เพิ่มบทบาทผู้นำหญิง = เพิ่มประสิทธิภาพองค์กร

บทบาทของผู้หญิงในปัจจุบันเปลี่ยนไปมากจากอดีต และในอนาคตจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดียิ่งขึ้นจากสถานการณ์ปัจจุบันที่พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป คนครองโสดกันมากขึ้น นั่นจะยิ่งทำให้ค่าเฉลี่ยอายุการทำงานของผู้หญิงยาวนานขึ้น

ขณะที่ปัจจุบันนี้ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น (Gender Equality) เพศหญิงจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาพรวมโลก ทั้งบทบาททางการเมือง บทบาททางสังคม และบทบาททางเศรษฐกิจ และการเข้ามามีบทบาทของสตรีก็มีผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า หากองค์กรใดเพิ่มบทบาทผู้หญิงในตำแหน่งผู้นำมากขึ้น องค์กรนั้นจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรได้มากยิ่งขึ้น

ในประเทศไทยนั้น บทบาทของผู้หญิงได้รับการยอมรับมาตั้งแต่ปี 2475 หรือ 90 ปีที่ผ่านมา โดยรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยได้ให้สิทธิในการเลือกตั้งแก่คนไทยทุกคนทั้งสตรีและบุรุษอย่างเท่าเทียมกัน โดยประเทศไทยไม่เคยมีการห้ามสตรีใช้สิทธิเลือกตั้งนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรก

ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้บัญญัติใน มาตรา 30 มีใจความสำคัญว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันทั้งชายและหญิง นอกจากนี้ยังมีการแก้กฎหมาย มาตรา 276 ในประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและปกป้องสตรีจากการถูกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน และการกดขี่ทางเพศ รวมไปถึงการแก้กฎหมายเพื่อสิทธิสตรีสำหรับการจ้างงาน การคุ้มครองแรงงานความเสมอภาคในการทำนิติกรรมสัญญา การรับสวัสดิการการศึกษาของบุตรที่หญิงชายมีความเท่าเทียมกัน และยังให้สตรีสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง และดำรงตำแหน่งทางราชการได้เท่าเทียมบุรุษอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ในประเทศไทยเพศหญิงสามารถมีบทบาททางการเมืองได้ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกหรือ 90 ปีที่แล้ว ซึ่งข้อกำหนดได้ถูกระบุอย่างชัดเจนอยู่ในรัฐธรรมนูญ

ขณะที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้มีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิสตรีหลายเรื่อง โดยเฉพาะบทบาททางเศรษฐกิจและการเมือง โดยมีข้อสรุปที่น่าสนใจและแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่น คือ
– มาตรา 71 วรรค 4 เรื่องการจัดสรรงบประมาณรัฐคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล เพื่อความเป็นธรรม

– มาตรา 90 วรรค 3 เรื่องการจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเพื่อเลือกตั้งต้องให้สมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณา โดยต้องคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง

ซึ่งทั้ง 2 เรื่องมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความเป็นธรรม คำนึงถึงความแตกต่าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรและใช้งบประมาณ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง และเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 256 ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงมีหลายฝ่ายที่ให้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่เคยมีมาในด้านการรับรองสิทธิสตรี”

บทบาทของสตรีทางด้านการเมืองในประเทศไทย

สำหรับบทบาทของผู้หญิงทางด้านการเมืองในประเทศไทยเริ่มเป็นรูปธรรม และมีทิศทางที่ดีในการเลือกตั้งปี 2554 หลังจากที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” หรือนายกปู ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้น ประเทศไทยมีสัดส่วน ส.ส. หญิงในสภามากที่สุดคิดเป็น 24% แต่ ส.ส. หญิง ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ได้เข้ามาในพรรคการเมืองในรูปแบบของตัวแทนคนในครอบครัวซึ่งเป็นเพศชาย และถูกแบนทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การเลือกตั้งในปี 2554 ซึ่งไม่ถูกนำมาคิดเป็นนัยสำคัญต่อสถิติ ส.ส. ผู้หญิงที่แท้จริง

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2562 หลายพรรคการเมืองได้มีการออกนโยบายด้านสังคมเกี่ยวกับสตรี และเป็นปีที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคที่เป็นเพศหญิงทั้งหมด 76 คนจากทุกพรรค คิดเป็นสัดส่วนราว 15% ถือว่าเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างดีในประเทศไทย ถึงแม้ว่ายังค่อนข้างต่ำหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้หญิงทั่วโลก ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 23.96%

พรรคการเมืองไทยที่มีสัดส่วน ส.ส. เพศหญิงสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ
1. พรรครวมพลังประชาชาติไทย มี ส.ส. ทั้งหมด 5 คน เป็นผู้ชาย 2 คน และเป็นผู้หญิง 3 คน คิดเป็นสัดส่วน ส.ส. หญิง 60%
2. พรรคเพื่อชาติ มี ส.ส. ทั้งหมด 6 คน เป็นผู้ชาย 4 คน และเป็นผู้หญิง 2 คน คิดเป็นสัดส่วน ส.ส. หญิง 33%
3. พรรคเศรษฐกิจใหม่ มี ส.ส. ทั้งหมด 6 คน เป็นผู้ชาย 4 คน และเป็นผู้หญิง 2 คน คิดเป็นสัดส่วน ส.ส. หญิง 33%

