เบื้องหลัง จีน ปราบ ธุรกิจเทคโนโลยี ปรับโครงสร้าง BIG TECH ครั้งนี้ เพื่อเตรียมกระโดดครั้งใหญ่

ว่ากันคุณภาพของคนในประเทศนั้น ๆ จะดีมากน้อยส่วนหนึ่งมาจากระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่คำว่าการศึกษามีคุณภาพนั้นวัดจากอะไรอันนี้น่าสนใจไม่น้อย แค่โรงเรียนทำกำไรได้พอไหม นักเรียนเรียนจบเยอะและเอ็นทรานซ์ติดตอบโจทย์รึเปล่า หรือจริง ๆ มีเรื่องมากกว่านี้ต้องขบคิดหากต้องการจะยกระดับการศึกษาอย่างจริงจัง ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ในประเทศจีนด้านการศึกษาที่น่าจับตาไม่น้อย เมื่อทางคณะมนตรีแห่งรัฐ (State Council) หรือ “คณะรัฐมนตรี” ของจีน ได้ประกาศเตรียมยกเรื่องอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการศึกษาครั้งใหญ่

โดยทางการจีนได้สั่งห้ามบริษัททั้งหลายซึ่งสอนหลักสูตรโรงเรียน (ธุรกิจกวดวิชาที่สอนเนื้อหาเหมือนในห้องเรียน : The School Curriculum) ทำการแสวงหากำไร เพิ่มทุน หรือระดมทุนต่อสาธารณะ ซึ่งการประกาศครั้งนี้ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้จะไม่สามารถรับเงินลงทุนจากต่างชาติได้อีก ซึ่งตรงนี้ยังรวมไปถึงการรับเงินทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนในต่างประเทศอีกด้วย และบริษัทใดที่กำลังฝ่าฝืนกฎอยู่ตอนนี้ก็จำเป็นต้องกลับไปปรับให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาอีกด้วย

นอกจากนี้บริษัทด้านนี้ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะไม่ถูกอนุญาตให้เพิ่มทุนผ่านตลาดหุ้นเพื่อนำไปลงทุนในกิจการเพื่อวัตถุประสงค์การสอนในห้องเรียน ซึ่งการห้ามครั้งนี้คาบเกี่ยวไปถึงธุรกิจการเรียนพิเศษวันเสาร์และวันอาทิตย์ รวมไปถึงการเรียนพิเศษในภาคฤดูร้อนของจีนอีกด้วย

โดยการยกเครื่องระบบการศึกษาครั้งนี้ของทางการจีนทำให้บริษัทติวเตอร์จีนซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรงภายในหนึ่งวัน ไม่ว่าจะเป็น Tal Education (TAL) -59.6% New Oriental Education (EDU) -58.7% China Online Education (COE) -41.5%

โดยขอยกตัวอย่างบริษัท Gaotu Techedu Inc (GOTU) หากคุณซื้อหุ้นเขาในช่วงวันที่ 27 มกราคม 2021 ที่ผ่านมาในราคา 142 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ตอนนี้มูลค่าหุ้นของคุณจะเหลือ 2.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น!! ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2021 หรือหายไปมากกว่า -98.11% โดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการศึกษาถือเป็นหนึ่งในธุรกิจของจีนที่เงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนอย่าง Tiger Global Management, Temasek Holdings Pte และ SoftBank Group Corp. เป็นต้น

รายชื่อบริษัทด้านการลงทุนยักษ์ใหญ่ของโลกที่ลงทุนในเทคโนโลยีการศึกษาของจีน

บริษัท———–นักลงทุน

Yuanfudao—-Temasek, DST, CPE, Trustbridge
Huohua Siwei—–Tencent, Trustbridge, Carlyle, GSR, GGV, Sequoia China
Zuoyebang—–FountainVest, Sequoia China, Tiger, SoftBank Vision Fund
Zhangmen—–Warburg Pincus, Shunwei Capital, CMC Capital

มูลค่าตลาดเรียนออนไลน์ของจีนในปี 2019 อยู่ที่ 346,800 ล้านหยวน พร้อมคาดการณ์ว่าในปี 2024 ตัวเลขตลาดนี้น่าจะขยับขึ้นไปถึง 490,000 ล้านหยวน (กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่มีตั้งแต่ Alibaba, Tencent Holdings Ltd. และ ByteDance Ltd.) และหากขยับไปดูอัตราการเติบโต 4 ปีย้อนหลังของตลาดนี้ในจีนจะพบว่าแทบจะเกิน 30% ทุกปี โดยปี 2017 อยู่ที่ 29.6%, ปี 2018 อยู่ที่ 39.6%, ปี 2019 อยู่ที่ 33.4% และ ปี 2020 อยู่ที่ 35.5%

ขณะที่ 5 บริษัทของจีนซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านการศึกษาออนไลน์ที่ได้รับเงินทุนมากที่สุดในปี 2020

1.Yuanfudao 1,544 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.Zuoyebang 1,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3.VIPKID 1,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4.DaDa 864 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
5.17zuoye 585 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การออกกฎมากำกับดูแลอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการศึกษาครั้งนี้ เป็นการเดินหน้าอย่างต่อเนื่องของภาครัฐบาลจีนในการเข้าควบคุมธุรกิจเทคโนโลยีมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีที่โดนทางการเข้าควบคุมไปแล้วไม่ว่าจะเป็น Ant Group เจ้าของ FinTech ยักษ์ใหญ่ Meituan Dianping แอปพลิเคชัน Food Delivery อันดับ 1 ในจีน Tencent Music แอปพลิเคชันฟังเพลงเบอร์ 1 ของจีน ถูกปรับเรื่องผูกขาดลิขสิทธิ์ธุรกิจเพลง และล่าสุด Didi Chuxing แอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่เบอร์ 1 ของจีน ที่เพิ่ง IPO ที่ตลาดหุ้น Nasdaq ก็โดนรัฐบาลจีนสั่งถอดแอปพลิเคชันออกจาก App Store และ Play Store ภายใต้ข้อหาความมั่นคงและปลอดภัยด้านข้อมูลสำคัญของจีน

