เทียบชั้น EDTECH ไทยกับตลาดโลกจะไปได้ไกลแค่ไหน?

เมื่อการศึกษารูปแบบดั้งเดิมไม่สามารถไปต่อได้ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ตลาด EdTech เติบโตขึ้น แต่ก็ยังเป็นที่ตั้งคำถามว่า EdTech ของไทยในปัจจุบันมีความสามารถเชิงแข่งขันแค่ไหนเมื่อเทียบกับประเทศที่ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงการใช้ EdTech จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยได้จริงหรือไม่ ?

เทคโนโลยีการศึกษา (Education Technology) มีมานานแล้วก่อนจะเกิดโควิด-19 แต่ก็เรียกได้ว่าการตื่นตัวที่จะพัฒนาต่อยอดก่อนหน้านี้มีไม่มากนัก เพราะบางส่วนยังมีการต่อต้านการศึกษารูปแบบใหม่ ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจว่าการศึกษาแบบใหม่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีกว่าการศึกษาแบบดั้งเดิมหรือไม่ หรือแม้กระทั่งปัญหาจากการขาดแคลนอุปกรณ์ที่สนับสนุนด้านเทคโนโลยีในหลาย ๆ ประเทศก็เป็นอีกข้อจำกัดที่ทำให้ตลาด EdTech ก่อนหน้านี้ยังไม่เป็นที่นิยม

จนกระทั่งโรคระบาดนี้เข้ามาทำให้ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคที่ยึดติดอยู่กับการเรียนแบบเก่าก็เหมือนถูกบังคับให้ต้องมาใช้เทคโนโลยีการศึกษา ส่วนผู้ใช้งานอย่างสถาบันการศึกษา หรือสถาบันกวดวิชา ก็ต้องหันมาพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ และเทคโนโลยีเพื่อการอยู่รอดมากขึ้น เพราะการเรียนการสอนก็ต้องดำเนินต่อไปไม่ว่าจะต้องเจอกับวิกฤตแบบไหนก็ตาม

สาเหตุดังกล่าวทำให้ตลาด EdTech เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยพบข้อมูลการวิเคราะห์จาก HolonIQ แพลตฟอร์มข้อมูลเทรนด์และงานวิจัยทางการศึกษาระดับโลก ว่าแรงผลักดันจากโควิด-19 จะทำให้ EdTech ทั่วโลกเติบโตเฉลี่ย 16.3% ต่อปี (ระหว่างปี 2562-2568)

ทีนี้เราจะมาวิเคราะห์ธุรกิจ EdTech ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้ อย่าง อินเดีย จีน และสหรัฐฯ โดยอาศัยข้อมูลจาก HolonIQ ระบุว่า EdTech ที่เติบโตมาจาก Start Up จนกลายมาเป็น Unicorn (ธุรกิจ Start Up ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30,000 ล้านบาท) ทั่วโลกมีทั้งหมด 25 ราย และใน 20 อันดับแรก เป็นบริษัทจากจีน 9 ราย สหรัฐฯ 8 ราย และอินเดีย 2 ราย และแคนาดาอีก 1 ราย

และเมื่อวิเคราะห์ในส่วนของ EdTech ที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นด้านพัฒนาทักษะอาชีพ เช่น การพัฒนาความสามารถของบุคลากรในองค์กรต่าง ๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาทางวิชาการของแต่ละอาชีพ ไปจนถึงระดับองค์กร ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ EdTech ด้านนี้ประสบความสำเร็จมาจากการที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการ Disruption ในตลาดแรงงานบางอาชีพ ดังนั้น บุคลากรจึงต้องพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นเพื่อที่จะไม่ให้ถูกทดแทนด้วย AI ในอนาคต

แต่อย่างไรก็ตาม Start Up ด้าน Edtech ที่มีมูลค่าบริษัทมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลก อย่าง Yuanfudao จากจีน , Byju’s จากอินเดีย และ Zuoyebang จากจีน ทั้ง 3 รายที่กล่าวมานี้เป็น EdTech ด้านสถาบันกวดวิชาออนไลน์ (ข้อมูลจาก HolonIQ)

ส่วนในประเทศไทย Start Up กลุ่ม EdTech ถึงแม้จะเริ่มมีหลายแพลตฟอร์มมากขึ้น แต่ขณะนี้ยังมีเพียงรายเดียวที่พัฒนาจนเข้าสู่การระดมทุนโดย Venture Capital (ผู้ร่วมลงทุน) ถึง Series A ซึ่งก็เป็น EdTech ด้านพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรเช่นเดียวกัน นั่นคือ Conicle ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและโซลูชันด้านการเรียนรู้สำหรับองค์กร แบบ Business to Business (B2B) ที่สามารถระดมทุนรอบ Series A ไปถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว 90 ล้านบาท)

ซึ่งก่อนหน้านี้ Conicle เคยเป็นแพลตฟอร์ม Online Academic Learning ที่เป็นศูนย์กลางการติวออนไลน์ ให้นักเรียนเข้าถึงคอร์สเรียนและความรู้จากติวเตอร์ แต่ยังไม่ได้รับความสนใจมากนักเนื่องจากจำนวนติวเตอร์ยังน้อย และขาดติวเตอร์ชั้นนำ

