั้นค่ายหนัง พร้อมบุก Virtual World

พูดถึงธุรกิจที่เริ่มมีเค้าลางแห่งการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ก่อน COVID-19 ระบาด จนเริ่มมาเห็นภาพชัดเจนขึ้นในระหว่างการระบาดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงภาพยนตร์ คือหนึ่งในนั้น ภายใต้การมาของธุรกิจสตรีมมิงซึ่งทำให้คนสามารถดูหนังจากที่ไหนก็ได้ตลอดเวลา นั่นทำให้คนจำนวนมากเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วธุรกิจโรงภาพยนตร์จะอยู่รอดได้อย่างไรภายใต้บริบทที่แสนจะท้าทายในครั้งนี้

เพื่อจะวิเคราะห์ให้เห็นภาพชัดเจนแอดมินจะขอยกเส้นทางการปรับตัวอันหลักแหลมของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) มาเป็นตัวอย่างให้คนอ่านได้ดูกันว่าเส้นทางใหม่ของธุรกิจหรือพูดให้เข้าใจง่ายคือ วิธีการหารายได้ใหม่จะมีที่มาที่ไปจากไหน และอย่างไร มาดูกัน บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวมในปี 2020 อยู่ที่ 3,765 ล้านบาท โดยกว่า 66% นั้นเป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจโรงภาพยนตร์ รองลงมาก็คือธุรกิจสื่อโฆษณาอยู่ที่ 15% ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ 9% ธุรกิจโบว์ลิง และคาราโอเกะอยู่ที่ 5% และธุรกิจสื่อภาพยนตร์ 5%

ตรงนี้เราจะเห็นชัดเจนเลยว่าพวกเขาพึ่งพารายได้หลักจากธุรกิจโรงภาพยนตร์เป็นสำคัญ และเมื่อรวมกับรายได้รองอย่าง ธุรกิจสื่อโฆษณา ซึ่งสองอันนี้รวมกันกินสัดส่วนรายได้ไปกว่า 80% ของบริษัท จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ความเสี่ยงจะเจอกับปัญหานั้นสูงมาก เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่าง COVID-19 เพราะธุรกิจทั้งสองตัวนี้พึ่งพิงกันและกันค่อนข้างมาก แถมลักษณะของธุรกิจเป็นไปในแบบตั้งรับรอผู้บริโภคมาหา มากกว่าจะเป็นฝ่ายรุกใส่ผู้บริโภค

Content Creator is a New Role for Major

แล้วพวกเขาจะปรับตัวอย่างไร อันนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้นำอุตสาหกรรมนี้อย่างทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และเมื่อทอดตาออกไปดูพฤติกรรมของผู้บริโภคในวันนี้ บวกกับเทรนด์ใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น การผลักดันบทบาทใหม่ให้กับตัวเองในฐานะ Content Creator และ Content Provider น่าจะเป็นสิ่งที่ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ต้องเร่งพาตัวเองไปให้ถึงตรงนั้นเร็วที่สุด ซึ่งรายได้จากตรงนี้ในปัจจุบันของพวกเขาอยู่ที่เพียง 5% เท่านั้น นั่นหมายถึงมีช่องว่างให้โตได้อีกมากมาย

และเมื่อบวกกับการให้สัมภาษณ์ของคุณนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่เคยให้สัมภาษณ์กับทาง TheBusinessplus เมื่อช่วงปลายปีก็น่าจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น “บทบาทใหม่ที่บริษัทจะเดินจากนี้คือการเป็น Content Creator โดยเราจะสร้างหนังไทย 15-20 เรื่องต่อปี และทุก ๆ ปีจะต้องมีปริมาณหนังเพิ่มขึ้น ทุกเรื่องจะเป็นหนังฟอร์มใหญ่หมดเลยลงทุนมหาศาลและเราจะขายสิทธิ์หนังทั้งหมดไปที่สตรีมมิงทุกแพลตฟอร์ม เรามีรายได้จากการขายสิทธิ์ให้ เน็ตฟลิกซ์ ค่อนข้างสูง และเราก็ขายสิทธิ์ไปฉายที่โรงภาพยนตร์ที่ต่างประเทศด้วย อย่างตอนนี้เรามีสาขาที่ลาวกับกัมพูชาซึ่งทั้งสองประเทศบริโภคหนังไทยค่อนข้างมากและรายได้ค่อนข้างดี”

