6 เรื่องสำคัญที่ผู้หญิงต้องเจอหลัง COVID-19

ความเท่าเทียมทางเพศ หรือ Gender equality นั้นไม่ใช่แค่พื้นฐานของความเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับความสันติสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนของโลกใบนี้อีกด้วย ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมามีการส่งเสริมในเรื่องสิทธิของสตรีเพศเกิดขึ้นมากมายหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การทำงาน การเติบโตในหน้าที่การงาน รายได้ รวมไปถึงบาทบทอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นมากกว่าผู้อยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนผู้ชาย ความจริงจังของเรื่องนี้ถึงขั้นถูกกำหนดอยู่ใน 17 หัวข้อของ Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติในข้อที่ 5 เลยทีเดียว โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุด้านความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชายและหญิงให้ได้ภายในปี 2030 แม้ในช่วง 5 ปีหลังสุด ช่องตรงนี้จะมีแต่ถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งทวีคูณขึ้นในช่วงโรคระบาดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

รายงานจากทางบริษัท Mckinsey & Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2469 ได้เผย 6 สิ่งที่เราควรรู้เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศว่ามันเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญอย่างไรต่อโลกใบนี้

1. การแก้ปัญหาช่องว่างของความเท่าเทียมจะสนับสนุนการเติบโตของ GDP โลก

ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องเร่งด่วนด้านศีลธรรมและประเด็นทางสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นความท้าทายในประเด็นด้านเศรษฐกิจอย่างยิ่ง โดยรายงานของ the McKinsey Global Institute (MGI) ในปี 2015 ภายใต้หัวข้อ The Power of Parity: How advancing women’s equality can add $12 trillion to global growth พบว่า ช่องว่างความเท่าเทียมยิ่งแคบจะยิ่งมีส่วนช่วยต่อการพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาผู้หญิงได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น 37% ของ GDP โลกและคิดเป็นจำนวนแรงงานกว่า 50% ของแรงงานโลก รายงานยังได้เปิดเผยอีกว่าในมุมที่มองโลกในแง่ดีถ้าทุกประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่ตั้งไว้ มันจะช่วยเพิ่มมูลค่าของ GDP ได้มากถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 ตัวเลขนี้มากขนาดไหน ก็เทียบได้กับ GDP ของประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และสหราชอาณาจักรรวมกันเลยทีเดียว และนั่นเท่ากับว่าสัดส่วนที่เพศหญิงมีต่อ GDP โลกจะเพิ่มขึ้นสองเท่าเลยทีเดียว แต่ถ้าจะมองโลกในแง่ดีกว่านั้นคือ ผู้หญิงสามารถเข้ามาทดแทนการทำงานหรือมีส่วนร่วมได้อย่างลงตัวในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และทุกบริบทหน้าที่ มูลค่า GDP จะขยับขึ้นสูงไปถึง 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 26% ในปี 2025 เลยทีเดียว หรือเทียบเท่ากับ GDP ของสองยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐรวมกันนั่นเอง

2. การเดินหน้าไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศยังคงห่างไกล และตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมาช่องว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จากข้อมูลในปี 2015 เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งทาง MGI ได้ศึกษาเอาไว้ผ่านตัวชี้วัด 15 ตัว ใน 2 มิติหลัก ๆ ได้แก่ ความเท่าเทียมทางเพศในการทำงาน (อัตราส่วนการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานระหว่างชายและหญิง, ตำแหน่งอาชีพที่มีความเฉพาะทางและเชี่ยวชาญพิเศษ และตำแหน่งผู้นำในระดับสูง เป็นต้น) และในสังคม (อัตราความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน การศึกษา ดิจิทัล และการวางแผนครอบครัว) พบว่าแนวโน้มค่อนข้างจะคงที่ โดยในหมวดความเท่าเทียมในมิติของการทำงาน จาก 5 หัวข้อมีเพียงหัวข้อเดียวเท่านั้นที่เป็นบวก อัตราความเท่าเทียมในตำแหน่งผู้นำองค์กรซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่อยู่ที่ 0.35 ไปสู่ 0.37 ในปี 2019 ซึ่งก็ถือว่าเพิ่มเพียงเล็กน่อยเท่านั้น ส่วนในอีก 4 หัวข้อล้วนแล้วแต่คงที่ทั้งสิ้น

3. ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีความก้าวหน้าในมิติต่างเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในฐานะ คนทำงาน ผู้บริโภค และผู้เก็บออม แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีต้นทุนและความไม่มั่นคงในชีวิตสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ในระหว่างปี 2000-2018 ผู้หญิงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 2 ใน 3 ของตำแหน่งอาชีพที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ 45 ล้านตำแหน่งงาน (สำหรับกลุ่มประเทศ OECD) แต่ปัญหาคือ อาชีพเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นแบบชั่วคราว หรือไม่ก็เป็นอาชีพอิสระซึ่งปราศจากความมั่นคงและมีรายได้ที่ต่ำมาก โดยตัวเลขอัตราการเป็นลูกจ้างชั่วคราวของผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับลูกจ้างประจำที่ 0.7% เท่านั้น

ขณะที่ในฐานะผู้บริโภคทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็ได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก แต่พร้อมกันต้นทุนในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย สุขภาพ และการศึกษา กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง และด้านสุดท้ายในฐานะผู้สร้างความมั่งคั่งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาผู้หญิงมีแนวโน้มจะมีความมั่งคั่งสูงกว่าผู้ชาย โดยตัวเลขค่าเฉลี่ยในยุโรปนั้น ผู้หญิงมีความมั่งคั่งมากกว่าผู้ชายถึง 62% เลยทีเดียว แม้โดยภาพรวมทั่วโลกช่องว่างตรงนี้ยังกว้างมากพอสมควรก็ตาม

4.ผู้หญิงจะต้องทำงานเป็นสองเท่าจากที่บ้าน

ขณะที่ผู้หญิงเผชิญความไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน พวกเขาก็เผชิญความไม่เท่าเทียมที่บ้านด้วย จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า ผู้หญิงต้องทำงานที่ไม่มีรายได้มากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า อย่างในประเทศจีนผู้หญิงนอกจากจะต้องออกไปทำงานนอกบ้านแล้ว พวกเขาก็ยังต้องทำงานบ้านเกือบทั้งหมดด้วย โดยเฉลี่ย 9 ชั่วโมงผู้หญิงทำงานแบบไม่มีค่าจ้างมากถึงครึ่งหนึ่ง และค่าเฉลี่ยในประเทศจีนผู้หญิงจะทำงานมากกว่าผู้ชายอย่างน้อย 1 วันในหนึ่งอาทิตย์ เช่นเดียวกับในอินเดีย ผู้หญิงทำงานเกือบ 10 เท่าของงานที่ไม่มีค่าจ้างเมื่อเทียบกับผู้ชาย ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาเจอกับเรื่องเช่นนี้ ผู้หญิงสหรัฐฯ ราว ๆ 54% ทำงานเกือบ 2 เท่าสำหรับงานที่ไม่ได้ค่าจ้าง ขณะที่ผู้ชายที่ทำงานบ้านมีสัดส่วนเพียงแค่ 22% เท่านั้น และ 43% ของครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นรายได้หลักของบ้านยังคงต้องทำงานบ้านเกือบทั้งหมด เมื่อเทียบกับผู้ชายตัวเลขอยู่ที่ 12% เท่านั้น แม้แต่ในเรื่องการทำงานผู้หญิงก็ทำงานมากกว่าผู้ชาย 81% ผู้หญิงจะทำ 2 อาชีพคู่ขนานกันไป ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ 56% เท่านั้น

5. ผู้หญิงเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านการเติบโตจากการมาของ Automation