นอกจากนี้เมื่อดูข้อมูลจากสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union : IPU) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่าค่าเฉลี่ยของผู้หญิงในทั้งสองสภา (วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร) ทั่วโลกอยู่ที่ 26.1% ส่วนประเทศไทยยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ โดยไทยอยู่อันดับที่ 138 จากทั้งหมด 187 อันดับ

ประเทศที่มีผู้หญิงในรัฐสภาเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
– สาธารณรัฐรวันดา (Rwanda)
– สาธารณรัฐคิวบา (Cuba)
– สาธารณรัฐนิการากัว (Nicaragua)
– สหรัฐเม็กซิโก (Mexico)
– สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates)

บทบาททางสังคม
สำหรับบทบาทของผู้หญิงในทางสังคม ยังถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับบทบาททางการเมืองคือมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น จากการตรวจสอบข้อมูลสถิติจากหน่วยงานที่สำคัญ 3 หน่วยงานของ ‘ilaw’ พบว่าถึงแม้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือ หรือพัฒนาสังคมมากขึ้น แต่ส่วนมากยังไม่ได้รับตำแหน่งใหญ่ที่สุดแต่อย่างใด

– คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระมีหน้าที่ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ และส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา
โดยพบข้อมูลว่าจำนวนผู้ได้รับแต่งตั้งเป็น ป.ป.ช. (รวมชุดปัจจุบัน) มีทั้งสิ้น 38 คน เป็นผู้ชาย 33 คน ผู้หญิงเพียง 5คน คิดเป็น 13.16% ขณะที่ ป.ป.ช. ไม่เคยมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งประธานเลยแม้แต่คนเดียว
– คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และสั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

โดยพบข้อมูลจากประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 มีผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง คตง. ทั้งสิ้น 33 คน เป็นผู้ชาย 23 คน เป็นผู้หญิง 10 คน จำนวน คตง. ที่เป็นผู้หญิง เทียบกับจำนวนผู้ที่ดำรงตำแหน่ง คตง. ทั้งหมด คิดเป็น 30.30% โดย คตง. เป็นองค์กรที่ไม่เคยมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งประธานเลยแม้แต่คนเดียวเช่นเดียวกัน

– คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง

โดยพบว่า นับรวมตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนรวมทั้งสิ้น 35 คน เป็นผู้ชาย 18 คน ผู้หญิง 17 คน คิดจำนวนกรรมการที่เป็นผู้หญิงได้เป็น 48.57% ซึ่ง กสม. นับว่าเป็นองค์กรอิสระที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งในอัตราที่สูงกว่าองค์กรอิสระอื่น ๆ นอกจากนี้ยังเป็นองค์กรอิสระที่มีประธานกรรมการเป็นผู้หญิงมาแล้วถึงสองชุด คือ ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ และคุณพรประไพ กาญจนรินทร์

บทบาทของผู้หญิงในภาคธุรกิจ
นอกจากบทบาททางการเมืองและสังคมแล้ว ผู้หญิงไทยหลายคนยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้กับองค์กร โดยผลวิจัยของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation : IFC) ได้รายงานว่า คณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีสัดส่วนกรรมการที่เป็นผู้หญิง 20.4% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในอาเซียนที่มีค่าเฉลี่ยคือ 14.9%

โดยการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในด้านการบริหาร ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจและการกำกับดูแลการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ขณะที่ความหลากหลายทางเพศยังได้รับความสนใจในระดับสากล เพราะสอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนระดับโลก เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในประเด็นการได้รับโอกาสเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้นำในระดับที่มีการตัดสินใจด้วยความเท่าเทียมทางเพศ

ซึ่งการเพิ่มความหลากหลายทางเพศได้มีการวิจัยจากข้อมูลว่าช่วยให้องค์กรหรือบริษัทประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยผลวิจัยจากหลายหน่วยงานระบุว่า คณะกรรมการขององค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศจะช่วยสร้างมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทได้ โดยมีการรายงานข้อมูลจาก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ว่า บริษัทที่คณะผู้บริหารที่มีความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มจะสร้างผลกำไรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย

สอดคล้องกับผลการศึกษาที่ทำร่วมกันของ DDI, the Conference Board และ Ernst & Young (EY) ซึ่งระบุเอาไว้ว่า การเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในระดับผู้นำจะทำให้บริษัทมีผลกำไรเติบโตขึ้นอย่างน้อยปีละ 1.4 เท่า

จะเห็นได้ว่า นอกจากการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในองค์กรต่าง ๆ สามารถช่วยให้ผลประกอบการบริษัทเติบโตขึ้นได้แล้ว ยังช่วยให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเท่าทันและยั่งยืนตามหลักสากลของสหประชาชาติ ดังนั้นภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ เช่นเดียวกับภาครัฐที่ควรมีนโยบายหรือมาตรการพิเศษที่จะช่วยเอื้อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิสตรีอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นบทบาททางการเมือง ทางสังคม หรือทางเศรษฐกิจ
.
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
.
ที่มา : SETSMART
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #บทบาทเพศหญิง