เอเชียในสายตาของโดนัลด์ ทรัมป์-ฮิลลารี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 58 ในวันที่ 8 พฤศจิกายนปลายปีนี้ มีตัวแทนจากพรรคเดโมแครตเข้าชิงตำแหน่ง คือ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งหญิงคนแรกจากพรรคใหญ่ ขณะที่ตัวแทนของพรรคริพับลิกัน คือ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีธุรกิจที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง

ข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 58  ประเทศในเอเชียต่างติดตามการช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นพิเศษ หลังประธานาธิบดี บารัก โอบามา ให้ความสนใจเอเชียมากกว่าประธานาธิบดีคนก่อน ๆ
นั่นเพราะโอบามาริเริ่มนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียใหม่หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ ด้วยข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership-TPP) และการกระชับความสัมพันธ์กับหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งเวียดนามอดีตคู่สงคราม

ระหว่างการหาเสียง ทั้งฮิลลารีและทรัมป์พูดถึงนโยบายความสัมพันธ์กับเอเชีย ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกต่อประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในเอเชียไม่น้อยทีเดียว และในที่สุด ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนต่อไป และดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อเอเชียตามที่พูดหาเสียงไว้ เท่ากับว่า นโยบายตอกหมุดเอเชีย (Pivot to Asia) หรือการปรับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่โอบามาดำเนินมา 5 ปีต้องเหนื่อยเปล่า

หนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ส รายงานผลกระทบจากคำพูดของทรัมป์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมว่า นโยบายต่อเอเชียของทรัมป์ทำให้ประเทศในเอเชียที่กำลังกังวลต่อการแสดงอำนาจของจีนรู้สึกไม่มั่นคง และกลัวว่านโยบายของสหรัฐอเมริกา หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี จะส่งเสริมกระแสชาตินิยมและเผด็จการขึ้นในเอเชีย และเป็นการทำลายนโยบายตอกหมุดเอเชียของโอบามาโดยสิ้นเชิง

ทรัมป์พูดตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการหาเสียงว่า พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ควรจะต้องช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายทางทหารในเอเชียของสหรัฐอเมริกา และเตือนว่าอาจจะมีการถอนทหารออกจากฐานทัพในญี่ปุ่น แถมยังระบุว่า ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ควรมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

ทรัมป์ยังพูดระหว่างการหาเสียงด้วยว่า จะจัดการกับปัญหาที่จีนได้เปรียบการค้าจำนวนมากกับสหรัฐอเมริกา โดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เนื่องจากจีนใช้นโยบายเงินอ่อน นอกจากนั้นยังบอกด้วยว่า จะขอรื้อการเจรจาข้อตกลง TPP ที่สหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอกเจรจา

หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่านโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่ปราศรัยในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ เมืองดีทรอยต์ยังได้ย้ำชัดเจนว่า จะยกเลิกสัญญาเขตการค้ากับประเทศต่าง ๆ และจะเน้นนโยบายให้ธุรกิจอเมริกันขยายธุรกิจในประเทศ ไม่ให้ไปสร้างงานในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มงานให้กับคนอเมริกันภายใต้แนวคิด America First ซึ่งเน้นให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ของคนอเมริกันเป็นอันดับแรก

นอกจากนโยบายโยนภาระให้พันธมิตรในเอเชียดูแลตัวเอง และยกเลิกข้อตกลงทางการค้าแล้ว นโยบายห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าประเทศของทรัมป์ ยังจะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศชาวมุสลิมในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย บังกลาเทศ และปากีสถาน

คูนิฮิโกะ มิยาเกะ อดีตนักการทูตญี่ปุ่นประจำจีนและอิหร่านและปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบัน Canon Institute for Global Studies ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์สว่า ‘ถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีและทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ สหรัฐอเมริกาจะสิ้นสุดการเป็นมหาอำนาจในคาบมหาสมุทรแปซิฟิก และจีนจะแทรกตัวเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับความอยู่รอดของพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา’

