สรุป 5 ความเสี่ยงที่ประกันชีวิตต้องแบกรับ ภายใต้ COVID-19 และผลตอบแทนที่ผันผวน

นอกจากธุรกิจ ‘ประกันวินาศภัย’ ที่ประสบปัญหาจากการจ่ายเคลมกรมธรรม์ COVID-19 ประเภท “เจอ จ่าย จบ” จนมีหลายเจ้าโดนเขย่าอย่างรุนแรงจนต้องถอนตัวออกจากอุตสาหกรรมนี้ไปแล้ว ธุรกิจประกันชีวิตก็ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะธุรกิจประกันชีวิต จะได้รับผลกระทบสำหรับกรณีที่มีการขายสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการติดเชื้อ COVID-19

ถึงแม้ผลกระทบจากการเคลมสินไหมในสถานการณ์ COVID-19 ของภาพรวมบริษัทประกันชีวิตจะอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้เมื่อเทียบกับกรณีของบริษัทประกันวินาศภัย เนื่องจากการรับประกันสุขภาพมีเงื่อนไขการจ่ายสินไหมที่ชัดเจนภายในกรอบวงเงินประกันสุขภาพที่ซื้อไว้ ทำให้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่าน ๆ มายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

แต่ผลกระทบจาก COVID-19 คือ กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงจากปัญหาเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนที่ลดลง นอกจากนี้ยังมีกรมธรรม์ที่ครบกำหนดชำระเบี้ยแต่ยังมีความคุ้มครองจำนวนมาก ประกอบกับกฎระเบียบควบคุมบริษัทประกันชีวิตที่อาจจะเข้มงวดขึ้นภายในการระบาด COVID-19

ดังนั้น บริษัทรายใดที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินไม่เพียงพอก็จะเจอกับฝันร้ายจนไม่อาจแบกรับไหว ขณะที่สงครามนี้ยังไม่จบสิ้น เมื่อปัญหาเก่าอย่าง COVID-19 ยังคงอยู่ และมีปัญหาใหม่ ๆ ตามเข้ามา ดังนั้น ในปี 2565 จึงยังถือว่าเป็นอีกด่านที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมประกันที่จะต้องฝ่าไปให้ได้

หากทำการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่บริษัทประกันภัยจะต้องเจอในปี 2565 ก็สามารถสรุปออกมาได้ทั้งหมด 5 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

ความเสี่ยงเกี่ยวกับธุรกิจและการดำเนินงานของบริษัทประกัน

1. ผลกระทบของโรค COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างมีนัยสําคัญ เนื่องจากตัวเลขของการติดเชื้อปัจจุบันค่อนข้างสูง ซึ่งจะทำให้มีการเคลมประกันมากขึ้นและบริษัทเหล่านี้จะกระทบในแง่ของค่าสินไหมที่เพิ่มขึ้น

2. ความแข็งแกร่งทางด้านการเงินที่ด้อยลง ซึ่งความเสี่ยงข้อนี้เป็นผลพวงมาจากข้อที่ 1 หากผลประกอบการของบริษัทลดลงก็จะส่งผลต่อความแข็งแกร่งด้านการเงิน เช่น เงินสำรองตามกฎหมาย หรืออัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน และความแข็งแกร่งทางการเงินที่ลดลงยังนำไปสู่การถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น และการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้บริโภค

3. ความเสี่ยงจากข้อจำกัด หรือข้อกำหนดที่บริษัทประกันต้องทำตามนโยบาย หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อาจส่งผลให้ คปภ.ต้องเปลี่ยนแปลงขั้นตอน หรือข้อกำหนดต่าง ๆ สำหรับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต หรือแม้กระทั่งอาจมีข้อกำหนดสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคารเพิ่มมากขึ้น

4. อัตราผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนของบริษัทประกันอาจได้รับผลกระทบจากสภาวะตลาดอัตราดอกเบี้ย และตราสารต่าง ๆ ที่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งหากบริษัทประกันบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนได้ไม่ดีพอ หรือไม่มีการกระจายความเสี่ยงก็อาจจะประสบกับผลขาดทุนจากการลงทุน และส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ

5. ความผิดพลาดจากการประมาณการของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย อย่างเช่นในกรณี COVID-19 ถือเป็นเรื่องใหม่ และเป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกยังไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้น จึงไม่มีกรณีศึกษามากเพียงพอที่จะทำให้การกำหนดราคา หรือกำหนดเงินสำรองสำหรับผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทได้แม่นยำมากนัก และอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อธุรกิจ ฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งหมด 5 ข้อนี้เป็นความเสี่ยงที่บริษัทประกันภัยทุกเจ้าจะต้องเผชิญ และฟันฝ่าไปให้ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นอุปสรรคที่ค่อนข้างท้าทายแต่นักวิเคราะห์หลายสถาบันยังคาดการณ์ว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมประกันภัยจะปรับตัวดีขึ้น

โดย ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ได้คาดการณ์แนวโน้มเบี้ยรับรวมของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2565 ว่าจะได้รับปัจจัยบวกบางส่วนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สอดคล้องกับ ‘สภาพัฒน์’ ที่คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมนี้จะขยายตัวได้สูงถึง 3.5%-4.5% เทียบกับที่ขยายตัว 1.6% ในปี 2564

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังมองว่า ถึงแม้ภาพรวมจะมีการเติบโต แต่อุตสาหกรรมนี้ยังคงต้องติดตามการผลักดันกำลังซื้อกรมธรรม์ใหม่ว่าจะสามารถเร่งตัวได้สูงเพียงพอที่จะพยุงภาพรวมธุรกิจหรือไม่?

ขณะที่ยังต้องรับมือกับกติกาที่เข้มงวดขึ้นในปี 2565 และต้องติดตามว่า คปภ. จะบังคับใช้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากระดับ 120% เป็น 140% ในปีนี้ ตามแผนเดิมหรือไม่?

ดังนั้น บริษัทประกันจะต้องตระหนักถึงความแข็งแกร่งทางการเงิน และความสามารถในการขยายฐานผู้เอาประกัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทมีความมั่นคงเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : SET, สมาคมประกันชีวิต

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ประกันชีวิต #บริษัทประกันชีวิต #อุตสาหกรรมประกันชีวิต