ซึ่งประเด็นตามเนื้อข่าวทั่วไปบอกว่า ความกังวลที่ทำให้รัฐบาลจีนลงมาจัดการอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง เพราะต้องการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อปกป้องความไม่เท่าเทียม และทำให้แน่ใจว่าต้นทุนทางสังคมของพลเมืองจะไม่สูงจนเกินไป เพราะประเทศจีนในช่วงหลังประชาชนไม่ค่อยอยากจะมีลูกกันนัก เพราะสภาพเศรษฐกิจที่อะไร ๆ ก็แพงไปหมดนั้นเอง และหนึ่งในนั้นที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากก็คือการศึกษา

ว่ากันเด็กจีนในเมืองต่อคนมีค่าการศึกษาที่เป็นลักษณะกวดวิชาต่อเดือนสูงถึงเกือบ 50,000 บาท เนื่องจากคนจีนเป็นชาติที่เชื่อในเรื่องการศึกษา เพราะมีอะไรก็จัดเต็มให้ลูกแบบไม่อั้น (ขณะที่อีก 2 อย่างที่แพงมากสำหรับคนจีนก็คือ ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย) ซึ่งตรงนี้มันไปกระทบต่อนโยบายการอยากให้คนจีนมีลูกเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งถ้าทุกอย่างยังแพงขนาดนี้การมีลูกก็กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที และเมื่อไม่มีประชากรก็ไม่มีคนทำงาน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไป

แต่ทางสำนักข่าว Bloomberg มองว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่ทางปักกิ่งกังวลจริง ๆ เป็นลำดับต้น ๆ น่าจะเป็นเรื่องของการที่บริษัทจำนวนมากเหล่านี้สามารถเพิ่มทุนในต่างประเทศ และอยู่เหนือการเฝ้าระวังของพวกเขา โดยเฉพาะบริษัทที่มีรูปแบบโครงสร้างที่เรียกว่า Variable Interest Entity (VIE : เป็นโครงสร้างบริษัทแบบถูกกฎหมายที่นักลงทุนควบคุมผลประโยชน์ แม้ไม่มีสิทธิโหวตในเสียงส่วนใหญ่) ซึ่งมักจะถูกจัดการโดยพวกบริษัทยูนิคอร์นที่ร้อนแรง ซึ่งบ่อยครั้งจะไปรวมกลุ่มกันอยู่ในหมู่เกาะเคย์แมน (Cayman Islands) และบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้ก็จะทำการเพิ่มทุน และมีการลงรายการชื่อหลักทรัพย์ในต่างประเทศของพวกเขา และเงินเหล่านั้นก็จะถูกส่งเข้ามาสู่จีนเพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจต่อไป

จริง ๆ แล้วทางการจีนเคยพยายามจะลดเงินลงทุนในธุรกิจนี้ลงครั้งหนึ่งในช่วงปี 2018 แต่ทางกองทุน Venture Capital (การลงทุนแบบ VC เป็นลักษณะแบบกองทุน “ปิด”) ยังคงเทเงินใส่เข้ามาในธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะมันกำไรและมีการเติบโตสูงซึ่งก็อย่างที่เราได้เห็นกันไปจากตัวเลข นั้นทำให้บางครั้งทาง ปักกิ่ง รู้สึกว่าถูกปล้นโดยเงินร้อนจากต่างประเทศ

หรืออีกตัวอย่างที่ร้อนแรงสุด ๆ ก่อนหน้านี้อย่าง Didi Chuxing แอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ มีบริษัทในลักษณะ VIE (Variable Interest Entity) อยู่ที่หมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งนั้นทำให้พวกเขาใช้บริษัทนี้นำ Didi Chuxing เข้าจดทะเบียนในตลาดที่สหรัฐ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางการปักกิ่งก่อน และนั้นทำให้หน่วยงานด้านความมั่งคงทางไซเบอร์มีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านข้อมูล ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเปิดเผยสถานที่ที่ค่อนข้างอ่อนไหวในประเทศ

โดยคุณ Catherine Lim จาก Bloomberg Intelligence ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ธุรกิจนี้ในจีนจะมีปัญหาด้านดำเนินงานอย่างหนักไปอีกหลายปี และการลดต้นทุนก็ไม่สามารถช่วยพวกเขาได้ในระยะสั้นจากรายได้ที่ลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป้าหมายของภาครัฐที่นอกจากจะลดต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนลงแล้ว ยังต้องการลดภาระด้านการเรียนอันหนักของนักเรียนที่มากเกินไปในขณะนี้ลง” แต่สิ่งที่น่าสนใจบนกฎเกณฑ์ใหม่นี้มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นไปที่วิชาสำคัญ ๆ อย่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ขณะที่ที่ศิลปะ และดนตรี ไม่ถูกนับอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่นี้

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ที่มา : ฺBloomberg

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#ธุรกิจการศึกษา #เทคโนโลยีการศึกษา #การศึกษาจีน #อุตสาหกรรมจีน #Education #EdTech #เรียนออนไลน์ #ระบบการศึกษา #คุณภาพชีวิตคนจีน #businessplus