รอยเตอร์ส รายงานว่า ท่าทีของทรัมป์ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ ชินโซ อาเบะ ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมอยู่แล้ว เดินหน้านโยบายชาตินิยมหนักขึ้น โดยหลังจากเพิ่มงบประมาณกลาโหม แก้รัฐธรรมนูญให้สามารถส่งทหารเข้าร่วมสนับสนุนทางทหารและช่วยเหลือกู้ภัยกับกองกำลังนานาชาตินอกประเทศได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และแต่งตั้งโทโมมิ อินาดะ รัฐมนตรีกลาโหมที่เป็นสายเหยี่ยวแล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา และยังได้ออกสมุดปกขาว The 2016 Defence White Paper ที่แสดงความกังวลต่อการเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย

Rupakjyoti Borah นักวิจัยจากสถาบัน Japan Forum for Strategic Studies ที่โตเกียวเขียนบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.aljazeera.com ว่า “ถ้าทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รัฐบาลของอาเบะจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ เพื่อรับมือกับความกังวลตามที่ระบุไว้ในสมุดปกขาว เพราะทรัมป์แสดงความไม่สนใจสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมสหรัฐอเมริกา-ญี่ปุ่น โดยพูดว่า ถ้าสหรัฐอเมริกาโดนโจมตี สิ่งที่คนญี่ปุ่นจะทำคือ นั่งดูทีวีโซนี่อยู่ที่บ้าน”

บทความดังกล่าวระบุว่า นายกรัฐมนตรี อาเบะจะต้องทุ่มเทพลังงานและทรัพยากรของประเทศไปในเรื่องความมั่นคงที่ชายแดนทางทะเล เพื่อรับมือกับความกังวลที่ระบุไว้ในสมุดปกขาวมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นเริ่มขยับตัวด้วยการทำสัญญาป้องกันร่วมทางทหารกับฟิลิปปินส์ และเสริมสร้างมิตรภาพที่ดีกับอินเดีย ออสเตรเลีย พร้อมทั้งแก้ไขความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์กับเกาหลีใต้ เพื่อสร้างแนวร่วมพันธมิตรในเอเชียของตัวเอง

ในประเด็นเรื่องข้อตกลง TPP ที่ทรัมป์หาเสียงว่า ต้องการรื้อใหม่ ซึ่งนโยบายจุดนี้ได้สร้างความกังวลใจให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งญี่ปุ่น เวียดนาม และสิงคโปร์อย่างมาก โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียน ลุง ไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ และได้แถลงให้ประธานาธิบดีโอบามา รวมถึงสภาคองเกรสเร่งทำสัตยาบรรณข้อตกลงดังกล่าวโดยเร็ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยังได้กล่าวในการประชุมกับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาอาเซียน และหอการค้าสหรัฐอเมริกาด้วยว่า ‘ไม่มีประเทศสมาชิกต้องการรื้อข้อตกลง TPP เพื่อเจรจาใหม่ (ตามที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้) เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะทำให้ข้อตกลงนี้พังทลายลงได้’

นโยบายของฮิลลารี
คู่แข่งของทรัมป์ คือ ฮิลลารี คลินตัน หากได้ติดตาม แดน สเตนบ็อก นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญภูมิภาคเอเชีย ซึ่งได้เขียนรายงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็จะพบว่า คลินตันมีส่วนในนโยบายปักหมุดเอเชียของโอบามา และสนับสนุนนโยบายการเพิ่มกำลังกองทัพเรือและสร้างฐานทัพในเอเชีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการตรึงอิทธิพลในเอเชียและปิดล้อมจีน ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อรัฐบาลจีนที่ปักกิ่ง

อย่างไรก็ดี ฮิลลารีแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง TPP เช่นเดียวกับทรัมป์ โดยในช่วงที่เธอจะต้องแข่งกับ เบอร์นี แซนเดอร์ส จากพรรคเดโมแครตด้วยกัน เพื่อช่วงชิงเป็นตัวแทนพรรคเข้าแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอปราศรัยแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง TPP ซึ่งเธอเองมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า สุดท้ายเธออาจจะเปลี่ยนใจไม่สนับสนุนข้อตกลง TPP ก็เป็นได้

หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่า หลังจากที่ฮิลลารีได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว เธอได้ไปปราศรัยที่เมืองซานดิเอโก และประกาศว่า ‘จีนและรัสเซียมักจะทำอะไรที่สร้างปัญหาให้กับสหรัฐอเมริกา ประเทศจีนดัมพ์เหล็กราคาถูกเข้าตลาดของเรา ฉันรู้ว่าเราจะต้องยืนในจุดยืนของเรา เมื่อเราต้องทำและเมื่อทำได้ก็จะหาจุดยืนร่วมกันไปด้วย’

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ฮิลลารีประกาศนโยบายเศรษฐกิจของเธอระหว่างการปราศรัย ที่บริษัท Futuramic Tool & Engineering ในมลรัฐมิชิแกน โดยวิจารณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนอย่างหนัก และระบุว่าสหรัฐอเมริกาและจีนมีความสัมพันธ์ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากที่สุด ขณะที่พูดในบางตอนว่า สหรัฐอเมริกาและจีนยังมีจุดร่วมในความร่วมมือกันทางบวกและมีระดับความสัมพันธ์กันในทุกมิติ

“การปราศรัยในมิชิแกน สื่อในสหรัฐอเมริกาให้ข้อสังเกตว่า ฮิลลารีได้พูดแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงการค้า TPP อย่างชัดเจน”

เว็บไซต์สื่อ NPR ในสหรัฐอเมริกา รายงานตอนหนึ่งของคำปราศรัยของฮิลลารีในมิชิแกนว่า ‘ในเรื่องการค้า ดิฉันเห็นด้วยที่ว่าข้อตกลงทางการค้าที่ผ่านมามักจะสัญญาและสร้างภาพให้คนอเมริกันเห็นว่าเป็นข้อตกลงที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับคนอเมริกัน แต่สุดท้ายมักจะไม่เป็นอย่างนั้น และสัญญาที่กลวงโบ๋นี้เห็นได้จากการปิดโรงงานและคนตกงานในชุมชนทั่วมิชิแกนและเมืองอื่น ๆ’

ฮิลลารี กล่าวว่า ‘บริษัทจำนวนมากที่ล็อบบี้ให้ทำสัญญาการค้ากับต่างประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อจะได้ขายสินค้าในต่างประเทศได้ แต่สุดท้ายบริษัทพวกนี้กลับย้ายไปต่างประเทศและขายสินค้ากลับมาที่สหรัฐอเมริกา และเป็นความจริงที่ว่าจีนและประเทศอื่นสามารถควบคุมระบบนี้มานานเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยประธานาธิบดีบุช ซึ่งไม่มีความเข้มงวด ทำให้การลงทุนในประเทศ เพื่อทำให้ประเทศของเรามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ไม่ได้รับการสนับสนุน และความเลวร้ายมาตกอยู่ที่คนงานอเมริกันและชุมชนอเมริกัน’

‘การแก้ปัญหา (ธุรกิจอเมริกันลงทุนต่างประเทศ) ไม่ใช่การใช้คำพูดตอบโต้ที่รุนแรง และตัดตัวเราเอง (สหรัฐอเมริกา) ออกจากเวทีโลก เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้งานในประเทศยิ่งหายเพิ่ม สิ่งที่ควรทำคือ การทำให้สัญญาทางการค้าทำงานให้ประโยชน์แก่เรา ไม่ใช่ทำร้ายเรา สิ่งที่ดิฉันขอประกาศต่อคนงานในมิชิแกน คือ ดิฉันจะหยุดข้อตกลงการค้าทุกฉบับ รวมทั้งข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่ทำให้งานในประเทศนี้หายไป ดิฉันจะคัดค้านข้อตกลงเหล่านี้ ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง รวมทั้งเมื่อเป็นประธานาธิบดี’

คำปราศัยนี้ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศกล่าวว่า ทั้งทรัมป์และฮิลลารีจะพูดถึงเอเชียในช่วงการหาเสียงในทางลบอย่างหนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนต่อไป ต้องให้ความสนใจผูกพันกับเอเชียอย่างยิ่ง

