ไขข้อสงสัย Metaverse กับโลกการเงินเกี่ยวข้องอย่างไร? ทุกธุรกรรมต้องผ่าน พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ หรือไม่

Metaverse หรือ โลกเสมือน ได้รับความน่าสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา หลังจากบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ได้ประกาศแผนเข้าสู่จักรวาล Metaverse อย่างเต็มรูปแบบเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประเด็นนี้ทำให้หลาย ๆ บริษัทเริ่มตื่นตัว และเริ่มวางแผนเกี่ยวกับการลงทุนใน Metaverse มากขึ้น

แม้ปัจจุบันในประเทศไทย ยังไม่มีการลงทุน แต่ในอนาคตโลก Metaverse จะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยแน่นอน โดยโลกเสมือนแห่งนี้จะสามารถเปิดให้สามารถจับจองพื้นที่ หรือ ลงทุนซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้ผ่านโทเคนดิจิทัล

แน่นอนว่า เมื่อมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นก็อาจจะมีกลโกงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา จึงเป็นที่มาของการเข้ามามีบทบาทจากหน่วยงานที่จะเข้ามาควบคุม นั่นก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยกำกับดูแลผ่าน พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ออกบทความเกี่ยวกับ “โลกเสมือน” หรือ Metaverse หลังจากธุรกิจนี้กำลังได้รับความสนใจจากหลาย ๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็น Facebook ที่ได้ประกาศแผนมุ่งสู่ Metaverse เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสร้างตัวตนขึ้นมาใช้ชีวิตโลดแล่นในโลกเสมือน Disney ซึ่งเรารู้จักกันดีในเรื่องสวนสนุก การ์ตูน และบันเทิงก็ประกาศจะขอเข้าร่วมวง Metaverse หรือแม้แต่ Nike ก็เตรียมตัวเข้าสู่โลก Metaverse เช่นกัน ด้วยการเปิดรับนักออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อวางขายเครื่องแต่งกายและรองเท้ากีฬาในโลกเสมือน

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเทคโนโลยีที่สนใจ Metaverse เช่น Microsoft Google รวมทั้งบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ก็มีแผนจะนำแนวคิด metaverse มาใช้กับการท่องเที่ยว การติดต่อ และการให้บริการประชาชน

ซึ่ง บทความโดย คุณนภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ก.ล.ต. ให้คำนิยามว่า Metaverse คือ โลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเปิดให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ และสามารถทำกิจกรรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม พบปะพูดคุย ติดต่อ ท่องเที่ยว บันเทิง หรือช้อปปิ้งเสมือนอยู่ในโลกจริง ผ่านตัวตนที่เป็นอวตาร (avatar) ซึ่งเป็นกราฟฟิก 3 มิติ แทนตัวเราเวลาทำกิจกรรมใน Metaverse

โดยใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์รองรับการเข้าถึงโลกเสมือน ได้แก่
– Augmented Reality (AR)
– Virtual Reality (VR)

Augmented Reality (AR) เป็นเทคโนโลยีที่เสริมประสบการณ์การทำกิจกรรมบนโลกเสมือนให้เสมือนจริงยิ่งขึ้น โดยมีการนำสภาพแวดล้อมจริงบางส่วนผนวกกับกิจกรรมในโลกเสมือน และแสดงผลผ่านอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เช่น เกม Pokemon Go ที่ผู้เล่นสามารถทำภารกิจในเกมโดยเชื่อมต่อกับแผนที่ในโลกจริง

Virtual Reality (VR) เป็นเทคโนโลยีที่มีการจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปในโลกเสมือน โดยต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์ เช่น Headset VR หรือแว่น VR โดยเมื่อผู้ใช้งานสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว จะถูกนำเข้าไปสู่โลกเสมือน ตัดขาดจากสภาพแวดล้อมภายนอก และสามารถรับรู้ประสบการณ์ในโลกเสมือนผ่านอุปกรณ์ดังกล่าว
.
Metaverse กับโลกการเงิน

