เตรียมเข้าสู่มาตรฐาน ‘ทองคำ’ ทองคำ หนุนหลัง รูเบิล จะเปลี่ยนชะตาระบบการเงินโลก

อาทิตย์นี้ ธนาคารกลางรัสเซียยังคงเดินหน้าซื้อทองคำเข้าสู่คลังอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือหน่วยงานกำกับดูแลได้ดำเนินการผูกราคาทองคำเข้ากับสกุลเงินรูเบิลที่ 5,000 รูเบิล (59 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อ 1 กรัม ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2022 นั้นเพิ่มความเป็นไปได้ในการที่รัสเซียจะมุ่งหน้าเข้าสู่ระบบการเงินบนมาตรฐานทองคำครั้งแรกในรอบ 100 ปี พร้อมกับการการประกาศขายสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมดเป็นสกุลเงินรูเบิลนี่จะเป็นผลกระทบที่ใหญ่มากสำหรับ สกุลเงินรูเบิล สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และระบบเศรษฐกิจโลก

โดยทาง RT ได้ปล่อยบทสัมภาษณ์ของคุณ Ronan Manly ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์แร่โลหะของทาง BullionStar ที่สิงคโปร์ ออกมาดังนี้

1. ทำไมการกำหนดราคาทองคำแบบคงที่กับรูเบิลถึงสำคัญ

การเสนอซื้อทองคำของธนาคารกลางรัสเซียแบบกำหนดราคาทองคำคงที่กับรูเบิลนั้นเท่ากับธนาคารกลางรัสเซียได้ดำเนินการสองอย่างไปพร้อม ๆ กันคือ หนึ่งทำให้เงินรูเบิลมีความเชื่อมโยงกับทองคำ (มาตรฐานทองคำแล้วรึเปล่า?) สองกำหนดราคาพื้นฐานขั้นต่ำสุดของรูเบิลเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (เนื่องทองคำทุกวันนี้ซื้อขายกันบนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก)

ความเชื่อมโยงเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมาเมื่อธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศราคาคงที่ของทองคำออกมาเป็นสกุลเงินรูเบิล (ถ้าใครจำกันได้หลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ที่รัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน หลังจากนั้นรัสเซียโดนประเทศตะวันตกแซงก์ชั่นอย่างหนักทางเศรษฐกิจการเงินและการลงทุนจนราคาสกุลเงินรูเบิลเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐร่วงลงไปที่ราว ๆ 130 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ ) หลังจากนั้นรูเบิลแข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดมาอยู่ที่ 83 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ (วันที่ 4 เมษายน 2022) คำถามคือเพราะอะไร คุณ Ronan Manly เผยว่า ตอนนี้ทองคำในตลาดซื้อขายนานาชาติราคาอยู่ที่ 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อกรัม ซึ่งจะเท่ากับ 80.5 รูเบิล (5,000/62) และตอนนี้ในหลาย ๆ ตลาด และนักซื้อขายในรูปแบบ Arbitrage Traders (คือการทำกำไรผ่านการซื้อและขายในต่างตลาดเวลาเดียวกัน) ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ และมันได้ขับดันให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง รูเบิลกับดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้น

เมื่อการกำหนดราคาทองคำเกิดขึ้นเท่ากับรูเบิลล็อกมูลค่าขั้นต่ำเรียบร้อยบนดอลลาร์สหรัฐ และถ้าลงรายละเอียดมากขึ้น 5,000 รูเบิลต่อกรัม คือ 155,550 รูเบิลต่อทรอยออนซ์ของทองคำ และพร้อมกับรูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐที่ 80 นั้นก็คือราคา 1,940 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ (ถ้าสังเกตราคาทองคำดี ๆ จะเห็นว่ามันไม่หลุด 1,940 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์เลยในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา) การเชื่อมโยงทองคำกับรูเบิลครั้งใหม่นี้จะทำให้ค่าเงินรูเบิลปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และตรงนี้ไปผลักดันราคาทองคำให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยเช่นกัน

