วิกฤตแร่หายาก!! หลังบริษัทจีนลดกำลังการผลิตลง 25% หลัง ท่าเรือ จากพม่ามาจีนปิด

ความสามารถในการผลิตแร่หายากทั้งหลายของเหล่าบริษัทจีนในเมืองก้านซู มณฑลเจียงซี กำลังจะลดลงอย่างน้อย 25% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังเส้นทางที่ใช้ส่ง ‘แร่หายาก’ จากพม่ามาสู่จีนได้ปิดตัวลง ซึ่งตรงนี้จะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของวัตถุดิบตั้งต้น เพราะจีนนั้นถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้คุมอุปทานแร่หายากของโลกในวันนี้

การผลิตแร่หายากในพม่านั้นถูกนับเป็นครึ่งหนึ่งของอุปทานแร่หายากทั้งหมดของจีนในเวลานี้ และจีนก็ถือเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์แร่หายากรายใหญ่ของโลก และมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ และถือเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมโลกจำนวนมากตั้งแต่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไปจนถึงอาวุธสงคราม ซึ่งการผลิตสิ่งเหล่านี้จะขาด แร่หายาก ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญไม่ได้เลย และผลกระทบที่จะตามมาแน่นอนก็คือราคาที่จะถีบตัวสูงขึ้นจากอุปทานที่ลดลง โดยท่าเรือในเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา (Xishuangbanna Dai Autonomous Prefecture) ปิดตัวไป 240 วันหลังการระบาดของไวรัส โดยท่าเรือแห่งนี้เป็นที่ขนส่งแร่หายากมากถึง 900,000 ตันต่อปีเลยทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้บอกกับทาง Global Times ว่าตอนนี้ท่าเรือที่ใช้ขนส่งแร่หายากมีจำกัดมาก โดยหนึ่งในนั้นคือที่ Yunnan’s Diantan township ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญสำหรับการขนส่งแร่หายาก และยังคงปิดอยู่ในขณะนี้ พร้อมกับยังไม่มีการแจ้งจากทางการว่าจะกลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อไร ตอนนี้ Raw Materials ที่พม่ากำลังขาดแคลน ขณะที่ธุรกิจด้านนี้ที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ก้านซูก็ทำงานได้เพียง 75% เท่านั้นจากสถานการณ์ปกติ คุณ Wu Chenhui ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์ในด้านอุตสาหกรรมแร่หายากให้มุมมองว่า แร่หายากทั้งหมดของพม่าสำคัญต่อผู้ทำอุตสาหกรรมต้นน้ำในห่วงโซ่อุปทานโลก และการที่อุปทานของพม่าคิดเป็นถึง 50% ของอุปทานรวมของจีนก็เท่ากับว่าตอนนี้โลกทั้งใบจะไม่มีวัตถุดิบสำคัญตั้งต้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเป็นการชั่วคราว

แปลและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ที่มา : Global Times