12 คำถามที่ควรตอบให้ได้หลังอ่านงบการเงิน เพื่อพิสูจน์ว่าคุณเข้าใจมันจริง ๆ

ปัญหาของคนส่วนใหญ่เมื่ออ่านงบการเงิน คือเรามักใส่ใจกับแค่บรรทัดใดบรรทัดหนึ่งที่เกี่ยวกับหน้าที่ของเราโดยตรง เป็น KPI ของเรา หรือไม่ก็ข้ามไปดูแค่รายได้หรือกำไรสุทธิเพียงอย่างเดียว แล้วก็ด่วนสรุปเอาง่าย ๆ ว่าผลประกอบการธุรกิจดีหรือไม่ดี

ซึ่งการอ่านงบแบบผ่าน ๆ โดยไม่ดูองค์ประกอบของงบให้ครบรอบด้านอย่างแท้จริง สุดท้ายอาจทำให้เกิดจุดบอดขนาดใหญ่ เงินรั่วไหลออกไปทุกวันโดยที่เราไม่เห็น ซึ่งช่องโหว่ลักษณะนี้สามารถสร้างความเสียหายได้พอ ๆ กับการโดนทุจริตเลยทีเดียว

เพื่ออุดช่องโหว่ในการวิเคราะห์งบ Business+ จึงได้สรุปแบบทดสอบการอ่านงบออกมาเป็น 10 คำถามสำคัญ ซึ่งเป็นคำถามที่คุณควรตอบให้ได้หลังจากอ่านงบเสร็จ เพื่อพิสูจน์ว่าคุณได้วิเคราะห์ผลประกอบการอย่างรอบด้านแล้วจริง ๆ พร้อมจะประเมินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

12 คำถามที่ควรตอบให้ได้หลังอ่านงบการเงิน พิสูจน์ว่าคุณเข้าใจภาพรวมธุรกิจจริง ๆ

      1. ตอนสิ้นปีบริษัทมีเงินสดในมือทั้งหมดเท่าไร?

กระแสเงินสดคือเส้นเลือดใหญ่ของกิจการ มีไหลเข้า-ไหลออก ถ้ามีเงินสดหล่อเลี้ยง กิจการจะอยู่รอดได้ แต่ถ้าขาดเงิน ก็จะเกิดอาการป่วยและตายไปในที่สุด ดังนั้นจุดแรกที่เราต้องดูคือกิจการมีเงินสดในมือ (Cash on Hand) อยู่ทั้งหมดเท่าไร ถ้ามีเงินสดน้อย อนาคตก็มีแนวโน้มจะยากลำบาก แต่ถ้าถือเงินสดอยู่นิ่ง ๆ มากเกินไป อาจหมายถึงการใช้สินทรัพย์ที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพพอ

      2. บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเท่าไร?

ขั้นต่อมา ดูว่าในบรรดาเงินสดที่ไหลเข้ามา เป็นเงินสดจากกำไรการขายสินค้าหรือบริการหลัก (Cash Flow from Operations) อยู่เท่าไร ยิ่งมากยิ่งดี แต่ถ้าเงินสดส่วนมากได้มาจากการขายเครื่องจักร ขายที่ดิน ขายโรงงานทิ้ง หรือการกู้เงินมาเพิ่ม แบบนี้อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเท่าไร

      3. กำไรสุทธิปีล่าสุดเป็นเท่าไร?

อันนี้เป็นบรรทัดสำคัญขั้นพื้นฐาน ดูว่ากำไรสุทธิ (Net Profit) ของบริษัทในปีล่าสุดเป็นอย่างไร แน่นอนว่ายิ่งมากยิ่งดี หรืออย่างน้อยก็ควรเป็นค่าบวก และเทียบกับเป้าของบริษัทที่ตั้งไว้

      4. อัตรากำไรสุทธิของบริษัทเป็นเท่าไร?

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) คืออัตราของกำไรสุทธิเมื่อเทียบกับรายได้สุทธิ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือกำไรคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้นั่นเอง บางครั้งเราดูแค่ตัวเลขกำไรก็มองว่ากำไรดี แต่พอดู Net Profit Margin จริง ๆ อาจจะพบว่าจากยอดขายจำนวนมหาศาล เหลือเป็นกำไรออกมาแค่น้อยนิดจนน่าเป็นห่วง ฉะนั้นต้องเช็คดูเสมอว่าเปอร์เซ็นต์กำไรนั้นสมเหตุสมผลกับรายได้แค่ไหน

       5. รายได้สุทธิของบริษัทในปีล่าสุดเป็นเท่าไร?

