เจาะวิถีโตของกลุ่มธุรกิจ TCP ในมือเจน 2 ยกระดับ “แบรนด์ไทย” ให้เป็น “แบรนด์โลก”

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หากพูดถึงแบรนด์ไทยในสังเวียนระดับโลก นับเป็นเรื่องยากมาก เพราะภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่อยู่ในโลกตะวันออก ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงมองว่าคุณภาพสู้ชาติตะวันตกไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ฝีมือและคุณภาพสินค้าไทยหลายแบรนด์นั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศเลย

แต่วันนี้ “กลุ่มธุรกิจ TCP” หรือ บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า การพ่วงท้ายด้วยสัญชาติไทยไม่ได้เป็นกำแพงในการผงาดสู่เวทีโลก จากแบรนด์น้องใหม่โนเนมกลายเป็นโกลบอลแบรนด์ที่ครองใจคนทั่วโลกไปแล้ว ปัจจุบันสินค้าของกลุ่มธุรกิจ TCP ถูกบรรจุอยู่ในกระป๋องกว่า 10,000 ล้านกระป๋อง ส่งออกไปจำหน่ายใน 170 ประเทศทั่วโลก โดยมี “เรดบูล” (Red Bull) เป็นสินค้าเรือธงครองเบอร์ 1 ของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

สำหรับในประเทศไทย กลุ่มธุรกิจ TCP จัดได้ว่าเป็นผู้แจ้งเกิดแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” และสร้างชื่อติดตลาดมาถึงปัจจุบัน คำถามคือ อะไรที่ทำให้ “กลุ่มธุรกิจ TCP” สามารถแจ้งเกิดในตลาดไทย ทั้งยังไปเติบโตอย่างมากในอีกหลายประเทศ ท่ามกลางสมรภูมิตลาดเครื่องดื่มที่กำลังแข่งขันดุเดือดและมีคู่แข่งระดับยักษ์ทั้งสิ้น

การพาสื่อมวลชนกว่า 30 ชีวิต เดินทางมาเยี่ยมชมสำนักงาน TCP Vietnam ที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดเครื่องดื่มที่สร้างรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม TCP ในครั้งนี้ จึงตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จในการสยายปีกสู่ตลาดต่างประเทศและแน่นอนว่าการไต่อันดับมาได้ขนาดนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

จุดเริ่มต้นสู่ความยิ่งใหญ่ระดับโลก

ก่อนจะนำพาธงชาติไทยโบกสะบัดบนสังเวียนเครื่องดื่มระดับโลกอย่างเต็มภาคภูมิในวันนี้ สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เล่าย้อนความให้ฟังว่า อาณาจักร TCP เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีก่อน โดยเริ่มต้นจากการสั่งยาจากต่างประเทศมาจำหน่ายของ “เฉลียว อยู่วิทยา” ที่มองเห็นโอกาสทางการตลาดในฐานะที่ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์

ต่อมาได้บังเกิดความคิดจะทำธุรกิจของตนเองขึ้น จึงก่อตั้งบริษัทขายยาเล็ก ๆ ในชื่อ หจก. ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล โดยเช่าตึกในซอยรามบุตรี ถนนข้าวสาร เป็นที่ตั้ง และคิดค้นสูตรยาให้โรงงานในประเทศเยอรมนีเป็นผู้ผลิต เช่น เอ็นโดทาลีน (แก้ท้องเสีย) และอลูแม็ก (แก้ปวดท้อง) เป็นต้น

จากนั้นไม่นานเฉลียวได้ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตยาที่ตรอกสาเก ในชื่อ บริษัท ที.ซี.มัยซิน อุตสาหกรรม จำกัด และได้พัฒนายาตัวใหม่ออกวางขายภายใต้ชื่อ “ทีซี มัยซิน” ทั้งยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ ยาแก้ฝีหนอง ยาหยอดหู ยาหยอดตา

พร้อมย้ายฐานการผลิตยาจากตรอกสาเก มาตั้งที่ถนนเอกชัย เขตบางบอน ทั้งยังเกิดแนวคิดขยายไลน์การผลิตจากยามาสู่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ โดยเริ่มจากสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางยี่ห้อ “แท็ตทู” ต่อด้วยการคิดค้นสูตรเครื่องดื่มชูกำลังในชื่อ “ทีโอเปล็กซ์-ดีไซรัพ” (100 CC) ก่อนจะไปยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในชื่อ “กระทิงแดง“ จนแบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมาและสร้างชื่อจนโด่งดังมาถึงปัจจุบัน

ก้าวสู่แบรนด์ระดับโลก

จากความสำเร็จของเครื่องดื่มกระทิงแดงในประเทศไทย ทำให้เจ้าพ่อชูกำลังเห็นโอกาสในการส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ในปี 2521 จึงตั้งบริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด เพื่อผลิตและส่งออกสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มส่งออกครั้งแรกไปยังประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ยี่ห้อ Red Bull