เมื่อมองย้อนกลับมาด้วยการพิจารณาการศึกษาในประเทศไทยจะพบว่าลักษณะของการเรียนนอกห้องเรียนส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการติวให้กับนักเรียน หรือนักศึกษาสำหรับการสอบ นั่นทำให้ EdTech ด้านการติวเข้มเป็นที่น่าจับตามอง และน่าจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทใหญ่ได้ในอนาคต แต่ต้องมีการพัฒนาคุณภาพของคอร์สการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานระดับสากล และดึงติวเตอร์แนวหน้าที่มีชื่อเสียงมาเข้าร่วมได้

ด้าน ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองว่า Start Up ด้าน EdTech ของไทยยังมีจำนวนผู้เล่นเชิงพาณิชย์ที่จำกัด และมีผู้เล่นเพียงรายเดียวที่สามารถพัฒนาจนเข้าสู่ระดับ Serie A แต่ตลาดธุรกิจ EdTech ในไทยได้มีการขยายตัวสอดคล้องไปกับเทรนด์ในระดับสากล
และผลสำรวจในช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่พบว่า 96% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะหันมาใช้งาน EdTech และการเรียนออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานประจำที่ต้องการพัฒนาความสามารถและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหัวข้อที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ การใช้งานคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ความรู้ด้านธุรกิจ ความรู้ด้านภาษา

ความท้าทายที่กำลังรออยู่ในอนาคต
แต่เมื่อว่ากันถึงเรื่องความท้าทายในอนาคตที่กำลังรอบริษัทด้าน EdTech ในประเทศไทยอยู่ก็มีอีก 2 ข้อหลักที่เป็นความเสี่ยงสูงสุด ต้องคอยระวัง คือ
1. การแข่งขันจากคอนเทนต์/แพลตฟอร์มต่างชาติ
สาเหตุเป็นเพราะราคาค่าใช้จ่ายต่อหลักสูตรของทั้งแพลตฟอร์มในประเทศและต่างประเทศอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่คอนเทนต์และใบประกาศของแพลตฟอร์มต่างชาตินั้นได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้บริษัทในไทยอาจเผชิญความท้าทายเรื่องความสามารถในการแข่งขัน

2. โอกาสสร้างรายได้จากกลุ่มเป้าหมายยังจำกัด
สาเหตุเป็นเพราะอัตราการเปลี่ยนจากผู้ทดลองใช้งาน (Trial User) หรือผู้ใช้งานฟรี มาเป็นผู้ใช้งานที่เสียค่าใช้จ่าย (Paid User) ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ลงทุน EdTech สร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจในประเทศได้จริง

ปิดท้ายกันด้วยข้อมูลเชิงสถิติ ในปี 2563 ข้อมูลจาก HolonIQ พบว่าประเทศที่มี Unicorn ด้าน EdTech มากที่สุด 3 อันดับแรกของโลก คือ จีน สหรัฐฯ และอินเดีย ได้ทุ่มการลงทุนไปเป็นจำนวนมาก ดูได้จากเม็ดเงินที่ Venture Capital ใช้ลงทุนใน Start Up ด้าน Edtech ของประเทศจีนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก (63% ของเม็ดเงิน Venture Capital ทั้งโลก) และสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 2 ของโลก (15%) และอินเดียเป็นอันดับที่ 3 ของโลก (14%)

สามารถนำมาพิจารณาบนทฤษฎี การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Solow Growth Model) ได้ว่าการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ โดยหากเรามองว่า EdTech เป็นการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน ส่วนเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคือรายได้ต่อหัวประชากร (GDP Per Capita) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในการวิเคราะห์ครั้งนี้เราจะเปรียบเทียบเฉพาะกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และลงทุน EdTech มากอย่างจีน และอินเดีย

โดยจีนถูกคาดการณ์ว่าจะมี GDP Per Capita ช่วงปี 2564 ถึง 2565 เติบโตสูงถึง 7.99% และอินเดีย ถูกคาดว่าจะเติบโตสูงถึง 7.60% (ข้อมูลจาก statista.com)
นำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒาเช่นกัน ขณะนี้ยังมีการลงทุนใน EdTech ไม่มาก และยังไม่มี Unicorn ด้าน EdTech ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะมี GDP Per Capita ช่วงปี 2564 ถึง 2565 เติบโตเพียง 6.60% ทำให้เห็นว่าการลงทุนใน EdTech ทำให้เกิดการเติบโตของรายได้ต่อหัวประชากรได้จริง (สอดคล้องกับทฤษฎี Solow Growth Model)

ดังนั้นเรามองว่า EdTech จะเข้ามาช่วยพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ขณะที่การควบคุมการเรียนการสอนให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกด้วย

การใช้ EdTech เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน รวมไปถึงเพื่อการพัฒนาทักษะบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีการควบคุมที่ดีให้ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะต้องอาศัยการสนับสนุนที่ดีจากกระทรวงการศึกษา และรัฐบาล ซึ่งอาจช่วยในแง่ของการลดหย่อนภาษี หรือการอุดหนุนในช่วงแรก เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมการศึกษาไทยมากขึ้น

รวมไปถึงความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกว่าตลาดแรงงานในอนาคตต้องการแรงงานแบบไหน ต้องมีทักษะอะไร และพยายามผลิตบุคลากรทางการศึกษาออกมาให้ตรงจุด ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะและการลดการว่างงานในอนาคตได้

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : HolonIQ ,statista

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #EDTECH #เทคโนโลยีการศึกษา