รายได้สุทธิ (Net Revenue) ของบริษัทเป็นสิ่งที่ต้องมี ยิ่งมีมากก็ยิ่งดี แต่จะไม่มีไม่ได้ ต้องดูว่ารายได้สุทธิของกิจการในปีนั้นเป็นอย่างไร ถึงเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่

      6. จากรายได้สุทธิ เป็นรายได้จากสินค้าหรือบริการหลักอยู่เท่าไร?

ต่อจากข้อที่แล้ว ต้องดูต่อไปว่ารายได้ของบริษัทนั้น เป็นที่มาจากการขายสินค้าหรือบริการหลักของกิจการอยู่เท่าไร ยิ่งมากยิ่งดี เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทนั้นยังทำกำไรจากการขายได้จริง ไม่ได้มาจากการขายสินทรัพย์ถาวรอย่างที่ดิน โรงงาน หรือตึก

      7. อัตราการหมุนเวียนสินค้าคงเหลือของบริษัทเป็นเท่าไร?

อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover) เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนสินค้าขาย (Cost of Goods Sold) กับสินค้าคงเหลือ (Inventories) บอกจำนวนครั้งที่สามารถขายสินค้าคงเหลือออกไปได้ในรอบระยะเวลาบัญชี ค่ายิ่งมากยิ่งดี แปลว่าบริษัทของคุณขายสินค้าออกไปได้เร็ว ขายของได้เก่ง สภาพคล่องสูง

      8. อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์เป็นเท่าไร?

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Assets) เป็นค่าเปรียบเทียบระหว่างกำไรสุทธิ กับสินทรัพย์รวมของบริษัท ค่ายิ่งมากยิ่งดี และควรสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม แปลว่าบริษัทคุณเอาสินทรัพย์ที่มีไปสร้างเป็นกำไรได้มาก หรือสามารถจะทำกำไรได้ดีแม้สินทรัพย์จะไม่เยอะ

       9. อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของเป็นเท่าไร?

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของ หรืออัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) จะบอกว่าบริษัทของคุณเอาเงินทุนไปลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน ทำกำไรจากเงินทุนที่มีได้แค่ไหน ยิ่งมากยิ่งดี

      10. อัตราการเจริญเติบโตของรายได้เป็นเท่าไร?

ถึงแม้รายได้ปีล่าสุดจะมาก ก็ยังไม่ควรวางใจ ต้องดูด้วยว่ารายได้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ แนวโน้มในอนาคตเป็นยังไง ทิศทางรายได้เป็นยังไงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม

      11. อัตราการเจริญเติบโตของกำไรสุทธิเป็นเท่าไร?

คล้ายกับการเติบโตของรายได้ในข้อข้างบน อย่าลืมดูว่าการเติบโตหรือถดถอยของกำไรเป็นยังไง เทียบกับคู่แข่งแล้วดีกว่าหรือแย่กว่า

      12. ตัวชี้วัดด้านบนทั้งหมดเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม?

ข้อสุดท้ายที่สำคัญมาก อย่าลืมเอาตัวชี้วัดต่าง ๆ ในข้อข้างบนทั้งหมด ไปเปรียบเทียบกับของบริษัทคู่แข่ง และเทียบกับค่ากลางอุตสาหกรรม เพื่อให้ดูว่าบริษัทเราอยู่ตรงไหนในตลาด และเป้าหมายที่เราตั้งไว้สมเหตุสมผลหรือไม่

ก็ถือว่าเป็น Checklist แบบง่าย ๆ เอาไว้เตือนใจว่ามีอะไรที่เราต้องดูในงบการเงินบ้าง ถ้าอ่านงบเสร็จแล้วควรตอบทั้ง 10 ข้อนี้ให้ได้ จึงจะถือว่าวิเคราะห์ได้ครบรอบด้านแล้ว พร้อมประเมินธุรกิจภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสามารถเข้าไปดูข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง รายงานกระแสเงินสด อัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ของทุกบริษัทในประเทศไทย ทั้งบริษัทของคุณเองและบริษัทอื่น ๆ รวมถึงดูค่ากลางตัวชี้วัดของทุกอุตสาหกรรมได้ ผ่านฐานข้อมูลนิติบุคคล Corpus ครบถ้วนและอัพเดตที่สุด อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและเริ่มใช้งาน Corpus คลิกที่นี่ >> http://bit.ly/2HyVBAM