รายงานจาก MGI พบว่าแนวโน้มส่วนแบ่งอาชีพของผู้หญิงมีความเป็นไปได้มากที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบ Automation มากกว่าผู้ชาย และ 1 ใน 4 จะเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษนี้ โดยตัวเลขของการเปลี่ยนผ่านไปสู่อาชีพที่แตกต่างจากเดิมของผู้หญิงทั่วโลก จะอยู่ที่ราว ๆ 40-160 ล้านคน และตรงนี้ทำให้ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้เร็ว นอกจากนี้การเข้าถึงความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี เพื่อทำงานกับระบบ Automation ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย รายงานยังเพิ่มเติมอีกว่าผู้หญิงจะเจอสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยาวนาน และกำแพงทางสังคมที่จะขัดขวางในหลาย ๆ พื้นที่ พร้อมกันนั้นผู้หญิงก็จะมีเวลาน้อยมากในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อนำไปหางานทำ เพราะพวกเขาต้องเอาเวลาไปทำงานบ้านซึ่งไม่มีรายได้ให้

6. ผู้หญิงกำลังจะเผชิญกับผลร้ายทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19

รายงานจาก MGI พบว่า มิติทางเศรษฐกิจของผู้หญิงจะมีความยากลำบากเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่การจ้างงาน โดยจากการสำรวจพบว่าอาชีพของผู้หญิงทั่วโลกมีความเปราะบางมากกว่าผู้ชายถึง 1.8 เท่า สัดส่วนของผู้หญิงคิดเป็น 39% บนอัตราการจ้างงานทั่วโลก และ 54% สูญเสียอาชีพหลังเดือนพฤษภาคม 2020 เหตุผลหนึ่งก็คือ ผู้หญิงเป็นตัวแทนที่ไม่สมส่วนในอุตสาหกรรมซึ่งถูดคาดว่าจะลดลงอย่างมากในปี 2020 จากสถานการณ์ COVID-19 อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ อาชีพที่ไม่ได้รับค่าจ้าง เช่น การดูแลลูก การสอนหนังสือลูกที่บ้านนั้นตกไปอยู่ที่ผู้หญิงเกือบทั้งหมด ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาที่ผู้หญิงต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น 1.5-2 ชั่วโมงไปกับการรับผิดชอบเรื่องภายในบ้าน

การเติบโตของ GDP มีสิทธิต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 หากการว่างงานของผู้หญิงยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป นั่นจะยิ่งทำให้การเติบโตเป็นเรื่องลำบากขึ้นไปอีกเมื่อผู้หญิงต้องดูแลรับผิดชอบการเลี้ยงดูลูก ตรงนี้จะนำมาซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงไปอีก เพราะผู้หญิงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย เพราะการดูแลลูกและการสอนหนังสือลูกบังคับให้พวกเขาต้องเลิกทำงาน แต่ถ้าปัญหานี้ถูกแก้ไขได้จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับ GDP โลกในปี 2030 ได้สูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

จากนี้เราจะเห็นสถานการณ์ในอาชีพหน้าที่การงานของผู้หญิงส่วนใหญ่จะต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์โรคระบาดบังคับให้พวกเขาจำเป็นต้องละทิ้งอาชีพที่ทำอยู่ และกลับมาสวมบทบาทของคนเป็นแม่คนและแม่บ้านมากขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ความเสียหายในแง่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ในมุมที่ดีก็มีเช่นกัน เพราะตลอดเวลาที่เราได้ดึงผู้หญิงออกมาทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก บทบาทความเป็นแม่บ้านและแม่คนได้หายไป ตรงนี้นำมาสู่ปัญหาคุณภาพบุคลากรในสังคมได้ เพราะเมื่อเด็ก ๆ จำนวนมากขาดการเอาใจใส่เลี้ยงดูอย่างเหมาะสม พวกเด็ก ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากเพียงลำพัง เพราะขาดการอบรมสั่งสอนอย่างเหมาะสมทั้งในแง่ของความรู้ความเข้าใจในมิติบุคคลกับบุคคล บุคคลกับสถานที่ และบุคคลกับวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบได้กับรากเหง้าของชีวิตทุกชีวิตบนโลกใบนี้

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ข้อมูล : the McKinsey Global Institute

ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ผู้หญิง #ความเท่าเทียม