เงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาเดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา พุ่งสูงที่สุดในรอบ 41 ปี

ตอนนี้แรงกดดันของเงินเฟ้อเดินหน้าอย่างต่อเนื่องสำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสาเหตุมาจากการพิมพ์เงินออกมาอย่างหนักหน่วงนับตั้งแต่วิกฤตการณ์เงินในปี 2008 พร้อมการกดดอกเบี้ยต่ำเกือบ 0% มาอย่างยาวนาน แม้จะมีการทยอยปรับขึ้นมา แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ล่าสุดอย่างโรคระบาดก็ทำให้ทางสหรัฐกลับไปหานโยบายผ่อนคลายอีกครั้งทั้งพิมพ์เงินและกดดอกเบี้ยต่ำอีกรอบ

โดยในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาพวกเขาพิมพ์เงินเพื่อหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลาย ผสานไปกับมาตรการทางการคลังที่แจกเงินให้กับคนว่างงานจนไม่อยากทำงาน นั้นทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานมีปัญหาเพราะขาดคนทำงานอย่างหนัก พร้อมกับการแซงก์ชั่นรัสเซียจนราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งทำสถิติ ซึ่งราคาพลังงานถือเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจยิ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวหนักเข้าไปอีก จนประชาชนชาวอเมริกันและชาวยุโรปเริ่มจะใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นและในที่สุดจะรับเอาไว้ไม่ไหวกับต้นทุนชีวิตที่พุ่งขึ้นไม่หยุด

ขณะที่เพดานหนี้ในฝั่งของด้านการคลังก็วิ่งชนเพดานจนอาจเรียกได้ว่าหนี้สินประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ทะลุเพดานไปแล้ว เพราะตอนนี้ประเทศสหรัฐมีหนี้สินรวมทั้งประเทศมากกว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อันนี้เฉพาะในบัญชี ถ้านับดอลลาร์สหรัฐนอกบัญชีด้วยคาดว่าตัวเลขอาจจะมากกว่า 250 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

และแม้เงินเฟ้อจะพุ่งมากขนาดไหนทางธนาคารกลางของสหรัฐกับดูไม่ค่อยอยากจะควบคุมมันนัก เพราะช่องว่างของดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อช่างห่างไกลกันเสียเหลือเกินในขณะนี้ แต่ก็นั้นแหละถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยแรง ๆ เมื่อไร คำถามที่น่าสนใจคือกลุ่มประเทศ บริษัท และประชาชนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจะรับมืออย่างไรกับเหตุการณ์นี้

ถ้าสมมุติดอกเบี้ยของสหรัฐปรับขึ้นไปที่ 5% (โดยปกติดอกเบี้ยควรสูงกว่าเงินเฟ้อนะ) นั้นเท่ากับว่า ดอกเบี้ยของเงิน 30,000,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (อ่านว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) คือ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และถ้าไปดูการประเมินตัวเลข GDP ของสหรัฐจากทาง U.S. Bureau of Economic Analysis (BEA) พบว่าจะโตประมาณ 4% (1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตรงนี้หมายความว่า รายได้ไม่พอจ่ายดอกเบี้ยแล้วใช่รึเปล่า?!!

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เงินเฟ้อสหรัฐ #เศรษฐกิจสหรัฐ #วิกฤตการณ์เงิน