ตลาดส่งออกในยุคเริ่มแรกนั้นดำเนินไปได้ดีทีเดียว เฉลียวจึงได้จับมือนักธุรกิจชาวออสเตรีย ตั้งบริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช (Red Bull GmbH) ในประเทศออสเตรีย (เฉลียวและครอบครัวถือหุ้น 51% ดีทริช 49%) เพื่อขยายเครือข่ายส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ กระทั่งปัจจุบันได้ส่งออกไปจำหน่ายแล้วกว่า 70 ประเทศทั่วโลก

ควบคู่ไปกับการเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง ทั้งเครื่องดื่มเกลือแร่พร้อมดื่มภายใต้แบรนด์ “สปอนเซอร์” ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของประเทศไทยในยุคนั้น ที่ไม่ต้องนำเกลือแร่แบบซองมาผสมน้ำ พร้อมทั้งแตกไลน์สินค้าใหม่มาตลอด จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่จำหน่ายในไทยและทั่วโลกแบ่งเป็น 6 กลุ่ม รวม 8 แบรนด์

เริ่มจากกลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงาน ได้แก่ แบรนด์กระทิงแดง โสมพลัส เรดบูลเอ็กซ์ตร้า เรดดี้ และวอริเออร์, กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ ได้แก่ สปอนเซอร์, กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริ้งก์ ได้แก่ แมนซั่ม, กลุ่มชาพร้อมดื่มและน้ำผลไม้ ได้แก่ เพียวริคุ, กลุ่มผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวัน ได้แก่ ซันสแนค และกลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นรส ได้แก่หัวเชื้อผลิตเครื่องดื่มเรดบูลและกระทิงแดงที่มีจำหน่ายทั่วโลก

ถอดสูตรความสำเร็จในแบบฉบับ TCP

สิ่งที่ทำกลุ่มธุรกิจ TCP สามารถยืนหยัดบนเส้นทางการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มได้อย่างแข็งแกร่งมากว่า 60 ปี สราวุฒิ บอกว่า หัวใจสำคัญเริ่มต้นจาก คุณภาพสินค้า โดยสิ่งที่ TCP ทำมาตลอดคือ การรักษาระดับคุณภาพที่สูงมากกว่าการใช้กลยุทธ์ราคาและกระหน่ำด้วยโปรโมชัน เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวสะท้อนคุณค่าของแบรนด์ ทำให้แบรนด์เกิดความน่าเชื่อ จนกลายเป็น DNA อันเป็นจุดขายและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคไม่ว่าจะเข้าไปปักหมุดในประเทศใดก็ตาม

การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคอย่างแท้จริง เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและอยู่ยั่งยืนยง แม้จะสืบทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนาน แต่ก็ไม่ลืมปรับตัว ค้นหาวิธีการและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ทันกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

รวมถึง กลยุทธ์การตลาดแบบถึงลูกถึงคน ตลอดจนระบบจัดจำหน่ายสินค้าที่กระจายไปทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยที่ผลักดันการเติบโต ทั้งทางด้านยอดขายและการสร้างแบรนด์ของแต่ละผลิตภัณฑ์ของ TCP สำเร็จมาจนถึงวันนี้

ไม่ใช่แค่ “กระทิงแดง” แต่ต้องเป็นแบรนด์เครื่องดื่มระดับโลก

ปัจจุบันอาณาจักรธุรกิจ TCP อยู่ภายใต้การบริหารของทายาทเจเนอเรชันที่ 2 โดยมี สราวุฒิ อยู่วิทยา เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ประกอบด้วย 4 กลุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการมากขึ้น ส่วนของเรดบูล คอมปานี ลิมิเต็ดฯ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และอีก 20 บริษัทในเครือนั้นมี เฉลิม อยู่วิทยา เป็นแม่ทัพ

สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนของกลุ่มธุรกิจ TCP ในยุคต่อจากนี้ สราวุฒิ ได้วางเป้าหมายชัดเจนโดยต้องการจะสานต่ออาณาจักรเครื่องดื่มจากยุคคุณพ่อให้เติบใหญ่อย่างแข็งแกร่งทั้งในด้าน “ยอดขาย” และ “แบรนด์” ด้วยการเป็น House of Brand หรือบริษัทไทยที่ได้รับการยอมรับบนเวทีโลกให้ได้ พร้อมทั้งต้องการเพิ่มยอดขายเป็น 3 เท่าเพื่อทะยานสู่ 1 แสนล้านบาทภายในปี 2564 จากตัวเลขสิ้นปี 2560 ที่มียอดขาย 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับ Key Drive ที่จะนำพากลุ่มธุรกิจ TCP ก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ สราวุฒิ บอกว่า ส่วนแรกยังคงมาจากการขับเคลื่อนในกลุ่มสินค้าเดิมที่มีอยู่ในตลาด คิดเป็นสัดส่วน 80% ขณะที่อีก 20% ต้องพัฒนาสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น ทั้งการเสาะหา “ตลาดใหม่” และพัฒนา “ผลิตภัณฑ์ใหม่” โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ว่านี้ยังคงโฟกัสอยู่ในธุรกิจเครื่องดื่มและสแน็ก