ปัจจุบันมีแนวคิดการสร้างแพลตฟอร์มรองรับการทำธุรกรรมบนโลกเสมือนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้บริการในรูปแบบ Non-face to face ซึ่งในภาคการเงินเอง ผู้ให้บริการทางการเงินในต่างประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ โดยผนวกแนวคิดของการให้บริการทางการเงินบนโลกเสมือน (Virtual financial services) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กรด้วย

ตัวอย่างเช่น บริษัท NH Investment & Securities ในเกาหลีใต้ที่จะเปิดตัว Metaverse platform โดยมี Virtual space เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้งานได้ทั้งการเข้าร่วมสัมมนาและเล่นเกมเสมือนโลกจริง หรือธุรกิจธนาคารอย่าง KB Kookmin Bank ที่ได้สร้าง Virtual Financial Town บน Metaverse เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า

ประกอบด้วย Financial and Business Center (Virtual Bank) ที่ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการผ่าน avatar และ VDO chat โดยจะได้รับบริการเสมือนไปที่สาขาธนาคารจริง Telecommuting Center (Virtual office) ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการสื่อสารของพนักงานในองค์กร และพื้นที่สวนสาธารณะสำหรับพักผ่อน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ภาคการเงินได้ปรับตัวเพื่อตอบรับกระแสของ Metaverse ซึ่งในอนาคตการให้บริการทางการเงินอาจไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ตั้ง สาขา โดยทุกอย่างสามารถให้บริการผ่านโลก Metaverse ที่ผู้ใช้บริการสามารถได้รับบริการเสมือนทำธุรกรรมในโลกจริง ดังนั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทั้งภาคธุรกิจที่จะวางแผน และหน่วยงานกำกับดูแลที่อาจต้องทบทวนกฎกติกาต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป

Metaverse กับสินทรัพย์ดิจิทัล

สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน Metaverse ไม่ว่าจะเป็นการสร้างและพัฒนาที่ดินในโลกเสมือน งานศิลปะ ตัวละคร Avatar หรือ item ในเกมต่าง ๆ ในรูปแบบ Non-Fungible Token (NFT) ซึ่งมีเทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยอำนวยความสะดวกในการทำให้ธุรกรรมในโลก Metaverse ทำให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงผู้ใช้งานสามารถระบุตัวตนความเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินโลกเสมือน

นอกจากนี้ คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลยังเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการใน Metaverse ด้วย

สำหรับประเด็นที่ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลหรือกิจกรรมในโลก Metaverse จะถูกกำกับดูแลภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือไม่

หากมีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดในโลก Metaverse ซึ่งสิทธิดังกล่าวยังไม่พร้อมให้ใช้งานในวันที่เสนอขาย (Utility token ไม่พร้อมใช้) หรือเป็นโทเคนที่ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใน Metaverse (Investment token) โดยมีการเสนอขายในประเทศไทยจะถูกกำกับดูแลภายใต้กฎเกณฑ์เรื่องการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ

นอกจากนี้ หากมีกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ด้วย

ดังนั้น ‘Business+’ สรุปได้ว่า การทำธุรกรรมบน Metaverse นั้น ในอนาคตจะเกี่ยวโยงกับเรื่องการเงินมากขึ้น และ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด

โดย ก.ล.ต. จะกำกับดูแลการออกเสนอขาย Investment token (ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ) และ Utility token ไม่พร้อมใช้ (ยังไม่พร้อมให้ใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการ เพราะจะต้องนำเงินที่ได้จากการขายไปจัดหาสินค้าหรือพัฒนาบริการให้เสร็จก่อน)

อีกทั้งมีอำนาจในการกำกับผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Issuer) และผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal)

แต่หากเป็นการออกเสนอขายคริปโทเคอร์เรนซี รวมทั้ง Stable coin ที่ไม่ได้มีโครงการหรือกิจการใด ๆ รองรับ ก.ล.ต. จะไม่ได้กำกับดูแล แต่จะกำกับดูแลการทำหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีแทน เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ,ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ,ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ,และผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : ก.ล.ต.

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจ #Metaverse #สินทรัพย์ดิจิทัล #กลต. #SEC