2. มันมีความหมายอย่างไรต่อราคาทองคำ

รัสเซียคือผู้ส่งออกแก๊สรายใหญ่ของโลกและน้ำมันอันดับ 2 ของโลก สิ่งที่เรากำลังเห็นในตอนนี้คือประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน มีความต้องการให้จ่ายค่าแก๊สที่รัสเซียส่งให้เป็นสกุลเงินรูเบิล นี่คือการเชื่อมโยงราคาของแก๊สเข้ากับรูเบิล ซึ่งมีทองคำหนุนหลังอยู่อีกต่อหนึ่งแบบราคาคงที่ เช่นเดียวกับน้ำมันเมื่อไรที่รัสเซียเริ่มให้ชำระค่าน้ำมันเป็นรูเบิลเท่ากับจะเชื่อมน้ำมันเข้ากับทองคำในทางอ้อมทันที และเมื่อเป็นแบบนี้รัสเซียก็สามารถรับชำระค่าสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นทองคำได้เช่นกัน โดยรูปแบบนี้สามารถปรับใช้ได้กับทุกสินค้าโภคภัณฑ์

3. แล้วมันจะมีผลอย่างไรต่อราคาทองคำ

ภายใต้การดำเนินการสองด้านพร้อมกัน โดยการเชื่อมรูเบิลเข้ากับทองคำ และต่อจากนั้นก็เชื่อมพลังงานเข้ากับรูเบิลอีกต่อหนึ่ง ธนาคารกลางของรัสเซียและเครมลินจะปรับเปลี่ยนพื้นฐานการทำงานของระบบการซื้อขายทั่วโลกพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงแบบเร่งตัวในระบบการเงินโลก นี่คือกำแพงสำหรับผู้ซื้อในการค้นหา ‘ทองคำ’ เพื่อมาจ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ที่แท้จริงอื่น ๆ และนี่คือการโจมตีด้วยตอร์ปิโดลูกใหญ่ใส่ตลาดทองคำกระดาษอย่าง the LBMA และ COMEX

การกำหนดราคาแบบคงที่ระหว่างทองคำกับรูเบิลบนพื้นฐานอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง รูเบิลกับดอลลาร์สหรัฐ บนจุดที่คาดว่าต่ำสุดของราคาทองคำในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการเชื่อมโยงทองคำไปสู่การชำระค่าพลังงานคือเหตุการณ์หลักสำคัญ ขณะที่ความต้องการรูเบิลเพื่อขึ้นอย่างต่อเนื่องตรงนี้จะส่งผลให้เกิดการแข็งตัวในอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างรูเบิลกับดอลลาร์สหรัฐและมันจะไปสะท้อนออกที่ราคาทองคำที่สูงขึ้นตามมา พร้อมกับการเชื่อมโยงรูเบิลเข้ากับทองคำ ถ้ารัสเซียเริ่มรับการชำระค่าน้ำมันเป็นทองคำโดยตรงเมื่อไร มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับทองคำแบบที่เรียกว่า New Paradigm Shift และมันจะเป็นการเชื่อมราคาน้ำมันเข้ากับราคาทองคำโดยตรงทันที

ยกตัวอย่าง รัสเซียสามารถกำหนดแบบระบุลงไปได้เลยว่าทองคำ 1 กรัมต่อน้ำมัน 1 บาร์เรล แต่ความเป็นไปได้ของ 1 กรัมนั้นน้อย เพราะรัสเซียต้องเสนอราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดน้ำมันนานาชาติซึ่งก็อาจจะอยู่ที่ 1.2 กรัมต่อน้ำมัน 1 บาร์เรล สิ่งที่ตามมาคือผู้ซื้อก็จะต้องแย่งชิงกันหาทองคำมาจ่ายเพื่อจะเอาน้ำมันรัสเซีย ตรงนี้จะไปสร้างความตึงตัวให้กับตลาดทองคำกระดาษที่ไม่มีความสมส่วนระหว่าง ทองคำจริง กับ สัญญาอนุพันธ์ซื้อขายทองคำ

4. แล้วมันมีความหมายอย่างไรต่อรูเบิล

การเชื่อมโยงรูเบิลกับทองคำผ่านราคาคงที่ของธนาคารกลางรัสเซียที่วางอยู่บนพื้นฐานอัตราแลกเปลี่ยนรูเบิลกับดอลลาร์สหรัฐ ด้วยวิธีนี้จะสร้างความมั่นคงและแข็งแกร่งให้กับรูเบิล ความต้องการแก๊สธรรมชาติของรัสเซียพร้อมกับต้องจ่ายเป็นรูเบิล (คาดว่าสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ก็จะตามมาติด ๆ จากนี้) จะสร้างเสถียรภาพและสนับสนุน และถ้าการค้าหลัก ๆ ในระดับนานาชาติเริ่มยอมรับรูเบิลสำหรับใช้จ่ายค่าสินค้าโภคภัณฑ์แล้วละก็ นี่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการส่งสกุลเงินรูเบิลให้ก้าวขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักของโลกทันที และในเวลาเดียวกันการชำระค่าน้ำมันเป็นทองคำก็จะเป็นสาเหตุให้ทองคำของต่างชาติไหลเข้าสู่คลังสำรองของรัสเซีย ซึ่งจะทำให้งบดุลแข็งแกร่งและรูเบิลแข็งค่าต่อไป