ขณะที่วิธีสู้กับธุรกิจสตรีมมิงของโรงภาพยนตร์น่าจะเป็นโมเดลเดียวกันทั้งโลกก็คือ การกำหนดให้หนังฟอร์มใหญ่ต้องฉายในโรงฯ ก่อนเท่านั้น โดยอาจจะกำหนดระยะเวลาในช่วง 45-90 วันแรก จะยังไม่มีการนำลงสตรีมมิงเจ้าใด ๆ ทั้งสิ้น “บริษัท เดอะวอลต์ดิสนีย์ ได้มีการทดลองโมเดลเรื่อง ชาง-ชี (Shang-Chi) โดยฉายในโรงภาพยนตร์ก่อน แล้วให้ทางสตรีมมิงดูเรื่องนี้หลังโรงภาพยนตร์ 45 วันที่สหรัฐฯ นั่นทำให้รายได้ของเรื่อง ชาง-ชี (Shang-Chi) ดีมาก ทาง ดิสนีย์ จึงได้ออกประกาศว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องของบริษัทต้องฉายในโรงภาพยนตร์แบบ Exclusive ก่อนอย่างน้อย 45-90 วัน นั่นทำให้รายได้จาก First Window แข็งแรงมากขึ้น เพราะหากอยากดูหนังสดใหม่ต้องมาที่โรงภาพยนตร์เท่านั้น” คุณนรุตม์ กล่าว

เราจะเห็นว่ารูปแบบนี้จะผลักดันให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์มีรายได้กลับมาอยู่ในจุดที่ยอมรับได้อีกครั้ง และพร้อมกับการขายหนังที่ผลิตเองขึ้นมาในฐานะ Content Creator ให้กับทางแพลตฟอร์มสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ทั้งหลายทั่วโลก ตัวเลขรายได้ของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ น่าจะมีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่ายุคก่อน COVID-19 ซะอีก (ปี 2022 เมเจอร์ คาดว่าจะมีภาพยนตร์ที่ผลิตเองของบริษัทอยู่ที่ราว ๆ 15-20 เรื่อง) ขณะเดียวกันพวกเขาเตรียมขยายสาขาในต่างจังหวัดมากขึ้นผ่านบิ๊กซีและโลตัส พร้อมราคาค่าตั๋วที่จับต้องได้ ตรงนี้ก็น่าจะช่วยดันรายได้ให้พวกเขาอีกแรงหนึ่ง

โลกเสมือนกับสินค้าที่ระลึกแหล่งรายได้ใหม่ของ เมเจอร์

แต่จริง ๆ อาวุธเด็ดของทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งหลายคนมองข้ามไปอย่างมากก็คือ สินค้าที่ระลึกซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ที่พวกเขาได้มา ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันรายได้ของพวกเขาให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยแอดมินเชื่อว่าในอนาคตสินค้าเหล่านี้จะไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินโดยตรงแบบที่เราทำกันในอดีตอีกแล้ว แต่มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ของบริษัท ซึ่งต้องการจะพาตัวเองไปเชื่อมต่อกับเรื่องของธุรกิจโลกเสมือนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การออก Token, NFT และMetaverse ตรงนี้จะกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และพันธมิตรของพวกเขาไปในตัว

ยกตัวอย่าง สมมติแฟนภาพยนตร์เรื่อง ก็อดซิลล่า อยากได้ฟิกเกอร์โมเดลก็อดซิลล่า ที่มาคู่กับจองตั๋วหนังในครั้งนั้น ๆ ทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ อาจจะปรับให้ ถ้าหากใครอยากได้สินค้าชิ้นนี้นอกจากจะต้องดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ยังต้องทำกิจกรรมอื่น ๆ เสริมเพื่อรับ Token ของทางบริษัท เพื่อนำไปสู่การแลกฟิกเกอร์โมเดลก็อดซิลล่าที่ต้องการตัวนั้น ตรงนี้ใครที่อยากได้ก็จะต้องทำตามเงื่อนไขกิจกรรมทางการตลาดของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ให้ครบแล้วจึงนำไปแลกของชิ้นนั้นต่อไป

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ข้อมูล : Major

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อุตสาหกรรมภาพยนตร์ #Major #โรงหนัง #เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ #ContentCreator