“เราต้องขยายตลาดใหม่ที่มี Potential ให้กว้างขึ้น และค้นหา Need ของผู้บริโภค แต่ยังไม่มีใครไปแตะและเข้าตอบโจทย์ให้เร็ว”

สราวุฒิ ย้ำถึงความยาก แต่เป็นสิ่งที่เขาและทีมงานทุกคนต้องพุ่งชนและไปให้ถึง พร้อมกับยกตัวอย่าง ตลาดเวียดนามและเครื่องดื่มวอริเออร์ (WARRIOR) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนล่าสุดได้ตัดสินใจเปิดสำนักงานแห่งแรกในต่างประเทศ ในชื่อบริษัท TCPVN จำกัด ซึ่งกลุ่ม TCP ถือหุ้น 100% หลังเข้ามาในตลาด 30 ปี ผ่านโมเดลเทรดดิ้งมานาน

สิ่งสำคัญที่เลือกเปิดสำนักงานในเวียดนามครั้งนี้ สราวุฒิ บอกว่า เพราะต้องการจะเสริมศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยสิ่งนี้จะช่วยให้บริษัทรู้จักและเข้าใจผู้บริโภคที่มีความหลากหลายในประเทศเวียดนามได้ดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการ “เฉพาะตลาด” ได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ทั้งยังสามารถบริหารจัดการด้านการตลาดและการขายด้วยทีมงานมืออาชีพระดับโลก ตลอดจนบริหารจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมและสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

ซึ่งท้ายสุดแล้วจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มธุรกิจ TCP ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในเวทีระดับโลก ไม่ใช่แค่การขยายธุรกิจในต่างประเทศในแบบเดิม ๆ อีกต่อไป โดยวางเป้าหมายจะหาตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น

“การเลือกเปิดสำนักงานในต่างประเทศจะพิจารณาจากการไปตั้งแล้วสามารถให้ Benefit รวมถึงการให้บริการที่รวดเร็วกับประเทศนั้น ๆ ได้แค่ไหน โดยเฉพาะถ้าปริมาณการขายมาก และสภาพตลาดแข่งขันรุนแรงและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การตั้งสำนักงานย่อมเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ได้ดีกว่าการเทรดดิ้ง”

นอกจากการพัฒนาตลาดและสินค้าใหม่แล้ว สราวุฒิ ย้ำว่า การมีทีมงานที่เข้มแข็งและพร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ตลอดเวลา เป็นอีกคีย์ไดร์ฟสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจ TCP ไปถึงเป้าหมาย เพราะเขาเชื่อว่าภายใต้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปและการแข่งขันที่รุนแรง หากทีมงานมีความพร้อมจะสามารถเผชิญหน้าและรับมือได้ทุกสถานการณ์

“ถ้าองค์กรยังทำทุกอย่างเหมือนเดิม ก็จะได้เท่าเดิม แต่หากทำสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากเดิม จะช่วยให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าและเติบโตได้รวดเร็วขึ้น”

สราวุฒิ ย้ำ และทำให้ปัจจุบันกลุ่ม TCP ได้เริ่มเข้าไปร่วมลงทุนใน Startup เพื่อจะเสริมศักยภาพทีมงานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งเขาเชื่อว่าในช่วงแรกนี้จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรก้าวข้ามวิธีการทำงานเดิม ๆ ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ก่อนจะต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่มีโอกาสในอนาคต

“การทำธุรกิจยุคนี้ต่างจากสมัยอดีตมาก ทั้งการวางแผนและการทำตลาด แต่สิ่งน่ากลัวคือ โซเชียลมีเดียเข้ามาทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเร็วมากจนเราไม่รู้ มารู้ตัวอีกที ไปถึงไหนแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญเราต้องถามตัวเองตลอดว่าเข้าใจผู้บริโภคจริงหรือเปล่า และต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนตลอดเวลาให้ได้”

หัวเรือใหญ่แห่งกลุ่ม TCP บอกทิ้งท้ายถึงความท้าทายของเจน 2 ที่ต้องเข้าใจผู้บริโภคให้มากขึ้น พร้อมหมุนตัวเองให้เร็วเพื่อนำพาแบรนด์ไทยก้าวสู่เวทีระดับโลกให้ได้ต่อไป