Prashanth Parameswaran บรรณาธิการร่วมนิตยสาร The Diplomat ผู้เชี่ยวชาญนโยบายสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้เขียนบทความตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์สเตรตส์ไทม์ส ในสิงคโปร์ว่า ‘แม้จะมีความเป็นห่วงว่าคำสัญญาของสหรัฐอเมริกาต่อเอเชียซึ่งกำลังจะคลอนแคลน แต่เชื่อได้ว่า ทั้งทรัมป์และฮิลลารี หากได้เป็นประธานาธิบดี จะต้องให้ความสำคัญต่อเอเชียต่อไป หลังจากที่ 2 ฝ่ายจบการต่อสู้เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 58 ของสหรัฐอเมริกาและกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง’

นั่นเพราะเอเชียกำลังเป็นศูนย์กลางความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเอเชียใหญ่เกินกว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกันคนใดจะเพิกเฉยได้
โดนัล ทรัมป์

ทรัมป์ปราศรัยนโยบายเศรษฐกิจที่เมืองดีทรอยต์ ภาพจากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน
ATTACHMENT DETAILS
ภาพกราฟที่แสดงว่าภูมิภาคใดของโลกจะได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุดหากทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ผลิตโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ใช้ข้อมูลความเห็นนักลงทุนจากบริษัทโนมูระของญี่ปุ่น

ATTACHMENT DETAILS

กราฟเปรียบเทียบการคาดการณ์การขยายตัวของงานในสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายหาเสียงโดยทรัมป์และฮิลลารี ผลิตโดยกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต เผยแพร่ในนิตยสารฟอร์จูน

3

ภาพกลุ่มคนที่สนับสนุนให้เลิกข้อตกลง TPP ระหว่างการปราศรัยของฮิลลารี เผยแพร่โดยสำนักข่าวบีซีซี

ATTACHMENT DETAILS

กราฟแสดงมูลค่ารวมจีดีพีของ 12 ประเทศในข้อตกลง TPP ในปีพ.ศ. 2557 ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับ 36% ของจีดีพีโลก ข้อมูลจากธนาคารโลก ผลิตและเผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์
ATTACHMENT DETAILS

กราฟผลิตและเผยแพร่โดยเว็บไซต์ thecooperreview.com สะท้อนนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ที่ให้เอาชนะประเทศจีน จัดการซีเรีย และเก็บน้ำมันในประเทศ

ATTACHMENT DETAILS

กราฟเผยแพร่โดยเว็บไซต์ blogs.cfr.org ผลิตโดย Pew Research Center เปรียบเทียบความเชื่อของประเทศในยุโรปและเอเชียว่า ใครจะทำสิ่งที่ถูกต้องได้มากกว่ากันระหว่างฮิลลารีและทรัมป์

ATTACHMENT DETAILS

ภาพกราฟเผยแพร่โดยเว็บไซต์ fabiusmaximus.com ที่สะท้อนนโยบายของทรัมป์ที่ว่าสหรัฐอเมริกาไม่ควรจะเป็นตำรวจโลกและประเทศเป็นหนี้มหาศาลอีกต่อไป จะต้องเริ่มมีการลงทุนในประเทศตัวเอง
ATTACHMENT DETAILS

ภาพการปราศรัยนโยบายเศรษฐกิจของฮิลลารีที่มลรัฐมิชิแกน โดยสำนักข่าวเอบีซี

ATTACHMENT DETAILS

กราฟผลิตและเผยแพร่โดยเว็บไซต์ brothersjuddblog.com จากการสำรวจในเดือนเมษายน แสดงว่าประชาชนในกลุ่มประเทศ G20 อยากให้ฮิลลารีเป็นประธานาธิบดีมากกว่าทรัมป์
แต่อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐก็มีข้อสรุปออกมาแล้ว ซึ่งหลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าท่าทีของของผู้นำสหรัฐคนใหม่ต่อเอเชียจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะในช่วงหาเสียง โดนัลด์ ทรัมป์พูดถึงเอเชียในแง่ลบอย่างหนักเช่นกัน

หนอนเว็บ / Email : chaiyo.v@gmail.com