5. มันมีความหมายต่อสกุลอื่น ๆ ทั่วโลกอย่างไร

ระบบการเงินโลกโดยภาพรวมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มตื่นตัว การแซงก์ชันรัสเซียของโลกตะวันตกผ่านการยึดทรัพย์สินที่เป็นทุนสำรองต่างประเทศของรัสเซียจำนวนครึ่งหนึ่งของ 630,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ก็มีความพยายามจะแซงก์ชันทองคำของรัสเซียไปด้วยแต่นั่นก็ทำได้เพียงบนตลาดกระดาษเท่านั้น ไม่มีทางที่ชาติตะวันตกจะสามารถไปยึดทองคำจริง ๆ ของรัสเซียได้ โดยทันทีที่รัสเซียเริ่มรับทองคำเป็นค่าน้ำมัน รัฐบาลที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกจะทำตามรัสเซียไปแบบติด ๆ เลยทีเดียว

ลองมองไปที่ชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันและแก๊สรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ พร้อมกับประเทศที่อยู่ในกลุ่ม BRICS และ Eurasian ก็จะเดินตามมาแบบทันที ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐจะถูกทิ้งแบบฉับพลันทันทีเช่นกัน เพราะทุกประเทศต่างต้องการให้สกุลเงินของประเทศตัวเองได้ประโยชน์เช่นกัน

6. มันมีความหมายต่อดอลลาร์สหรัฐอย่างไร

ตั้งแต่ 1971 เป็นต้นมา ดอลลาร์สหรัฐอยู่ในสถานะสกุลเงินสำรองหลักของโลกโดยมีน้ำมันของกลุ่ม OPEC หนุนหลังอีกทีหนึ่งจึงเป็นที่มาของ ‘เปโตรดอลลาร์’ พร้อมกับความสามารถของสหรัฐในการกีดกันคู่แข่งของดอลลาร์สหรัฐด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ตอนนี้พวกเรากำลังจะได้เห็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของระบบดอลลาร์สหรัฐที่ยืนยาวมาตลอดมากกว่า 50 ปี และนี่จะเป็นการตื่นขึ้นของทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะเข้ามาหนุนหลังระบบการเงินโลกที่จะเป็นแบบหลากหลายสกุลเงิน โดยมีสาเหตุมาจากการเข้าไปยึดทรัพย์สินที่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียเป็นตัวกระตุ้น ประเทศที่มีสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมากอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็น จีน หรือชาติที่ส่งออกน้ำมันทั้งหลายจะรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเดินหน้าเข้าสู่ระบบการเงินที่ยุติธรรมกว่านี้มากขึ้น และแน่นอนว่าดอลลาร์สหรัฐก็จะอ่อนตัวลงพร้อมอิทธิพลที่ลดลงตามไปด้วยในที่สุด

สรุป

การเชื่อมทองคำเข้ากับรูเบิลและการเชื่อมการชำระสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ กับรูเบิล จะเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่สื่อตะวันตกไม่เข้าใจ ขณะที่โดมิโน่ทยอยล้มลง เสียงของการเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ จะดังก้องไปในวิถีที่แตกต่างจากเดิม ภายใต้ความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้น มันจะทำลายตลาดทองคำกระดาษลงมา พร้อมกับการปรับเปลี่ยนราคาทองคำครั้งใหญ่ ซึ่งจะหนีออกจากดอลลาร์สหรัฐ และจะเกิดการซื้อขายแบบทวิภาคี (Bilateral Agreement คือ การตกลงทางการค้าระหว่างสองประเทศเพื่อให้ สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีนำเข้าระหว่างกัน โดยไม่ให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวกับประเทศอื่น) ขึ้นโดยไม่มีชาติตะวันตกเข้ามาเกี่ยวข้องภายใต้สกุลเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ ดอลลาร์สหรัฐ

แปลและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ข้อมูล : RT

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #มาตรฐานทองคำ #รูเบิลรัสเซีย #ทองคำ #GOLD #Goldstandard #ระบบการเงิน #commodities #สินค้าโภคภัณฑ์ #ดอลลาร์สหรัฐ