เพราะคนรุ่นใหม่ คือ “พลเมืองโลก”

ประเทศไทยของเรามีสิ่งที่น่าภาคภูมิใจไม่แพ้ชาติใดในโลกมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีสิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย และแน่นอนว่า หนึ่งในนั้นคือ “ระบบการศึกษาไทย”

หลายต่อหลายเสียงในหลาย ๆ สื่อ เริ่มพูดกันหนาหูมากขึ้นว่า การศึกษาบ้านเรากำลังส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ในสังคมไทยอีกนานัปการ

ถึงแม้ว่าเราจะมีการปฏิรูประบบการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านหลักสูตร การเรียนการสอน และการประเมินผล แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ยังไม่อาจตอบโจทย์กับสิ่งที่คาดหวังนัก

ผลทดสอบจากโครงการประเมินนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Program for International Student Assessment) หรือ PISA ครั้งล่าสุดในปี 2015 ชี้ให้เห็นว่าเด็กนักเรียนไทยได้คะแนนในด้านการอ่านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ลดลงกว่าการประเมินเมื่อปี 2012 โดยทำคะแนนได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโออีซีดี และยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามในทุกด้าน

นอกจากนี้ คุณภาพที่ถดถอยลงของบุคลากรที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ยังเป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงของระบบการศึกษาไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ อย่างไม่อาจประเมินค่าได้
ความคาดหวังที่จะเห็นเด็กไทยมีความสุขกับการเรียน สามารถพัฒนาทักษะและความถนัดของตนเองให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในบริบทของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองคุณภาพของสังคมโลก ดูเหมือนจะยังห่างกันไกลจากความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญ

หลายเสียงยังชี้ไปถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่เด็กไทยยังถูกสอนให้เน้นการท่องจำ ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานและใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักพึ่งตนเอง การทำงานเป็นทีม การใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงคุณธรรมและจริยธรรมต่าง ๆ

บ้างก็ว่าเด็กนักเรียนไทยยังถูกประเมินและตีกรอบ ด้วยเกณฑ์การวัดผลทางวิชาการที่ไม่ได้คำนึงถึงความถนัดและความสนใจที่แต่ละคนมีแตกต่างกันออกไป เปรียบเสมือนการตัดสินความสามารถของปลาด้วยการปีนต้นไม้ ซึ่งรังแต่จะเป็นการบั่นทอนศักยภาพของเด็กและผลักเด็กออกจากระบบการเรียนรู้ในห้องเรียนไปเรื่อย ๆ


ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ยังก่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนที่ตึงเครียด เต็มไปด้วยการแข่งขัน แทนที่เด็กจะได้สนุกกับการเรียน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีกับเพื่อนร่วมชั้น กลับต้องกดดันกับการเปรียบเทียบแข่งขัน รู้สึกเหมือนมีคู่แข่งอยู่รอบด้าน มองเพื่อนเป็นคู่แข่ง

สถานการณ์เช่นนี้ผลักดันให้เด็กไทยไม่สามารถพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และทักษะด้านต่าง ๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาส่งผลให้ผู้ปกครองต้องพยายามหาโรงเรียนดี ๆ ให้ลูก เพราะเกรงว่าลูกหลานของตนจะไม่ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานเพียงพอ ปัญหาการใช้เส้นสาย หรือจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเพื่อเข้าโรงเรียนดังจึงเกิดขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่ และจะคงอยู่ต่อไปหากไม่มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนอื่น ๆ ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับที่ทัดเทียมกัน

ที่สำคัญความกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตการศึกษาของลูกอาจทำให้ผู้ปกครองเกิดภาวะเครียด กดดันทั้งตนเองและลูก และอาจนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวในที่สุด

อีกหนึ่งปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในระบบการศึกษาไทยก็คือ ครูผู้สอน หากลองส่องเสียงสะท้อนในโลกโซเชียลมีเดีย จะพบว่าเสียงกระซิบและเสียงตะโกนจากแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ของชาติเป็นจำนวนมาก ว่าปัจจุบันครูยังขาดอิสระและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมการสอน เนื่องจากถูกครอบไว้ด้วยข้อกำหนดด้านหลักสูตรและเกณฑ์การประเมินจากส่วนกลาง ทำให้ต้องเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับเตรียมงานเอกสาร หรือรับผิดชอบภาระงานอื่น ๆ จนไม่สามารถทุ่มเทกับการสอน เตรียมเนื้อหา หรือแบบฝึกหัดต่าง ๆ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

กลวิธีการสอนที่เน้นการจดและจำ ใช้เนื้อหาเก่าสอนซ้ำไปซ้ำมาทุกปี ทั้งที่โลกหมุนไปไกล มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ได้กระตุ้นให้เด็กคิดหรือลองทำ ทำให้เด็กเบื่อหน่ายการเรียนการสอนรูปแบบเดิม ๆ ที่ไม่สามารถดึงความสนใจของเด็กเข้าสู่บทเรียนได้

การแนะแนวทางการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เด็กไทยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในยุคดิจิทัลก็เป็นประเด็นสำคัญที่ระบบการศึกษาไทยยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ศักยภาพของเด็กจึงไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่

วิกฤตการศึกษาในประเทศไทยจึงนับเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน และส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียน ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ รัฐบาล ตลอดจนชุมชนและสังคมในภาพรวม การจะพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวไกลอย่างมีทิศทางต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในสังคม มีการเสริมพลังให้กับครูและชุมชน รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน รับรู้ปัญหา แลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างผู้กำหนดนโยบาย นักบริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา องค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา ตลอดจนครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาวให้เหมาะสมกับบริบทของโลก

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

คนรุ่นเรา ๆ อาจพูดเต็มปากว่าเราเป็น “พลเมืองประเทศไทย” แต่ลูกหลานสมัยใหม่ เขาคือ “พลเมืองโลก”

จันทร์เพ็ญ จันทนา ผู้อำนวยการผู้บริหารสาย Integrated Digital Marketing Management ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)